เคราะห์กรรมของพระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์มิใช่เป็นความลับ เรื่องปรากฏอยุ่ในจดหมายเหตุรายวัน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ภาค ๒๓.อ่านแล้วชวนให้สลดใจด้วยเป็นเรื่องของความรักที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๘๒ พระองค์ พระโอรสสองพระองค์แรก ประสูติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ครั้นเสวยราชสมบัติแล้วจึงทรงมีพระราชธิดาเป็นพระองค์แรก คือ พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์อัครราชสุดา ทรงประสูติเมื่อเดือนยี่ ปี จ.ศ ๑๒๑๓ ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๓๙๕.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ และทรงมีพระชนมายุอ่อนกว่าพระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ ๑ ปี เมื่อยังทรงพระเยาว์น่าจะทรงคุ้นเคยกับเจ้าพี่และเจ้าน้องในวัยไล่เลี่ยกันเป็นอย่างดี ในราชสำนักนั้นเท่าที่ได้ตรวจหนังสือหลายเล่มยังไม่พบว่า พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ทรงเป็นข่าวในราชกิจใดๆ อาจจะทรงดำเนินชีวิตเช่นฝ่ายในอีกหลายๆพระองค์ที่สนองงานราชสำนักไปตามปรกติ จนกระทั่งก่อนจะสิ้นพระชนม์ จึงได้ทราบกันว่าทรงประชวรด้วย โรคมาน คือโรคท้องโตผิดคนธรรมดา
เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๔๘ หรือตรงกับปีพุทธศํกราช ๒๔๒๙ ได้เกิดเหตุวิบัติขึ้นในเขตพระราชฐาน ขณะนั้นพระบาทสมเด็จสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำลังเสด็จประพาสเพชรบุรึ เพื่อทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆในตัวเมือง เช่น เขามหาสวรรค์ พระนครคีรี ถ้ำเพิง ถ้ำพัง และวัดพระนอน เป็นต้น.ทางฝ่ายพระนครเกิดความเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศนั่นคือ "พระองค์เจ้ายื่งเยาวลักษณ์
ซึ่งเดิมเชื่อว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ทรงปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นบุตรชาย ณ.ตำหนักที่ประทับภายในพระบรมมหาราชวัง.."เหมือนสายฟ้าฟาด เพราะคงไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนว่า จะเกิดเรื่องร้ายแรงเช่นนี้ภายในราชสำนัก ภายหลังจากเกิดเหตุแล้ว เจ้านายสองพระองค์คือ สมเด็จฯกรมพระภาณุพันธ์วงศ์วรเดช และกรมหลวงเทวะวงส์ รีบเสด็จไปเมืองเพชรบุรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา
ส่วนภายในพระบรมมหาราชวังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช ทรงสืบสาวชำระเรื่อง กระทั่งรู้ต้นสายปลายเหตุทั้งหมด.หนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ได้สรุปความไว้อย่างสั้นและเข้าใจได้ง่ายที่สุดคือ "..ได้ตัวอีเผือก บ่าวพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ชักสื่อ แลอ้ายโต ผู้ล่วงพระราชอาญามาถาม ได้ความว่ารักใคร่กันมาแต่ยังเป็นภิกษุอยู่ในวัดราชประดิษฐ์ จนอ้ายโตสึกมา พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ได้หาตึกให้อยู่ที่ถนนเจริญกรุง แล้วลอบเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง โดยเข้าไปได้ทางพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เข้าไปนอนอยู่กับพระองค์เจ้ายื่งเยาวลักษณ์ ๔คราวๆละคืนบ้าง ๒คืนบ้าง ได้มีเรื่องราวโดยพิศดาร.."
ที่เพชรบุรี หลังจากทรงทราบความทั้งหมดแล้ว เวลา๔ทุ่มเศษเสด็จออก มีพระราชดำรัสว่า พระองค์เจ้าหญิงยื่งเยาวลักษณ์ทรงประพฤติการอันอุกฤษฏ์ขั้นมหันตโทษ ทรงโปรดเกล้าฯให้ริบราชบาตรป็นของหลวงสำหรับจ่ายซ่อมแปลงพระอาราม และสิ่งของที่พระบรมชนก คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ ให้ถอดยศพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ลงเหลือเพียงระดับหม่อมเรียกว่า "หม่อมยิ่ง"ทรงมีพระราชบัญญํติห้ามมิให้พระภิกษุที่มีพรรษาต่ำกว่า ๒oพรรษาเข้าไปในพระบรมมหาราชวังชั้นใน อุบาสิกาอายุต่ำกว่า ๔oปี ก็ห้ามมิให้ออกไปฟังเทศนาถืออุโบสศิลที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม.
ส่วนการวางโทษอื่นๆนั้น ต่อมาเมื่อทรงฟังคำพิจารณาของคณะลูกขุนแล้ว โปรดเกล้าฯให้ลงพระราชอาญา เฆี่ยนหม่อมยิ่ง อีเผือก และอ้ายโต คนละ ๓ ยก ๙oที แล้วให้นำตัวอ้ายโตผู้บังอาจไปทำการประหารชีวิตเสีย.ในวันศุกร์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน๔ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงทรงประทับอยู่ที่เพชรบุรี
"วันนี้ที่พระนคร เจ้าพนักงานกรมพระนครบาล นำตัวอ้ายโตไปประหารชีวิตที่วัดพลับพลาไชย "(คือวัดโคก ที่ห้าแยกพลับพลาไชยข้างวัดเทพศิรินทราวาส หรือข้างธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพลับพลาไชยเดี๋ยวนี้ )
หนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน มิได้เอ่ยถึงเรื่องหม่อมยิ่งต่อเนื่องไปจากนี้อีกไม่มีใครทราบว่าภายหลัง
จากเหตุการณ์อันร้ายแรงครั้งนั้นแล้ว พระองค์เจ้ายื่งเยาวลักษณ์ต้องทรงระทมทุกข์ในสภาพเช่นไร แต่หนังสือราชสกุลวงศ์กล่าวว่า ทรงสิ้นพระชนม์ในปีจอ พุทธศักราช ๒๔๒๙ ขณะพระชนมายุ ๓๔ พรรษา.
คำให้การหม่อมยิ่ง และผู้เกี่ยวข้องทุกคนซึ่งเคยนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ บางทีกระดาษซึ่งบรรจุเรื่องอันน่าเศร้าเช่นนี้ อาจผุพังสูญหายไปแล้วก็ได้
พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์
คัดลอกจากหนังสือ "หญิงชาวสยาม"
โดย อเนก นาวิกมูล.