สื่อนอกตีแผ่ขบวนการค้ามนุษย์ กักขังชาวโรฮิงญาบนเกาะตะรุเตา

 

 

 

สื่อนอกตีแผ่ขบวนการค้ามนุษย์ กักขังชาวโรฮิงญาบนเกาะตะรุเตา

 

 

บทความดังกล่าวถูกตีแผ่โดยนายจอห์น สปาร์คส์ นักข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของแชนเนล 4 นิวส์ระบุว่า ดูเหมือนว่าคนไทยจำนวนมากจะหวาดกลัวเมื่อพูดถึงเกาะตะรุเตา ทำให้เขารู้สึกฉงนสงสัยและอยากเดินทางไปหาคำตอบ แต่เมื่อถามคนท้องถิ่นว่ามีใครพอจะพาเขาและทีมงานเดินทางไปยังเกาะตะรุเตาได้บ้าง คนท้องถิ่นกลับส่ายหน้าบอกปัดกันแทบไม่ทัน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าแปลกนัก เพราะตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติที่น่าตื่นเต้น อยู่ห่างจากแผ่นดินออกไปเพียง 30 กิโลเมตร และมีน้ำทะเลใสแบบทะเลอันดามัน หาดทรายก็ขาวสะอาด ธรรมชาติก็ยังคงสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะเป็นเกาะในฝันของใครต่อใคร

คำถามดังกล่าวทำให้นายจอห์น สปาร์คส์ ต้องใช้เวลาหาคำตอบอยู่นานหลายสัปดาห์ โดยตระเวนถามหาความจริงจากคนในท้องถิ่น จนสุดท้ายจึงได้รู้ว่า ตะรุเตาแท้จริงแล้วเป็นเกาะแห่งฝันร้าย มีขบวนการค้ามนุษย์ และมีคุกลับอันแสนโหดเหี้ยมซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามของเกาะแห่งนี้ โดยเหยื่อของขบวนการดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็คือชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หวังจะหนีความขัดแย้งรุนแรงในพม่า มาพึ่งพิงในแผ่นดินมาเลเซีย แต่พวกเขากลับถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกนำตัวมายังเกาะแห่งนี้ เพื่อขายเป็นทาสบ้าง เรียกค่าไถ่จากครอบครัวพวกเขาบ้าง

รายงานระบุว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่มักตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้ ได้เดินทางมาจากท่าเรือลับที่อยู่ชายแดนพม่า-บังคลาเทศ เพื่อมุ่งหน้าสู่ประเทศมาเลเซีย โดยชาวโรฮิงญาแต่ละคนจะต้องเสียเงินค่าโดยสารเรือคนละราว 10,000 บาท ในการเดินทางครั้งนี้ และเมื่อถึงเวลาเดินทาง ชาวโรฮิงญาจะถูกจับขัง นั่งเบียดเสียดกันอยู่ในกรงขังมนุษย์ ซึ่งเมื่อทีมข่าวได้ไปสัมภาษณ์นายโมฮัมหมัด ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่หลุดรอดออกมาจากคุกลับอันโหดร้ายได้ ก็ได้ความว่า ตลอดระยะเวลาการเดินทาง พวกเขาต้องอยู่ในกรงแคบ ๆ เบียดเสียดกันโดยไม่สามารถขยับร่างกายได้ ทำไม่ได้แม้แต่จะลุกขึ้นยืน และการตกอยู่ในสภาพดังกล่าวทำให้ชาวโรฮิงญารู้สึกแย่มาก จนมีชายคนหนึ่งตัดสินใจโดดออกจากเรือที่กำลังล่องอยู่กลางทะเลในที่สุด ตอนนี้ไม่รู้ชะตากรรม

อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่ความไร้มนุษยธรรมอย่างเดียวที่พวกเขาต้องเผชิญ เพราะเรือลำดังกล่าวที่พวกเขาจ่ายเงินค่าโดยสารมาเพื่อเดินทางไปมาเลเซียนั้น ไม่ได้ไปเทียบท่าที่มาเลเซียแต่อย่างใด กลับพาเขาขึ้นฝั่งที่เกาะตะรุเตาซึ่งมีคุกลับแห่งฝันร้ายซ่อนตัวอยู่ จากนั้นขบวนการค้ามนุษย์ก็ขังพวกเขาไว้ที่นี่ และทางเดียวที่พวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวก็ต่อเมื่อทางครอบครัวจ่ายเงินค่าไถ่จำนวนกว่า 75,000 บาท โดยทางขบวนการค้ามนุษย์จะให้ชาวโรฮิงญาใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกับครอบครัวเพื่อขอให้นำเงินมาไถ่ตัว หากครอบครัวไหนไม่มีเงินไถ่ตัว ชาวโรฮิงญาก็จะถูกทุบตีทำร้ายสารพัดจนกว่าครอบครัวจะมาไถ่ตัวไป หรือไม่ก็ถูกขายเป็นทาสเป็นแรงงานชาวประมง นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เขาได้ประสบพบเจอมาแล้วเพราะถูกกักขังอยู่บนเกาะหลายสัปดาห์

