10 สัตว์ที่ทำงานหนักที่สุดในโลก

 

 

 

 

10 สัตว์ที่ทำงานหนักที่สุดในโลก

บางครั้งที่เรามองไปที่สัตว์โลกชนิดต่าง ๆ แล้วก็มักจะคิดว่า เกิดเป็นตัวพรรค์นั้นมันดีจังเลยน้า ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องคิด ไม่ต้องเครียดเรื่องอะไรมากมาย แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วเหล่าสัตว์โลกก็มีงานของมันเหมือนกัน แถมสัตว์บางชนิดก็ทำงานหนักกว่ามนุษย์หลายเท่า และบางชนิดก็ถึงขั้นทำงานตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยหยุดหย่อนเลยก็มี เรามาดูกันว่าสัตว์ที่ต้องทำงานหนักที่สุดในโลกมีอะไรกันบ้าง
 
อันดับที่ 10 ปลาคาราซินสะบัดหาง (Characin Fish)
 
 
อยู่แถบลุ่มน้ำอะเมซอน พวกมันไม่วางไข่ในน้ำ เพราะมีสัตว์อื่นคอยจะกินไข่ของมันอยู่มากมาย มันจึงกระโดดขึ้นไปวางไข่ตามใบไม้เหนือผิวน้ำ โดยปลาตัวผู้และตัวเมียจะกระโดดขึ้นไปพร้อมกัน เอาตัวไปแปะที่ใบไม้ โดยตัวผู้จะผสมพันธุ์และตัวเมียก็จะวางไข่บนใบไม้ ทำอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ จนมีไข่ประมาณ 50 ฟอง จากนั้นตัวผู้จะต้องคอยวิดน้ำขึ้นไปที่ไข่ซึ่งอยู่บนใบไม้ เพื่อไม่ให้ไข่แห้ง เพราะถ้าไข่แห้งลูกปลาก็จะตาย มันต้องสะบัดหางเพื่อวิดน้ำนาทีละ 1 ครั้ง กว่าไข่จะโตเต็มที่ตัวผู้ก็ได้สะบัดหางไปมากกว่า 6,000 ครั้ง ซึ่งก็ประมาณ 4 วัน ติดต่อกันโดยไม่ได้หยุดพัก

 

อันดับที่ 9 เพนกวินจักรพรรดิ (Emperor Penguin)
 
 
อยู่แอนตาร์กติก ตัวผู้ต้องเฝ้าไข่บนอุ้งเท้าอย่างทะนุถนอมเป็นเวลาอย่างน้อย 7 สัปดาห์ มันต้องระมัดระวังเป็นอย่างดี เพราะถ้าหากไข่ร่วงลงบนพื้นน้ำแข็ง ไข่จะเย็นจนแข็งภายใน 2 นาที และลูกของมันก็จะตาย เพนกวินจักรพรรดิจึงถือว่าเป็นสัตว์ที่ต้องทำงานในสภาพที่โหดร้ายที่สุดในโลก มันต้องอยู่โดยไม่ต้องกินอาหารตลอดสามเดือน รอตัวเมียกลับมาที่ฝูง ทำให้มันเสียน้ำหนักตัวไปถึง 45%
 
อันดับที่ 8 นกบาวเวอร์ หรือ นกสร้างซุ้ม (Bower Bird)
 
 
อยู่ในป่าร้อนชื้นของออสเตรเลีย มันใช้เวลา 6 เดือนในช่วงกลางวันสร้างซุ้มจากฟาง ซึ่งซุ้มที่ว่านี้ไม่ใช่รัง แต่เป็นเหมือนบ้านของชายโสดที่มันภาคภูมิใจและวุ่นวายสร้างสรรค์เป็นอย่างดี เพราะมันจะใช้ซุ้มที่สร้างจากฟางนี้ดึงดูดความสนใจจากเพศเมีย พวกมันเป็นศิลปินโดยธรรมชาติ ซุ้มของมันจะถูกตกแต่งอย่างดี ทั้งใหญ่ และคงทน วัสดุที่นำมาใช้ก็ไม่ใช่แค่ฟาง แต่เป็นอะไรก็ตามที่มันชอบ นกบาวเวอร์แต่ละสายพันธุ์ก็มีความชอบในสีสันที่แตกต่างกันออกไป และบางสายพันธุ์ก็รู้จักระบายสีซุ้มของมันด้วยวัสดุธรรมชาติ ถ้าซุ้มของมันน่าสนใจพอ ในเวลา 6 เดือน มันอาจมีโอกาสผสมพันธุ์กับเพศเมียถึง 50 ตัว แต่มันก็เหมือนคนบ้างานที่ไม่มีเวลาสร้างครอบครัว เพราะตัวเมียจะต้องสร้างรัง และเลี้ยงลูกเองตามลำพัง
 
อันดับที่ 7 สุนัขล่าเนื้อแอฟริกา (African Hunting Dog)
 
