คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในช่วงการชุมนุมและการสลายการชุมนุม ในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ความหนา 92 หน้า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคม
เมื่อ กสม.ระบุว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ "อยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อํานาจไว้"
"อันมีเหตุความจําเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว"
กรณีทหารยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิต 21 ราย ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็ระบุว่า
"(เจ้าหน้าที่ทหาร) มีความจําเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้"
กรณีที่มีผู้เสียชีวิตราว 60 รวมทั้งผู้ตายด้วยกระสุนจากปืนติดลำกล้อง กสม.ระบุว่า
"ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ใดฝ่ายใดเป็นผู้ยิงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บดังกล่าว และกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุมคือใคร"
แต่ "เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธด้วย รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการเยียวยาช่วยเหลือ"
และขณะที่กล่าวว่าการเสียชีวิตของทหารในวันที่ 10 เมษายน เกิดจาก "การวางแผนเพื่อฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทหาร" เป็นการ "กระทําผิดอาญาฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน"
แต่เมื่อพูดถึงประชาชนผู้เสียชีวิตในวันเดียวกัน กสม.กลับระบุว่าเป็นเพียง
"การกระทําโดยประมาท(ของเจ้าหน้าที่)"
รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการละเมิดต่อทรัพย์สินและสถา
ขณะที่ให้ความสำคัญกับการละเมิดต่อชีวิต อันละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงที่สุดน้อยมาก
แม้แต่กรณีการเสียชีวิตของประชาชน 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ที่ศาลระบุว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร กสม. ก็ยังระบุว่าเกิดการยิงต่อสู้กับ "ชายชุดดำ"
ซึ่งศาลยืนยันจากพยานหลักฐานแล้วว่าไม่มีอยู่จริง
ไม่แปลกที่รายงานฉบับนี้จะถูก "ถล่ม" จากรอบทิศ
พวงทอง ภวัคร์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ติดตามเก็บข้อมูลการสลายการชุมนุม 2553 มากที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย ระบุว่า
กสม.กำลังจะบอกว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มีความชอบธรรมที่จะประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสลายผู้ชุมนุม แม้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน
และไม่ได้ให้ความสำคัญกรณีรัฐบาลใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุต่อประชาชน
เพราะไม่ได้ระบุว่ารัฐบาลได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 1 หมื่นคน กระสุนจริงใช้ไปกว่า 1 แสน 2 หมื่นนัด ใช้กระสุนของปืนสไนเปอร์กว่า 2 พันนัด
"นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในรายงาน"
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์วิชารัฐศาสตร์ ที่ปัจจุบันสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น สรุปใจความของรายงานฉบับนี้แบบสั้นๆ เนื้อๆ ว่า
"ไม่ใช่สิทธิมนุษยชนที่เธอ (อมรา พงศาพิชญ์-ประธาน กสม.) ปกป้อง
"แต่เป็นผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเธอเอง"
เพราะเมื่อนำเนื้อหาในรายงานดังกล่าวมาเทียบเคียงกับแถลงการณ์ของ กสม. เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ออกสู่สาธารณะในเวลาใกล้เคียงกัน
จะเห็น "ท่าที-น้ำเสียง" ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
และต้องไม่ลืมด้วยว่า เมื่อ 2 ปีก่อน ก็เคยมีรายงานสรุปสถานการณ์การสลายการชุมนุม 2553 ของ กสม. โผล่แพลมต่อสาธารณชนมาครั้งหนึ่ง และถูกวิพากษ์จนกระเจิง
ถึงขั้นที่ต้องอ้างว่าเป็นการรวบรวมและความเห็นของนายชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม. ไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการมาแล้ว
ยิ่งเมื่อเทียบกับ "ความห่วงใย" ที่ กสม.มีต่อการเสียชีวิตของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร
เทียบกับความห่วงใยต่อ 99 ศพ และกว่า 2,000 ชีวิตที่บาดเจ็บแล้ว
ยิ่งไม่ควรแปลกใจ ว่าทำไมเสียงเรียกร้องให้ กสม.ชุดปัจจุบันทั้งคณะลาออกจากตำแหน่งจึงดังระงม
เพื่อปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชน
และรักษาศักดิ์ศรีของ กสม. ในฐานะองค์กรเอาไว้