เพราะว่าสิวเป็นโรคผิวหนังที่พบกันได้มาก (โดยเฉพาะในวัยรุ่น) จึงมีเรื่องราว เรื่องเล่า และคำถามอันเนื่องจากสิวมากมาย จริงบ้างเท็จบ้าง เราจะมาดูกัน ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง และข้อสงสัยของเราเกี่ยวกับสิวมีคำแนะนำหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการดูแลผิวของเราเอง
ความเชื่อที่ผิด 1: ผิวหน้าสกปรกเป็นสาเหตุของสิว
ผิด เพราะสิวไม่ได้เกิดบนผิวหน้า แต่เกิดที่ในรูขุมขน คนที่หน้าสะอาดอาจเป็นสิวได้ ทั้ง ๆ ที่คนที่ไม่ล้างผิวหน้าไม่สะอาดกลับไม่เป็นสิวเลย อย่างไรก็ดี การล้างหน้าให้สะอาด แต่ไม่รุนแรงแห้งตึง ก็ช่วยลดการลุกลามของการอักเสบได้บ้าง เพราะช่วยลดเชื้อโรคที่อยู่บนผิวหน้าได้ อนึ่ง สิวหัวดำ ไม่ใช่ความสกปรก ดังได้กล่าวแล้วว่า มันคือ การออกซิไดซ์ของสารสีที่อุดตันในรูขุมขน
ความเชื่อที่ผิด 2: คนเป็นสิวต้องล้างหน้าบ่อย ๆ
ผิด เพราะล้างมากเกินไปยิ่งระคายเคือง ควรล้างไม่เกินวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น หากรู้สึกว่าผิวหน้ามันมาก อยากล้างหน้าระหว่างวัน ให้ล้างหน้าด้วยน้ำเปล่า และยืนยันอีกครั้งว่า สิวไม่ได้เกิดบนผิวหน้า แต่เกิดในรูขุมขน และไม่มีผลิตภัณฑ์ล้างหน้าใด ที่ล้างได้ “ลึก” ถึงรูขุมขน
ความเชื่อที่ผิด 3: กินช็อกโกแลตเลยสิวขึ้น
ผิด แต่ไม่รุนแรง เพราะกินหรือไม่กินก็ไม่ได้มีประโยชน์ หรือโทษอะไรมากมาย ไม่กินก็ได้ ทำไมถึงผิด? เพราะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ว่า การกินอาหารประเภทต้องสงสัย ได้แก่ ช็อกโกแลต มันฝรั่ง ถั่วทอด พิซซา อาหารมัน ไอศกรีม น้ำอัดลม ทำให้สิวขึ้น ทั้งนี้ เคยมีการทดลองโดยไม่ให้กลุ่มทดลองกลุ่มแรกกินช็อกโกแลต อีกกลุ่มให้กิน ก็ไม่พบว่าอัตราการเกิดสิวในทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน ส่วนกรณีของอาหารมันๆ เนื่องจากน้ำมันในอาหารกับน้ำมันที่ทำให้เกิดสิวเป็นคนละตัวกัน ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกี่ยวข้องกัน
แต่หากท่านรู้สึกว่ากินอะไรแล้วสิวกำเริบ การจะงดอาหารนั้น ๆ เป็นคน ๆ ไป ก็ทำได้ และการลดอาหารหวาน ๆ มัน ๆ ก็ดีกับสุขภาพอยู่แล้ว
ความเชื่อที่ผิด 4: การมี sex หรือช่วยตัวเองทำให้สิวกำเริบ หรือดีขึ้น
ผิด เพราะมันไม่เกี่ยวกัน เรื่องการช่วยตัวเองนั้น มีที่มาจากการที่สิวมักเริ่มเป็นในวัยรุ่น จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจเกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ในบางกรณีที่มีความต้องการทางเพศแต่ไม่กล้าปลดปล่อยด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (อาจเพราะมีความรู้สึกผิด และกลัวสิวกำเริบ) กลับจะยิ่งทำให้เกิดความเครียดและเป็นสิวมากขึ้น
ส่วนเรื่องการมี sex นั้น เป็นความเชื่อที่สืบย้อนไปได้ถึงยุโรปยุคก่อน ที่ว่าการแต่งงานทำให้สิวหายได้ ซึ่งอันที่จริงก็เพราะผู้ที่แต่งงานแล้ว มีสิวหายไปได้ ก็เพราะว่า ผ่านช่วงวัยรุ่นไปแล้ว เข้าสู่วัยที่มีปัญหาสิวน้อยลงตามธรรมชาตินั่นเอง