 
พวกมันเคลื่อนที่และเดินทางตลอดเวลาเพื่อหาเหยื่อ ไม่เคยอยู่ที่ไหนนานเกิน 1 วัน มันทำงานเป็นทีม และผลัดกันล่า พวกมันวิ่งด้วยความเร็วเกือบ 2 เท่าของมนุษย์ได้เป็นเวลานานครั้งละเป็นชั่วโมง การล่าของพวกมันประสบผลสำเร็จประมาณ 60% (ซึ่งมากกว่าสิงโตที่การล่าแต่ละครั้งมีโอกาสสำเร็จเพียง 30%) มันจึงถือเป็นนักล่าที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก ตัวเมียออกลูกได้ถึงคอกละ 20 ตัว แน่นอนว่าผู้เป็นแม่ของมันคงหาเลี้ยงไม่ไหว พวกลูกสุนัขจึงมีวิธีการหากินโดยการไล่เลียปากของสุนัขล่าเนื้อผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้มันอาเจียนอาหารออกมา
 
อันดับที่ 6 สิงโตเพศเมีย (Female Lion)
 
 
ไม่เพียงแต่ต้องล่าเหยื่อ แต่มันต้องเลี้ยงดูลูก ๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นงานที่หนักเพราะลูกสิงโตต้องกินอาหารถึงวันละ 15 มื้อ มันต้องวุ่นวายอยู่กับการล่าเพราะปริมาณน้ำนมของมันขึ้นอยู่กับจำนวนเหยื่อที่มันจับได้ด้วย พวกสิงโตสาว ๆ จึงชอบทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะล้มเหยื่อตัวใหญ่ ๆ ให้ได้ แต่เหยื่อยิ่งตัวใหญ่ ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูง แต่ถ้าเกิดเหตุร้ายกับแม่สิงโตตัวใด ลูกกำพร้าก็จะถูกนำไปเลี้ยงโดยพี่น้องของแม่ของมัน ส่วนสิงโตตัวผู้มีหน้าที่แค่เดินตรวจตราดูแลรอบ ๆ อาณาบริเวณเพื่อให้มั่นใจว่าลูก ๆ ของมันจะปลอดภัยจากสัตว์ล่าเนื้อตัวอื่น ๆ
 
อันดับที่ 5 บีเวอร์ (Beaver)
 
 
หนูตัวใหญ่และทำงานหนักที่สุดในอเมริกา พวกมันล้มต้นไม้ลงโดยเฉลี่ยปีละ 216 ต้น เพียงครอบครัวเดียวก็ตัดซุงได้มากกว่า 1 ตันต่อปี มันสามารถเปลี่ยนธารน้ำให้กลายเป็นบึงภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์ พวกมันจะสร้างเขื่อนที่ยาวและแข็งแรง โดยปกติเขื่อนของมันจะยาวประมาณ 150 ฟุต แต่เขื่อนที่ยาวที่สุดที่ถูกบันทึกไว้อยู่ที่อเมริกาเหนือ ยาวมากกว่า 1,000 ฟุต บีเวอร์ทำงานหนักตลอดเวลา ถึงแม้จะสร้างเขื่อนเสร็จแล้วมันก็ยังต้องคอยซ่อมแซมเสมอ เขื่อนของบีเวอร์ช่วยป้องกันมันจากสัตว์กินเนื้อตัวใหญ่ ๆ เช่น หมี และ เสือภูเขา เพราะมันจะสร้างกระท่อมอยู่กลางน้ำ เป็นกระท่อมที่มีทางเข้าออกอยู่ใต้น้ำ มันทำงานและสะสมอาหารตลอดฤดูใบไม้ร่วง พวกมันจึงไม่ต้องจำศีล เพราะในกระท่อมของมันมีอาหารสะสมอยู่มากมายเพียงพอสำหรับฤดูหนาว
 
อันดับที่ 4 นกเมกะโป (Megapo Bird : แปลว่า นกเท้าใหญ่)
 
 
อยู่ในป่าเขตร้อนของทวีปออสเตรเลียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มันทำงาน 11 เดือนในหนึ่งปี พวกตัวผู้ใช้กรงเล็บคุ้ยเนินดินขนาดใหญ่ ขนย้ายดินหนักกว่า 100 ปอนด์ทุกวัน เพื่อสร้างรังใต้ความร้อนของพื้น พวกมันต้องการอุณภูมิที่พอเหมาะสำหรับฟักไข่ พวกมันใช้จงอยปากในการวัดอุณหภูมิ ให้อุณหภูมิอยู่ราว 91 องศาฟาเรนไฮ ถ้ากองดินร้อนเกินไปมันจะเอาดินออกเพื่อระบายลม แต่ถ้าเย็นเกินไปพวกมันจะฝังไข่ลึกลงไปอีก กองดินของพวกมันวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้มากกว่า 50 ฟุต และหนักมากกว่า 50 ตัน หลังจาก 49 วันใต้ดิน ลูกนกก็จะหาทางขึ้นมาเหนือกองดินเอง พวกมันพร้อมที่จะดูแลตัวเอง และพ่อนกไม่ต้องห่วงเรื่องการดูแลลูก ๆ แต่เมกะโปก็ยังคงต้องรักษาเนินดินไว้เพื่อความพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ในฤดูหน้าด้วย
 
