รัชทายาทในสมัยรัชกาลที่ 7 (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงประสบปัญหาเรื่องรัชทายาทคล้ายคลึงกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพราะถึงแม้จะทรงมีพระอัครมเหสี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจะทรงมีพระราชโอรสสืบสันตติวงศ์แต่อย่างใด
ประกอบกับที่ทรงมีพระสุขภาพไม่ค่อยปกตินักจึงมักมีผู้คาดการณ์เกี่ยวกับเจ้านายที่จะรับเป็นรัชทายาทแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 มีเจ้านายหลายพระองค์ที่อยู่ในข่าย หรือได้รับการสนับสนุนให้เป็นรัชทายาท
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช
ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ตำแหน่งรัชทายาทควรจะตกอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต้นราชสกุล “มหิดล”) พระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระพันวัสสา) พระมเหสีที่มีพระอิสริยยศรองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ(สมเด็จพระพันปีหลวง) แต่ทรงมีพระชนมายุเพียง 38 พรรษาเท่านั้น ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุล “บริพัตร”) พระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติจากพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงอีกพระองค์หนึ่งที่หลายฝ่ายสนับสนุนและต้องการให้พระองค์เป็นรัชทายาท แม้จะทรงอยู่ในอันดับที่ 3 ของลำดับผู้ที่สืบสันตติวงศ์ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงกล่าวถึงพระฐานะของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร ไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ความว่า
“...เมื่อข้าพเจ้าอยู่เมืองไทยเวลานั้น (๒๔๗๓) ตามเสียงคนพูดกันทั่วไปดูทุก ๆ คนรู้สึกกันว่า ถ้าทูลกระหม่อมอายังคงไม่มีพระราชโอรสอยู่ตราบใด ทูลหม่อมลุงบริพัตรทรงมีหวังที่จะได้รับตั้งสืบราชสมบัติต่อไปมากกว่าเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ถึงแม้ตามกฎมณเฑียรบาลท่านทรงเป็นพระองค์ที่ ๓ อยู่แล้ว เวลานั้นท่านทรงเป็นเจ้านายที่มีตำแหน่งราชการสำคัญที่สุด
ทรงเป็นใหญ่ในอภิรัฐมนตรีสภา เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ครั้นเมื่อทูลกระหม่อมอาเสด็จประพาสอเมริกาก็ได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรากฏว่ามีผู้คนรักใคร่นับถือเป็นอันมาก...”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าพงษ์จักร เป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน มีศักดิ์เป็นพระราชภาติยะ (หลานอา) ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีผู้คาดหมายว่าพระองค์อาจเป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่อาจจะได้รับเลือกเป็นรัชทายาท เพราะทรงเป็นเจ้านายชั้นหลานเธอเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษในฐานะที่ทรงเป็นหลานอาแท้ ๆ ของพระเจ้าอยู่หัว
เช่น เมื่อเสด็จกลับมาประทับในกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราวในปี พ.ศ. 2473 ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศยุโรป รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จฯ ไปรับพระองค์จุลด้วยพระองค์เองที่สถานีรถไฟจิตรลดา ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับอยู่ที่พระนั่งอุดร ภายในพระราชวังดุสิต และการได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1 ในขณะที่เจ้านายหลานเธอชั้นเดียวกันได้รับพระราชทานชั้นที่ 2 เป็นต้น
แต่การยกย่องเป็นพิเศษนี้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงยืนยันว่ารัชกาลที่ 7 ไม่ได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้พระองค์เป็นรัชทายาทแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะทรงเป็นหลานอาแท้ ๆ ที่ทรงคุ้นเคยกันมาก่อน และในความเป็นจริงพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็ได้ถูกตัดสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์มาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว เพราะทรงมีพระมารดาเป็นนางต่างด้าว และรัชกาลที่ 7 เองก็ทรงแสดงพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ในการที่จะไม่ยกพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นรัชทายาท ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ลงวันที่ 15 มกราคม 2471 ความว่า
“...ฉันจะพูดกับแกตรง ๆ และหวังว่าแกจะพยายามเข้าใจความคิดของฉัน ฉันรู้สึกสะอิดสะเอียนอย่างยิ่งที่ต้องเอามาพูด แต่เป็นการจำเป็นและแกก็รู้ตัวดี คือแกเป็นคนครึ่งชาติและเพราะเหตุผลนั้นจึงถูกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติ ฉันไม่ต้องการให้แกได้เข้าเฝ้าพระเจ้ายอร์ช (แห่งอังกฤษ จ.จ.) เพราะแกไม่อยู่ในขอบเจตสืบสันตติวงศ์ ฐานะของแกในเมืองไทยคือเป็นเจ้านายและเป็นหลานแท้ ๆ ของฉัน แต่ต้องถูกยกเว้นจากการได้ขึ้นราชบัลลังก์
ฉันเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน (ร.6. จ.จ.) ท่านทำผิดในการที่ทรงตั้งแกเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ เพราะท่านได้ตั้งพระทัยจะยกเว้นแกมาตั้งแต่แรก การเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอมีแต่จะทำให้ฐานะแกครึ่งๆ กลางๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว...”
