โศกนาฏกรรมตำนานรัก ‘เจ้าชายสยาม’ กับ ‘เจ้าหญิงล้านนา’

 

 

 

 

 

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม กับเจ้าชมชื่น ณ เชียงใหม่

 

ขึ้นชื่อว่า ‘ความรัก’ ภาพที่หลายคนนึกถึงอาจจะแตกต่างกันไป บ้างคนนึกถึงรอยยิ้ม บ้างก็นึกถึงความสุข แต่มีอีกไม่น้อยที่นึกถึงคราบน้ำตา และความโศกเศร้า เพราะสุดท้ายต้องพบพานกับความผิดหวัง
       
       อย่างเรื่องราวความรักของชายสูงศักดิ์ ผู้มีตำแหน่งเป็นถึงพระเจ้าลูกยาเธอ หลายคนอาจจะนึกว่า คงสามารถใช้บรรดาศักดิ์ที่มีเอาชนะต่อปัญหาต่างๆ ได้ไม่ยาก แต่สำหรับเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปได้ กลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อคู่ที่พวกพระองค์คิดจะครองด้วยนั้นเป็นเจ้าหญิงล้านนา
       
       กรณีแรกนั้นเกิดขึ้นในปี 2443 เป็นเรื่องราวของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นที่ 4 พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ซึ่งขณะดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กับเจ้าข่ายแก้ว ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าทักษิณนิเกตน์ หนานมหายศ
       
       โดยระหว่างนั้น กรมขุนพิทยลาภฯ ได้รับพระบัญชาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ มณฑลพายัพ พร้อมกับนำกำลังทัพจำนวน 400 นายให้ขึ้นไปรักษาความสงบที่เชียงใหม่ และปราบปรามขบถพญาผาบ ซึ่งเกิดขึ้นจากราษฎรกลุ่มหนึ่งไม่พอใจราชสำนักเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีหมากแดง
       
       และระหว่างนั้น พระองค์ได้มีโอกาสได้ยลโฉมเจ้าข่ายแก้ว ซึ่งเป็นพระธิดาของเสนาบดีกรมวัง ในพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ ซึ่งเป็นที่เลื่องลือในเรื่องความงามยิ่งนัก แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปสู่ขอ เพราะยำเกรงในบารมีของเจ้าทักษิณนิเกตน์ฯ
       
       แต่เนื่องจากพระองค์เป็นเจ้านายผู้สูงศักดิ์ จึงไม่หวั่นเกรงเรื่องดังกล่าว จึงได้ทำการสู่ขอเจ้าข่ายแก้วมาเป็นพระชายา โดยมิได้แจ้งให้ฝั่งพระนครทราบเรื่อง ทว่าครั้งเมื่อเสร็จภารกิจ จึงทำหนังสือขอพระบรมราชานุญาตเสกสมรส แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับ เพราะความจริงแล้ว ก็ทรงมีพระชายาอยู่แล้วท่านหนึ่งคือ หม่อมเอม ธิดาหลวงวรศักดาพิศาล และมีพระโอรสธิดาด้วยกันแล้วหลายพระองค์
       
       ด้วยเหตุนี้ พอจะกลับพระนคร จึงตัดสินใจเลิกรากับเจ้าข่ายแก้ว และปล่อยให้เป็นแม่ร้าง (แม่หม้ายที่เลิกกับสามี) อยู่เชียงใหม่ต่อไป โดยไม่ได้เสกสมรสอีก เช่นเดียวกับกรมขุนพิทยลาภฯ ที่นอกจากหม่อมเอมแล้วก็ไม่ใครหลังจากนั้นอีก
       
       อีกเรื่องราวที่อาจจะดูกว่ารัดทนกว่าคู่แรกยิ่งนัก เป็นเรื่องผู้มีศักดิ์เป็นพระนัดดาของกรมขุนพิทยลาภฯ นั่นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นที่ 5 พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม กับเจ้าชมชื่น ณ เชียงใหม่ พระธิดาองค์โตของเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าหญิงคำย่น
       
       โดยเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2446 เมื่อกรมหมื่นพิไชยฯ เสด็จกลับจากการศึกษาที่อังกฤษ ก็ได้ขึ้นไปเที่ยวที่เชียงใหม่ พระยานริศราชกิจ ข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำมณฑลพายัพจึงได้จับงานรับเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอย่างสมพระเกียรติ โดยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 ให้เกียรติมาเป็นองค์ประธานรับเสร็จ พร้อมทั้งเชิญกรมหมื่นพิไชยฯ ให้ประทับในคุ้มหลวงและเสวยพระกระยาหารแบบขันโตก มีการแสดงละครแบบชาวเหนือแท้ๆ ด้วย ซึ่งในงานนี้เจ้าหลวงได้เชิญพระประยูรญาติมาร่วมงานมากมาย รวมไปถึงเจ้าราชสัมพันธวงศ์ ซึ่งเดินทางมาพร้อมครอบครัว
       
       ว่ากันว่า ความงามของเจ้าหญิงวัย 16 พรรษานั้นช่างสิริโฉมยิ่งหนัก ผิวพรรณผุดผ่อง แก้มสีชมพู ผิวขาวนวล แถมมีสุ้มเสียงอันไพเราะ เพียงแค่นี้ก็เอาเจ้าชายหนุ่มวัย 21 ถึงกลับตกตะลึงกันเลยทีเดียว
       
       จากการพบกันครั้งนั้นทั้งสองได้มีโอกาสพบกันอีกหลายครั้ง โดยเจ้าชายได้เสด็จเยือนไปที่คุ้มของเจ้าหญิงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดกรมหมื่นพิไชยฯ ก็ได้ติดต่อให้พระยานริศราชกิจ มาเป็นเถ้าแก่สู่ของเจ้าหญิงฝ่ายเหนือให้มาเป็นหม่อมในพระองค์
       
       แต่ทว่าการเจรจาครั้งนี้กลับผิดหวัง เมื่อพระบิดาของเจ้าหญิงเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งกรมขุนพิทยลาภฯ จึงได้ตั้งเงื่อนไขไว้ 2 ประการก็คือ ต้องรอให้เจ้าหญิงอายุครบ 18 ปีเสียก่อน และตามธรรมเนียมประเพณีของกรุงรัตนโกสินทร์ หากพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใดจะทำการอภิเษกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพื่อได้รับเป็นสะใภ้หลวงได้รับยศและตำแหน่งตามฐานะ เพราะฉะนั้นหากถวายเจ้าหญิงในขณะนี้ก็จะตกอยู่ในสถานภาพภรรยาน้อยเพียงเท่านั้น
       
       จากความเสียใจที่การสู่ขอไม่ประสบความสำเร็จ กรมหมื่นพิไชยฯ จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อขอพระบรมราชานุญาต แต่ทว่ากลับถูกคนรอบข้างทัดทานอย่างหนัก ด้วยเหตุผลนานานัปการ ก่อนที่จะอภิเษกสมรสกับ ม.จ.วรรณวิลัย กฤดากร ในอีกไม่นานนัก
       
       ส่วนทางฝั่งลำพูนทราบข่าวว่าเจ้าชายทรงสมรสเป็นเรียบร้อย จึงให้เจ้าหญิงอภิเษกกับพระญาติจากเมืองลำพูน นามว่า เจ้าน้อยสิงห์คำ ณ ลำพูน จนมีโอรสได้ 1 องค์
       
       อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งคู่จะถูกแยกจากกันด้วยการสมรส แต่ทว่าความถวิลหาก็ยังมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยว่ากันว่า กรมหมื่นพิชัยฯ ขณะที่ดำเนินเกวียนไปตรวจราชการที่ภาคอีสาน ได้ทรงนิพนธ์บทเพลงขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า ‘ลาวดำเนินเกวียน’ ซึ่งมีเนื้อหาเพรียกหาคนรัก โดยนำไปเปรียบเทียบกับดวงจันทร์ และมีเนื้อหาเช่นนี้อยู่เต็มเพลง หลายจึงเรียกเพลงนี้ว่า ‘ลาวดวงเดือน’ และเมื่อทรงระลึกถึงความรักเก่าขึ้นมาคราใด ก็จะทรงดนตรีเพลงนี้อยู่เสมอและให้มหาดเล็กเล่นให้ฟังอยู่ร่ำไป
       
       ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องเล่าอีกด้วยว่า จากความผิดหวังครั้งนี้ ทำให้พระองค์ทรงมุมานะกับราชกิจของบ้านเมืองอย่างหนัก จนกระทั่งพระวรกายไม่สมบูรณ์ และประชวรด้วยพระวักกะเรื้อรัง และสิ้นพระชนม์ในปี 2452 ขณะพระชนมายุได้เพียง 28 พรรษา
       
       ส่วนเจ้าหญิงหลังรับทราบข่าว ก็ตรอมใจอย่างหนัก และถึงแก่อนิจกรรมลงหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ปี ปิดฉากตำนานรักของเจ้าชายสยามและเจ้าหญิงล้านนาอย่างสมบูรณ์แบบ
       
       จากเรื่องราวความรักของเจ้านายไทยและล้านนาทั้ง 2 คู่ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายตรงก็ทรงศักดิ์ทั้งคู่ ทำไมเมื่อคิดจะครองคู่กัน กลับมีอุปสรรคและจบลงด้วยการพลัดพรากเช่นนี้

กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา

นเรนทร์ ปัญญาภู นักจดหมายเหตุอิสระ ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนามาอย่างยาวนาน อธิบายว่า จริงๆ เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยอังกฤษกำลังแผ่อิทธิพลมายังทวีปเอเชีย เพราะเดิมแคว้นล้านนานั้นถือเป็นรัฐกันชนกับระหว่างสยามกับพม่า แต่มาตอนหลังอังกฤษสามารถยึดพม่าได้ และเตรียมจะเข้ามาครอบครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ ส่งให้รัชกาลที่ 5 จำเป็นจะต้องปฏิรูประบบราชการใหม่หมด และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากหัวเมืองชั้นนอก ชั้นนอก และประเทศราช มาเป็นอำเภอ จังหวัด และมณฑล
       
       ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านั้น สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษได้ทูลขอเจ้าดารารัศมี พระธิดาองค์เล็กของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม ซึ่งหมายถึงว่ามีโอกาสสูงมากที่อาณาจักรล้านนาไทยจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รัชกาลที่ 5 จึงทรงแก้เกมด้วยการส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (ตำแหน่งในขณะนั้น) ไปถวายของหมั้นแล้วรับตัวลงมาในพระบรมราชวัง มีฐานะเป็นพระสนมเอก
       
       อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า ระหว่างนั้นความสัมพันธ์ระหว่างทางเหนือกับทางตะวันตกนั้นมีอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการส่งออกทรัพยากร โดยเฉพาะป่าไม้ ซึ่งแทบจะไม่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ เลย ขณะที่วัฒนธรรมตะวันตกก็เริ่มเข้ามาเต็มไปหมด ทั้งการมีฟุตบอลคลับ แบดมินตันคลับ กอล์ฟคลับ ฯลฯ เพราะฉะนั้นจึงจะมีข่าวลือเกิดขึ้นอยู่เสมอว่า เจ้าทางฝ่ายเหนือจะคิดจะแยกตัวจากสยาม แล้วนำมาสู่ความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน
       
       “บางองค์ที่ถูกส่งเข้ามาปกครองฝ่ายเหนือก็ถูกทำให้เชื่อว่า กลุ่มทางเหนือพยายามเอาใจออกห่าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งผ่านไปยังพวกเจ้าฝ่ายใน แล้วสร้างความเกลียดชังขึ้นมา เช่น เป็นชาติที่ไม่มีอารยธรรม หรือเป็นเจ้าที่ศักดิ์ต่ำกว่า ทั้งที่ความจริงแล้ว วิทยาการของฝ่ายเหนือเองก็ไม่ได้ด้อยกว่าสยาม”
       
       ประกอบกับการเข้ามาในกรุงเทพฯ ของเจ้าดาราฯ นี้เอง ก็ทำให้ฝ่ายในในราชสำนักจำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่พอใจ หรือหมั่นไส้ เพราะทางหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับเจ้าดาราฯ มากเป็นพิเศษ ถึงขั้นยกให้เป็นพระมเหสีในตำแหน่ง พระราชชายาเจ้าดารารัศมี หรือแม้แต่การสร้างตำหนักให้ต่างหาก
       
