พระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

 

พระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

กษัตริย์วังหน้า  พระเจ้าแผ่นดินสยาม พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 วันพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือ พระราชกุมารพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 3 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระองค์พระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม คลองบางกอกใหญ่ พระองค์มีพระเชษฐาร่วมพระราชมารดา รวมทั้งสิ้น 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าชาย (สิ้นพระชนม์เมื่อประสูติ) สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี

ภายหลังพระองค์ประสูติได้ประมาณ 1 เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตเป็นผลให้สมเด็จพระราชบิดาของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองคใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงสด็จกลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม พร้อมกับพระราชมารดา ส่วนสมเด็จพระเชษฐาของพระองค์นั้นทรงสมณเพศประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุและวัดสมอราย เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 21 พรรษา ผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จไปประทับ ณ วัดระฆังโฆษิตาราม หลังจากลาผนวชพระองค์จึงเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกาลต่อมา) จึงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่เจ้าฟ้ามงกุฎตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย

เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

“พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์ มหิศเรศรังสรรค์ มหันตรวรเดชโชไชย มโหฬารคุณอดุลย สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทร สูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวร มหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตนไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทรโรดมกิจโกศล สัตปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชยอุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”

รัชกาลที่4 เป็นผู้เชี่ยวชาญในโหราศาสตร์อย่างมาก และเชื่อในโหราศาสตร์อย่างมากเช่นกัน เมื่อผูกดวงชะตาแล้วพบว่า พระปิ่นเกล้ามีดวงชะตาแรงมาก ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าท่านขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เองแต่ผู้เดียว ก็เท่ากับไปฝืนชะตา จึงต้องหาทางแก้เคล็ดด้วยการยกท่านขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ คู่กัน

นับย้อนไปในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี สืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์นั้น พระเจ้าแผ่นดินมักจะทรงสถาปนาให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ที่เกิดจากพระอัครมเหสี เป็นพระมหาอุปราช ซึ่งจะทรงดำรงตำแหน่งเป็น พระเจ้าแผ่นดินต่อจากพระองค์ แต่บางรัชกาลก็ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่มีความชอบต่อแผ่นดินขึ้นเป็น พระมหาอุปราช (เรียกในราชการว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า) และตามหลักฐานเท่าที่มีปรากฏใน พระราชพงศาวดารของไทยเรา การที่พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งพระอนุชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง นั้น มีเฉพาะ สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถเท่านั้น

ก่อนที่จะมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอไว้ในตำแหน่งพระมหาอุปราช และให้มีพระราชอิสริยยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดินนั้น (The Second King) มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญเป็นเพราะพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้านของพระมหาอุปราชพระองค์นี้ที่ได้เป็นกำลังสำคัญของชาติ ตั้งแต่เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ โดยเฉพาะพวกฝรั่งชาวตะวันตก และพร้อมกับเป็นพระกำลังที่สำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ทรงเข้าร่วมการเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาเบาริง ซึ่งเป็นสนธิสัญญา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังกับราชทูตประเทศอังกฤษ พระเกียรติยศชื่อเสียง ในด้านความรอบรู้ของใต้ฝ่าละอองธุลี พระบาทในภาษา หลายภาษา และในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นสูงหลายวิชา ซึ่งทรงรอบรู้ผิดไปจากคนในหมู่ชาติตะวันออกมาก ซึ่งก็ได้แพร่สะพัดถึงสหรัฐอเมริกา ด้วยทรงทราบชื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทุกคนด้วย

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถ่อมพระองค์อย่างยิ่ง มิได้เคยยกพระองค์เทียบพระเชษฐา เพราะทรงทราบดีว่าเหตุใดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระองค์ท่านขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ดำรงพระอิสริยยศเสมอกัน จึงพอพระทัยที่จะดำรงพระองค์เป็นรอง มีประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การที่มิได้ทรงตั้งผู้ใดเป็นพระมเหสี ด้วยมิปรารถนาจะสืบทอดให้พระราชโอรสได้เป็นระดับชั้นเจ้าฟ้า

ที่มา : ชมรมประวัติศาสตร์สยาม

Credit: http://update.in.th/2073
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...