เมื่อปี 2002 อัลเฟรโด โมเซอร์ ได้ช่วยให้ชาวโลกมีแสงสว่างใช้โดยที่แทบไม่ต้องเสียเงิน หลังเขาเกิดไอเดียในการสร้างแสงสว่างให้แก่บ้านของเขาในช่วงกลางวันที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวใช้เพียงของเหลือใช้ในบ้านเพียงไม่กี่อย่าง นั่นคือ ขวดน้ำพลาสติกใส น้ำ และน้ำยาซักผ้าขาว
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งประดิษฐ์ของเขาได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ทั่วโลก และคาดว่าในช่วงปีหน้า จะมีการนำไปใช้ในกว่า 1 ล้านครัวเรือนทั่วโลก
โมเซอร์อธิบายว่า เขาเติมน้ำยาซักผ้าขาวลงไปในน้ำ 2 ฝา เพื่อให้เกิดการหักเหของแสงอาทิตย์ และช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเกิดตะไคร่ และยิ่งเป็นขวดน้ำที่สะอาด ก็จะยิ่งสว่างมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเจาะช่องเพดานให้เป็นโพรงพอที่จะสอดขวดขึ้นจากด่านล่างได้ และกันขอบและช่องว่างด้วยซิลิโคน เพื่อไม่ให้น้ำรั่วในช่วงฝนตก
เขากล่าวว่า เคยมีวิศวกรมาวัดความสว่างของแสง ที่สามารถวัดได้เทียบเท่ากับหลอดไฟ 40-60 วัตต์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความแรงของแสงอาทิตย์เป็นหลัก
ส่วนไอเดียการคิดค้นวิธีนี้ เกิดจากในช่วงที่บราซิลเกิดภาวะไฟดับบ่อยครั้งในปี 2002 และที่เดียวที่มีไฟฟ้าสำรองใช้คือตามโรงงานอุตสาหกรรม โดยอ้างถึงเมืองอูเบราบา เมืองบ้านเกิดทางภาคใต้ของบราซิล
โมเซอร์และเพื่อนของเขาเริ่มสงสัยว่าหากไฟดับแล้วจะมีการประกาศเตือนภัยในภาวะฉุกเฉินเช่นเหตุเครื่องบินเล็กตกได้อย่างไร และจินตนาการถึงสถานการณ์ที่ไม่มีแม้กระทั่งไม้ขีดใช้ เจ้านายของเขาในขณะนั้นเสนอว่า ให้หาขวดน้ำที่ไม่ใช้แล้วและมาเติมน้ำ เพื่อให้ทำหน้าที่เหมือนเป็นเลนส์ที่เป็นจุดรวมแสงอาทิตย์บนหญ้าแห้ง เพื่อให้เกิดไฟลุก เพื่อเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ แนวคิดดังกล่าวติดอยู่ในหัวของเขา และทำให้เขาเริ่มทดลองกับขวดด้วยวิธีการต่างๆนานา กระทั่งกลายเป็นหลอดไฟประยุกต์ ที่เขากล่าวว่าไม่เคยผ่านการวาดรูปออกแบบใดๆ
โมเซอร์คิดว่าแสงสว่างดังกล่าวเป็นแสงศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานมาให้แก่ทุกคน ใครที่ได้มันไปใช้ก็จะไม่ต้องเสียเงินค่าไฟ ไม่ต้องเสี่ยงถูกไฟช็อต และแทบไม่ต้องใช้เงินในการประดิษฐ์ จากนั้นเขาก็เริ่มติดตั้งหลอดไฟขวดน้ำตามบ้านของเพื่อนบ้านและซูเปอร์มาร์เก็ตในท้องถิ่น
แม้เขาจะได้เงินค่าจ้างเล็กน้อยในการติดตั้งมาบ้างแต่สิ่งประดิษฐ์นี้ก็ไม่ได้ทำให้เขามีฐานะมั่งคั่งขึ้นแต่อย่างใดเขายังคงอาศัยในบ้านหลังเดิมและรถยนต์รุ่นปี 1974 ที่ยังคงใช้อยู่ แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เขาได้รับคือความภาคภูมิใจ
คาร์เมลินดา ภรรยาของโมเซอร์ ที่อยู่กินกันมากว่า 35 ปี กล่าวว่า สามีของเธอเป็นคนช่างประดิษฐ์ มักนำสิ่งของเหลือใช้ในบ้านมาประดิษฐ์ข้างของต่างๆ ที่รวมถึงเตียงนอนและโต๊ะ
สิ่งประดิษฐ์ของเขายังถูกนำไปประยุกต์ใช้ไกลข้ามทวีปถึงประเทศฟิลิปปินส์โดยนายอิลแลคแองเจโลดิอาซ ผู้อำนวยการของมูลนิธิ"มายเชลเตอร์" ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างแบบทางเลือก โดยสร้างบ้านที่ใช้สิ่งของรีไซเคิลและเหลือใช้ อาทิ ไม้ไผ่ ยางรถยนต์ และกระดาษ และเริ่มนำแนวคิดของนายโมเซอร์มาใช้เพราะเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดี
โครงการมายเชลเตอร์ เริ่มติดตั้งดวงไฟขวดน้ำเมื่อเดือน มิ.ย. 2011 ตามบ้านเรือนต่างๆ และได้ฝึกให้ชาวบ้านรู้จักประดิษฐ์และติดตั้งขวดน้ำด้วยตนเอง เพื่อเป็นการหารายได้เสริม
คลิปวิดีโอการใช้หลอดไฟขวดน้ำในฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ประชากรราว 1 ใน 4 ของฟิลิปปินส์ ยังคงมีฐานะยากจน ขณะที่ค่าไฟมีราคาสูง ทำให้แนวคิดการใช้หลอดไฟขวดน้ำได้รับความนิยม และปัจจุบันมีการติดตั้งในบ้านกว่า 140,000 หลังแล้ว ไอเดียดังกล่าว ยังมีการนำไปใช้ในกว่า 15 ประเทศ อาทิ อินเดีย บังกลาเทศ แทนซาเนีย อาร์เจนตินา และฟิจิ
ดิอาซกล่าวว่า สามารถพบเห็นหลอดไฟขวดน้ำได้ในพื้นที่ห่างไกลตามเกาะต่างๆของประเทศ นอกจากนั้นมันยังสามารถนำไปใช้เพื่อให้แสงสว่างในฟาร์มเกษตรแบบไฮโดรโพนิกขนาดเล็กอีกด้วย และคาดว่าจะมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์นี้มากกว่า 1 ล้านคน ภายในปีหน้า
เขากล่าวว่า อัลเฟรโด โมเซอร์ ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาล และอาจจะตลอดไปเสียด้วยซ้ำ และไม่ว่าเขาจะได้รางวัลโนเบลหรือไม่ แต่ขอให้เขารู้ไว้ว่า มีผู้คนจำนวนมากที่ชื่นชมสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป
ด้านโมเซอร์ กล่าวว่า เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่ามีผู้กล่าวชื่นชมเช่นนี้ เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ทีไรก็ทำให้เขาขนลุกทุกครั้งไป
แปลและเรียบเรียงจาก"AlfredoMoser:Bottle light inventor proud to be poor"
โดย Gibby Zobel
BBC World Service, Uberaba, Brazil