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าอานันทมหิดล เป็นพระโอรสองค์โตในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ กับหม่อมสังวาลย์ เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์พระองค์จึงได้ทรงอยู่ในอันดับที่ 1 ของลำดับการสืบสันตติวงศ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเกิดวังปารุสก์ ดังนี้
“...ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ หากทูลกระหม่อมอาเอียดน้อยมิได้ทรงแต่งตั้งเจ้านายพระองค์อื่น องค์ชายอานันท์ก็ย่อมจะเป็นรัชทายาท แต่ทูลหม่อมอายังมิได้ประกาศรับรองว่าเป็นเช่นนั้น...”
ดังนั้นในขณะที่รัชกาลที่ 7 ยังไม่ทรงตั้งเจ้านายพระองค์หนึ่งพระองค์ใดเป็นรัชทายาท พระองค์เจ้าอานันทมหิดลจึงเป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่คาดกันว่าอาจจะได้เป็นผู้สืบราชบัลลังก์ต่อไปตามกฎมณเฑียรบาล ดังที่สมเด็จพระเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ ความว่า
“...วันหนึ่งพระองค์ชายกลับมาจากโรงเรียนและมาบอกแม่ว่ามีเพื่อนที่โรงเรียนมาเรียกว่า ‘องค์โป้ย’ แม่จึงเข้าใจทันทีว่าแปลว่า ‘องค์ 8’...”
หมายเหตุ พระอิสริยยศของเจ้านายแต่ละพระองค์ที่อ้างถึงนั้น เป็นพระอิสริยยศที่ดำรงอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 7
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กับการสละราชสมบัติ
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีพระราชประสงค์จะให้เกิดการนองเลือดในแผ่นดินจึงทรงรับที่จะเป็น “หุ่นเชิด” ให้กับรัฐบาลใหม่ และเสด็จกลับพระนครในวันรุ่งขึ้นเพื่อลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2475
“...วันที่ 30 มิถุนายน 2475 เวลา 17.15 น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เข้าเฝ้าฯ ที่วังศุโขทัย มีพระราชดำรัสว่าอยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ฯลฯ
อีกอย่างหนึ่ง อยากจะแนะนำเรืองสืบสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระพุทธเจ้าหลวงเคยทรงพระราชดำริที่จะออกจากราชสมบัติเมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปได้ไม่นาน เมื่อเหตุการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย พระราชดำริเห็นว่าพระโอรสสมเด็จสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพช็รบูรณ์ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่สืบสันตติวงศ์ต่อไปควรเป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ฯลฯ…”
แต่คณะผู้ที่เข้าเฝ้าฯ ในวันนั้นได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติต่อไป และพระราชดำริที่จะสละราชสมบัตินั้นขอให้งดไว้ก่อนจนกว่าการปกครองระบอบใหม่จะมั่นคง ปีพุทธศักราช 2476 ซึ่งถือเป็นปีแห่งวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของสยาม รัชกาลที่ 7 ทรงไม่เห็นด้วยกับการเค้าโครงร่างเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และเกิดการโต้แย้งกันอย่างกว้างขวางถึงแนวคิดที่อาจนำพาประเทศไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์
เพื่อระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงประกาศปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมกับเนรเทศหลวงประดิษฐ์ฯ ออกนอกประเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคณะราษฎรเป็นอย่างมาก ในที่สุดจึงเกิดการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2
จากนั้นไม่นานคณะกู้บ้านกู้เมือง ซึ่งนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ก่อกบฏยกกองทหารหัวเมืองจากนครราชสีมาเข้ามาตีกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึงขณะนั้นประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล หัวหิน ทรงถูกรัฐบาลสงสัยว่าให้การสนับสนุนการกบฏในครั้งนี้ และเมื่อทรงแน่พระทัยว่าพระองค์ และพระราชวงศ์ตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชสำนักไปยังสงขลา มีเจ้านายทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายในและข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดตามเสด็จฯ เป็นจำนวนมาก เมื่อเหตุการณ์ทางกรุงเทพฯ สงบลง รัฐบาลจึงส่งตัวแทนมากราบบังคมทูลให้เสด็จกลับพระนคร พร้อมกับมีการเจรจาเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น เรื่องการชำระโทษผู้คิดก่อการกบฏต่อหน้าพรที่นั่ง
เมื่อทรงไม่สามารถเจรจาให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ได้ และทรงมีพระราชดำริว่าพระองค์ไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใดได้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เจ้านายและขุนนางหลายท่านที่อาจโดนภัยคุกคามจากรัฐบาลเดินทางออกจากประเทศสยามก่อนที่พระองค์จะเสด็จนิวัติพระนคร
“...ตลอดระยะเวลาที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามวางพระองค์เป็นกลาง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลมิได้ดีขึ้น ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี ทั้งนี้เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง...