       ยิ่งกว่านั้น ทางเจ้าดาราฯ เองก็มีความพยายามจะขยายอิทธิพลของพระองค์เองในราชสำนัก ไม่ว่าจะเป็นการนำคนของตัวเองเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังเป็นจำนวนมาก พร้อมกับนำวัฒนธรรมของฝ่ายเหนือ เข้ามาเผยแพร่ไม่ว่าจะเป็นการไว้ผมยาว ซึ่งถือต่างกับประเพณีไทย ก็ยิ่งสร้างความเกลียดชังเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งหมดให้เกิดขึ้นกับคนที่รู้สึกหมั่นไส้เป็นทุนเดิม
       
       “ผมเชื่อว่าความเกลียดชังนั้นเกิดจากการที่ รัชกาลที่ 5 ทรงเลือกจะปกป้องเจ้าดาราฯ ซึ่งตรงนี้นำไปสู่การให้ร้ายมากมาย เช่น การบอกว่ามีการใช้เสน่ห์มนต์ดำ หรือเครื่องแต่งกายที่เจ้าดาราฯ นำผ้าซิ่นซึ่งใส่สบายกว่าไปเผยแพร่ ซึ่งหลายคนก็ยอมรับว่าเป็นแฟชั่นใหม่ แต่ฝ่ายในบางคนโดยเฉพาะพวกเจ้าจอมเก่าๆ ไม่ยอมก็ยังนุ่งผ้าโจมอกอยู่ ทั้งหมดนี้ ผมเชื่อมีส่วนสำคัญที่ทำให้หลายๆ คน โดยเฉพาะบรรดาแม่ๆ ที่ไม่ยอมรับหากบุตรหลานของตัวเองจะไปมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเจ้าฝ่ายเหนือ” 

 
กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี

       
       ขณะที่เจ้านายสยามที่มีความสัมพันธ์กับเจ้านายฝ่ายเหนือ ก็มักจะมีเชื้อสายมาจากฝั่งนั้นอยู่แล้ว เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นที่ 5 พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ซึ่งทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าศิริมา ณ เชียงใหม่ เพราะพระมารดาของพระองค์ คือเจ้าทิพเกษร ณ เชียงใหม่ นั้นเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือมาก่อนที่จะถวายตัวแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
       
       อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าความรักของเจ้าชายสยามและเจ้าหญิงล้านนาจะสิ้นหวังไปเสียทุกคู่ เพราะหลายๆ คู่ที่สามารถหลุดรอดจากอคติและได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ก็มีไม่น้อย เช่น ในกรณีของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นที่ 5 พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ที่ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระนัดดาของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์
       
       โดยบุคคลที่น่าจะมีบทบาทในเรื่องนี้สูงสุด ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นที่ 4 พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่พยายามจะเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายสยามและเจ้านายฝ่ายเหนือให้กลับมาใกล้ชิดกัน และนำไปสู่การแต่งงานระหว่างกันอีกหลายคู่
       
       “กรมพระยาดำรงฯ ท่านใช้หลักการไปมาหาสู่ การไว้เนื้อเชื่อใจ ตามเอกสารหลายๆ ฉบับ เห็นชัดเลยว่าพระองค์ทรงมีลักษณะของความให้การเคารพและให้เกียรติ ซึ่งทางฝ่ายเหนือให้เกียรติด้วยการให้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในการสนับสนุนเวลามีงานอะไรต่างๆ บ้าง เช่น งานแต่งงานของฝ่ายเหนือบางองค์ กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงไปเป็นประธานก็มี”
       ............
       
       ถึงตอนนี้ ตำนานรักดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่อดีต ซึ่งไม่สามารถหวนคืนกลับมาได้อีกแล้ว แต่ในมุมหนึ่งก็คงไม่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวเหล่านี้คือภาพสะท้อนที่ดีของสังคมไทยว่าเป็นเช่นใด ทั้งในแง่มุมประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนา รวมไปถึงความรู้สึกของผู้คน ที่ถึงจะทำเช่นใด ก็ไม่มีทางพ้นบ่วงของ รัก โลภ โกรธ หลงไปได้


Credit: http://board.postjung.com/699110.html
16 ส.ค. 56 เวลา 22:22 3,290 100
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...