วันที่ 14 ส.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยพ.ต.ท.ศันสนะ แก้วทับทิม รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 แถลงผลจับกุมนายวชิระ พูลเพิ่ม อายุ 34 ปี และนางพิมลพรรณ พูลเพิ่ม อายุ 32 ปี สามีภรรยา ในข้อหาร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงประชาชน มูลค่าความเสียหาย 100 ล้านบาท โดยจับกุมได้ภายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขารัตนาธิเบศร์
พ.ต.ท.ศันสนะกล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากดีเอสไอรับหนังสือร้องทุกข์จากผู้เสียหายรวม 12 คน โดยขอให้สืบสวนสอบสวนนางพิมลพรรณและนายวชิระ ที่หลอกลวงให้ร่วมลงทุนประกอบธุรกิจร้านหนังสือชื่อ "รักการอ่าน" ที่ห้างเซ็นทรัล สาขาพระราม 2 ร้านจำหน่ายแผ่นซีดี ที่ห้างเซ็นทรัล สาขารัตนาธิเบศร์ ร้านคาร์แคร์ และลงทุนซื้อขายที่ดินในจ.เพชรบุรี และจ.สุพรรณบุรี ในลักษณะเก็งกำไร โดยที่ผู้เสียหายรอรับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตรา ร้อยละ 10 ของเงินลงทุนต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งได้รับการติดต่อให้ร่วมลงทุนช่วงเดือนก.พ.2553 - พ.ค.2556
พ.ต.ท.ศันสนะกล่าวอีกว่า ต่อมาผู้เสียหายทั้งหมดได้หลงเชื่อและมอบเงินให้นางพิมลพรรณและนายวชิระกู้ยืมไป ซึ่งตอนนั้นยังรับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ตกลงไว้ตลอด จนกระทั่งวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา นางพิมลพรรณได้แจ้งว่าจะขอปิดกิจการที่ลงทุนทุกอย่าง เนื่องจากถูกผู้อื่นฉ้อโกง และขอให้ผู้เสียหายแจ้งจำนวนเงินที่ลงทุนไปในวันที่ 1 มิ.ย. กลุ่มผู้เสียหายจึงขอเงินที่ลงทุนคืน แต่นางพิมลพรรณไม่มีเงินจ่ายให้และเลื่อนนัดหมายเรื่อยมา โดยอ้างว่าถูกฉ้อโกงไปหมดแล้ว และไม่ให้รายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น
"จนถึงวันที่ 11 มิ.ย. นางพิมลพรรณ ก็หายตัวไป เมื่อผู้เสียหายตรวจสอบร้านหนังสือที่ห้างเซ็นทรัล สาขาพระราม 2 ปรากฏว่าได้ปิดกิจการตั้งแต่เดือน ม.ค.2556 แต่นางพิมลพรรณและนายวชิระกลับยังชักชวนให้ร่วมลงทุนต่อเนื่องจนถึงเดือนพ.ค.2556 ทำให้กลุ่มผู้เสียหายเชื่อว่าน่าจะถูก นางพิมลพรรณและนายวชิระหลอกลวงให้ ร่วมลงทุนในกิจการต่างๆ เป็นเหตุให้สูญทรัพย์สินไปมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท" พ.ต.ท.ศันสนะกล่าว
พ.ต.ท.ศันสนะกล่าวต่อว่า หลังสืบสวนเป็นที่แน่ชัด อธิบดีดีเอสไอจึงมอบหมายให้สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่า นางพิมลพรรณและนายวชิระ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับร้านหนังสือที่ห้างเซ็นทรัล สาขาพระราม 2 เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีกิจการอื่นๆ เช่น ร้านจำหน่ายแผ่นซีดี ร้านคาร์แคร์ หรือการลงทุนซื้อขายที่ดิน โดยกิจการร้านหนังสือเป็นเพียงแผงหนังสือที่ขายขาดทุนมาตลอด ทำให้ เห็นว่านางพิมลพรรณและนายวชิระมีเจตนาหลอกลวงเอาเงินจากกลุ่มผู้เสียหาย จึงติดตามควบคุมตัวมาดำเนินคดี
พ.ต.ท.ศันสนะกล่าวเพิ่มเติมว่า จากคำให้การของนางพิมลพรรณและนายวชิระ แม้จะให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ชักชวนกลุ่มผู้เสียหายให้มาลงทุน แต่เป็นการให้เงินมาปล่อยกู้ โดยนางพิมลพรรณนำเงินไปให้ปล่อยกู้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งขัดกับผู้เสียหายทุกรายที่ยืนยันว่านางพิมลพรรณและนายวชิระเป็นผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุนในกิจการต่างๆ
รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 กล่าวอีกว่า จากการสอบปากคำนางพิมลพรรณยังอ้างว่า ตั้งแต่กลางปี 2554 ไม่ได้นำเงินของกลุ่มผู้เสียหายไปปล่อยกู้ แต่นำเงินมาจ่ายหมุนเวียนระหว่างผู้เสียหายด้วยกันในลักษณะต่อเนื่องกันคล้ายแชร์ลูกโซ่ ดังนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนางพิมลพรรณ และนายวชิระ เป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จึงดำเนินคดีตามกฎหมาย