จากคำให้สัมภาษณ์ของชาวมุสลิมโรฮิงญาดังกล่าว ทำให้ทีมข่าวตั้งข้อสงสัยต่อไปว่า ในขณะที่มีการขนถ่ายชาวโรฮิงญานับร้อยนับพันชีวิตแบบนี้ เหตุใดขบวนการค้ามนุษย์นี้จึงหลุดรอดจากสายตาเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ และนั่นนำมาซึ่งการไปสอบถามชายคนหนึ่งซึ่งพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์โดยตรง โดยทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้ายาม

จากการสอบถาม ชายคนดังกล่าวเล่าว่า ขบวนการค้ามนุษย์มีการส่งส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นาย และหน่วยทหารตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา มันเหมือนกับพอให้สินบนเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งก็มาอีก ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งส่วยให้กับตำรวจ พวกเขาจึงต้องพาชาวโรฮิงญาไปซ่อนตัวในอีกที่หนึ่ง เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่หาชาวโรฮิงญาไม่เจอ ก็จะไม่มีการเรียกร้องสินบนใด ๆ

คำเปิดเผยดังกล่าวทำให้ทีมข่าวเข้าไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งในจังหวัดสตูล ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ทางตำรวจไม่ได้รับสินบนใด ๆ ไม่มีเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นเด็ดขาด ส่วนเรื่องขบวนการค้ามนุษย์นั้น ตำรวจรายนี้ก็รับสารภาพว่าเขารู้ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพอที่จะสอดส่องเรื่องนี้ได้ตลอดเวลา แล้วก็ยังมีปัญหาอื่น ๆ อย่างเช่นไม่มีเรือ เป็นต้น

นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ทางทีมข่าวยังได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ดูแลอุทยานแห่งชาติตะรุเตาหลายคน ซึ่งพวกเขาก็บอกว่ามีพื้นที่บนเกาะที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของทางอุทยานและห้ามไม่ให้ใครเข้าไปด้วย ทีมข่าวจึงสอบถามไปยังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในที่สุดก็ลงเอยด้วยการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจสอบบริเวณอ่าวฝั่งใต้ของเกาะ กระทั่งได้พบกับคุกลับจริง และคุกลับดังกล่าวก็เป็นที่กักขังชาวโรฮิงญา ชาวบังคลาเทศ และชาวปากีสถาน รวมนับร้อยชีวิต โดยเหยื่อที่ถูกกักขังในที่แห่งนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาถูกกระทำเหมือนกับเป็นหมูเป็นหมา หลายคนบอกว่าเขาจ่ายเงินค่าโดยสารมาเพื่อจะไปออสเตรเลีย แต่กลับถูกส่งตัวมากักขังที่นี่ พร้อมถูกยื่นเงื่อนไขด้วยว่าจะปล่อยตัวก็ต่อเมื่อทางครอบครัวนำเงินมาไถ่ตัวเท่านั้น ซึ่งตรงกับสิ่งที่นายโมฮัมหมัด เปิดเผยไว้ก่อนหน้านั้นไม่มีผิดเพี้ยน

อย่างไรก็ดี จากปฏิบัติการดังกล่าว สามารถช่วยผู้คนกว่า 176 ชีวิต ออกจากคุกลับในตะรุเตาได้ และขณะนี้เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ดังกล่าวก็ถูกนำตัวมายังศูนย์กักกันในไทย แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ปัญหาต่อไปก็คือตอนนี้ไม่มีประเทศไหนที่เตรียมรับตัวชาวโรฮิงญากลับประเทศ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ต้องอยู่ในศูนย์กักกันอีกนานหลายเดือนหรือเป็นปีเลยทีเดียว


 

Credit: http://news.tlcthai.com/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...