เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) ได้หารือร่วมกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่ง ส.อ.ท.ได้ให้ข้อมูลความต้องการแรงงานใน 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ช่วง 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2556-2560) ประกอบด้วยกลุ่มพลาสติก เครื่องนุ่งห่ม กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเครื่องปรับอากาศ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มเซรามิก และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ว่า ในปีนี้มีจำนวนแรงงานใน 14 กลุ่มดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 3,399,922 คน แต่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 681,836 คน ในจำนวนนี้เป็นความต้องการของแรงงานที่จบไม่เกิน ม.6 จำนวน 395,772 คน หรือ ร้อยละ 11.64 รองลงมาคือ ระดับ ปวช./ปวส. 199,395 คน คิดเป็นร้อยละ 5.86 และระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 86,669 คน คิดเป็นร้อยละ 2.55
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เมื่อแยกเป็นรายสาขา พบว่า ระดับอาชีวศึกษา สาขาที่เป็นความต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ช่างกลโรงงาน 50% ช่างเชื่อม 20% และสาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ แมคคาทรอนิกส์ และแม่พิมพ์ สาขาละ 10% ส่วนระดับอุดมศึกษา สาขาที่เป็นความต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ วิศวกรรม 70% การตลาด และคอมพิวเตอร์ 20% บัญชีการเงิน กฎหมายและธุรการทั่วไป 10% ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจำเป็นที่ผู้ผลิตกำลังคนของภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ต้องมาวางแผนทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งควรทบทวนกฎระเบียบกติกาต่างๆ ให้ผ่อนคลายลง เพื่อเอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานใน 5 ปีข้างหน้าให้ได้มากที่สุด
“ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ด้านการจัดทำหลักสูตร การฝึกอบรมและพัฒนา จากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและต่างประเทศ ให้มาร่วมกันกำหนดหลักสูตร คุณลักษณะ สมรรถนะหลัก และมาตรฐานฝีมือของแรงงานที่ต้องการในสาขาต่างๆ รวมถึงสร้างเครือข่าย เพื่อให้บริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมทำงานด้วยกันมากขึ้น จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการจะจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Workshop เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเน้นให้สังคมตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการเรียนสายอาชีพในอนาคต ที่จบแล้วมีงาน มีรายได้สูง โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาและผู้ปกครอง ซึ่งจะส่งผลต่อสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานได้”นายจาตุรนต์กล่าว