อันดับที่ 3 ปลาแรสส์ (The Cleaner Wrasse)
 
 
อยู่ตามแนวหินโสโครกทั่วโลก เป็นนักทำความสะอาด รับทำความสะอาดทั่วตัวปลาอื่น ๆ มันทำงานเฉพาะตอนกลางวัน แต่ทำทุกวัน ทำทั้งปี ไม่มีวันหยุด มันไม่ได้ทำงานฟรี เพราะมันกินสัตว์เล็ก ๆ น่ารำคาญบนปลาตัวอื่น ในแต่ละวันเจ้านักทำความสะอาดแรสส์จะได้กินปรสิตมากกว่าพันตัว ถือเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้แต่ปลาที่ดุร้ายก็ไม่กินปลาแรสส์ เพราะต้องการทำความสะอาดตัวเอง มันแทบไม่เคยถูกปลาที่มาใช้บริการกินเลย แต่ถ้ามันรู้สึกถึงอันตราย มันก็จะสั่นครีบหางเพื่อเตือนว่า “ชั้นมาทำความสะอาดให้นะ” แต่เมื่อพระอาทิตย์ตก พวกมันก็จะเลิกทำงานและเข้านอน
 
อันดับที่ 2 มดตัดใบไม้ (Leaf Cutting Ant)
 
 
มันใช้เวลาทุกชั่วโมงของทุกวันผลิตอาหาร พวกมันแบ่งงานกันทำ มดงานที่มีจำนวนมากที่สุดมีหน้าที่เก็บใบไม้ โดยการกัดและตัดใบไม้แล้วขนกลับรัง พวกมันสามารถทำให้ต้นไม้ใบโกร๋นได้ภายในชั่วข้ามคืนเลยทีเดียว แต่พวกมันกินใบไม้พวกนั้นทันทีไม่ได้ เพราะระบบย่อยอาหารของมันย่อยใยอาหารจากพืชไม่ได้ มันต้องส่งต่อไปทำการแปรรูปก่อน โดยมดอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามดงาน พวกมันจะเคี้ยวใบไม้ผสมกับน้ำลายและมูลของมด จากนั้นจะถูกเก็บรวบรวมโดยมดชาวสวนซึ่งคอยดูแลอาหารเหล่านั้น ไม่นานจะมีเชื้อราขึ้นมาบนใบไม้ที่เคี้ยวแล้ว และราก็คืออาหารของมดทั้งอาณาจักร สุดท้ายมดที่ตัวเล็กที่สุด เรียกมดผู้ดูแล จะเก็บเกี่ยวเชื้อราที่ได้ไปแจกจ่ายทั่วอาณาจักรมด ถึงพวกมันจะดูเหมือนทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่จากการศึกษาก็พบว่าพวกมันยังมีการผลัดเวรบ้าง มันก็เลยได้อยู่ในอันดับที่ 2
 
อันดับที่ 1 ผึ้ง (Bee)
 
 
มันทำงานตั้งแต่นาทีแรกที่เกิดมา และทำงานทั้งวันทั้งคืน ทำงานตลอดเวลา ทำงานตลอดชีวิตจนกว่ามันจะตาย แม้แต่ผึ้งนางพญาที่ดูเหมือนจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีก็ยังต้องทำงานตลอดเวลา นั่นคือการวางไข่ทุก ๆ นาที ซึ่งเป็นไข่มากกว่าปีละ 200,000 ฟอง มันจะทำอย่างนั้นอยู่ประมาณ 5 ปีก่อนที่มันจะตาย และผึ้งงานที่ออกจากไข่มาก็เริ่มงานของมันทันทีโดยการทำความสะอาดรอบ ๆ รวงผึ้ง จากนั้น 2-3 วัน ผึ้งงานจะผลิตไขจากตอนล่างของส่วนท้องเพื่อใช้สร้างหรือซ่อมแซมรัง อีกระยะหลังจากนั้นมันจะต้องเฝ้ารัง ป้องกันศัตรู และผลิตน้ำผึ้ง สุดท้ายเมื่ออายุราว 3 สัปดาห์ ผึ้งงานจะต้องบินออกไปหาน้ำหวาน มันต้องทำงานทุกอย่างภายใน 35 วัน ก่อนที่มันจะตาย และพวกมันไม่มีวันเกษียรอายุ ในการทำน้ำผึ้ง 1 ปอนด์ ผึ้งจะต้องไปแวะที่ดอกไม้มากกว่า 2 ล้านดอก เมื่อรวมระยะทางเข้าด้วยกัน ผึ้งได้บินไปกลับมากกว่า 10 ล้านเที่ยว เป็นระยะทางมากกว่า 5 หมื่นไมค์ เท่ากับระยะทางรอบโลก 2 รอบ เลยทีเดียว
 
Credit: http://board.postjung.com/699124.html
18 ส.ค. 56 เวลา 17:24 2,147 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...