ความเชื่อที่ถูก 1: ความเครียดทำให้สิวกำเริบ
ถูก แต่อธิบายได้ยากหน่อย เพราะโดยทั่วไปตัวความเครียดเองไม่สามารถทำให้สิวกำเริบได้ อย่างไรก็ดี ตามทฤษฎีแล้ว ความเครียดส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนของร่างกาย จึงอาจก่อให้เกิดสิวได้ ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงในผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน ต้องลองสังเกตุตัวเองดูด้วย และการลดความเครียดก็เป็นเรื่องที่ดีกับสุขภาพโดยรวมอยู่แล้ว
ความเชื่อที่ผิด 5: ปัญหาสิว เป็นเรื่องความงาม ไม่ใช่โรค
ผิด เพราะทางการแพทย์จัดว่าสิวเป็นโรคผิวหนังอย่างหนึ่ง การใช้ยารักษาสิวแบบต่าง ๆ มีข้อบ่งชี้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะ และความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ดี ยาทา หรือยากินบางตัว มีผลแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ บางตัวก็มีผลกับทารกในครรภ์ การรักษาสิวที่ไม่ถูกต้องอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยา และทำให้เป็นแผลเป็นถาวรได้ ทั้งยังมีงานวิจัยว่าแผลเป็นจากสิวนี้สามารถส่งผลเสียทางจิตใจด้วย เราจึงแนะนำว่า ถ้าเริ่มเครียดเพราะปัญหาสิว หาหมอดีกว่าจ้ะ
ความเชื่อที่ผิด 6: คนเป็นสิว ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าแรง ๆ ที่ทำให้ผิวแห้งได้ยิ่งดี
ผิด เพราะยิ่งใช้ผลิตภัณฑ์ที่รุนแรงยิ่งกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น ไม่มีผลดีอะไรกับผิว แถมยังเกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ความเชื่อที่ผิด 7: แสงแดดทำให้สิวดีขึ้น
ผิด เพราะแม้แสงแดดอาจทำให้ดูเหมือนว่าสิวดีขึ้น เพราะ UV ในแสงแดดอาจจะช่วยฆ่าเชื้อสิวได้บ้าง และการที่แสงแดดทำให้ผิวไหม้แดง และคล้ำขึ้น ก็ช่วยบดบังรอยแดงรอยดำจากสิวอักเสบได้บ้าง แต่แสงแดดนั้น นอกจากจะเป็นอันตรายต่อผิวหนังแล้ว ยังทำให้ผิวระคายเคือง และมีส่วนทำให้สิวกำเริบอีกด้วย
ความเชื่อที่ผิด 8: สิวเป็นโรคติดต่อ
ผิด เพราะสิวติดต่อกันไม่ได้ สาเหตุของสิวเป็นเรื่องภายในของแต่ละบุคคลดังได้เคยกล่าวแล้ว แม้ว่าในยุคหนึ่งมีความสับสนกันว่า โรคที่แสดงอาการทางผิวหนังอื่นเป็นโรคติดต่อ โรคสิวก็คงจะเป็นโรคติดต่อด้วย จนพ่อแม่ไม่ยอมให้บุตรในวัยหนุ่มสาวพบปะกับเพื่อนฝูงที่เป็นสิว เพราะกลัวจะติดโรคสิว
ความเชื่อที่ผิด 9: รักษาสิวด้วยยาแรงยิ่งดี
ผู้เป็นสิวมักมีความเชื่อว่า การใช้ยารักษาสิว ยิ่งแรงยิ่งดี เช่น เชื่อว่า ถ้าใช้ยาทา 2.5% benzoyl peroxide แล้วได้ผล ถ้าเพิ่มความเข้มข้นเป็น 10% ก็น่าจะได้ผลมากขึ้นอีก แต่ที่จริงนั้น ถ้าใช้ยาความเข้มข้นต่ำได้ผลดี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรงขึ้น เพราะนอกจากจะเสียเงินมากขึ้นโดยไม่จำเป็นแล้ว อาการอันไม่พึงประสงค์จากยา เช่น การระคายเคือง หน้าลอก แสบแดง ฯลฯ ก็จะเกิดเพิ่มมากขึ้นด้วย