...ระหว่างที่ประทับอยู่ที่อังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยขัดแย้งกับรับบาลหลายเรื่อง ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2477 ทรงมีพระราชโทรเลขถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ทรงสมัครพระราชหฤทัยจะสละราชสมบัติ ...”
( เรื่องเดียวกัน หน้า 84 – 85 อ้างในเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ )
จากนั้นมารัฐบาลจึงได้เริ่มทำการประนีประนอมกับรัชกาลที่ 7 เพราะรัฐบาลเองก็ไม่มีประสงค์จะให้ทรงสละราชสมบัติ ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 2 ถึงรัฐบาล โดยทรงพระราชทานผ่านพระยาราชวังสัน อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“...ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นไปอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ฉันมีความสงสัยอย่างยิ่งว่าจะเป็นการดีสำหรับประเทศหรือ ที่จะให้ฉันดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศต่อไป การที่ประมุขของประเทศและรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร มีความระแวงสงสัยแก่กันอยู่เสมอ และอาจมีข้อแตกร้าวต่อไปนั้นเป็นการดีหรือ
ถ้าฉันลาออกจากตำแหน่งเสียแล้ว ให้สภาฯ เลือกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แล้วแต่จะเห็นควรขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนจะไม่ดีกว่าหรือ...
...ฉันมีความคิดเห็นอย่างนี้มานานแล้ว และได้อธิบายให้รัฐมนตรีบางคนฟังก็มี แต่โดยมากไม่มีใครยอมคิดเห็นพ้องกับฉัน ก็เพราะที่สำคัญอย่างเดียว คือ ไม่มีใครแน่ใจว่าควรเลือกเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป
ทางที่จะเลือกมีดังนี้
๑ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งอ้างได้ว่าให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ทางนี้ผลดีอยู่มาก คือเป็นทางที่ตรงตาม Legality แต่เสียทีที่ยังเป็นเด็ก แม้การเป็นเด็กนั้นเองก็อาจเป็นของดี เพราะถ้ามีอะไรผิดพลาดไป ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงองค์พระมหากษัตริย์
ไม่มีใครซัดทอดไปถึงซึ่งจะเป็นข้อดีมาก ข้อสำคัญอยู่ที่การเลือกผู้สำเร็จราชการ ซึ่งฉันเห็นว่า เจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ หรือทูลกระหม่อมหญิงวไลย องค์ใดองค์หนึ่งทรงดำรงตำแหน่งนี้แล้ว จะเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไป และไม่น่าจะเป็นศูนย์กลางแห่งการแตกร้าวกันระหว่างคณะการเมืองต่าง ๆ ด้วย
๒ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ซึ่งอาจจะยินดียอมรับตำแหน่งและฉันได้ทราบแน่นอนว่ามีความคิดเห็นอยู่หลายอย่างในทางที่จะทำให้พระมหากษัตริย์กับคณะราษฎรหมดข้อบาดหมางกันได้ และดำเนิน Policy บางอย่างที่จะเป็นที่พอใจของคณะราษฎร เช่น จะยกสมบัติพระคลังข้างที่ให้กับรัฐบาลและขอเงินก้อนประจำปีแทน จะเลิกทหารรักษาวัง และยอมให้รับบาลตั้งข้าราชการในราชสำนักตามใจ วิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นของที่ฉันเองยอมไม่ได้ และจะต้องวิวาทกับรัฐบาลอีกต่อไปอย่างแน่นอน เว้นแต่รัฐบาลจะผ่อนผันตาม
ทางเสียนั้น เห็นจะไม่ต้องอธิบาย เพราะใครก็นึกเห็นได้
ในสองทางที่จะเลือกนี้ ฉันพร้อมที่จะสนับสนุนโดยเต็มที่ แล้วแต่รัฐบาลและสภาฯ จะเลือกทางไหน ( 100 ปี พระปกเกล้าฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร )
“...ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 รัฐบาลพยายามหาทางประนีประนอมให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาครองราชย์ในประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะผู้แทนคณะหนึ่ง ประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นาวาตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ ร.น. และนายดิเรก ชัยนาม ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศอังกฤษเพื่อกราบบังคมทูลชี้แจงความคิดเห็นของรัฐบาล แต่มีปัญหาขัดแย้งหลายประการที่ไม่อาจยุติได้...” ( เรื่องเดียวกัน หน้า 84 – 85 อ้างในเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ )
ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแสดงพระราชประสงค์กับคณะผู้แทนของรัฐบาลว่าจะทรงสละราชสมบัติ
"พระองค์เจ้าอานันทมหิดล" องค์รัชทายาท
เมื่อคณะผู้แทนของรัฐบาลได้ทราบพระราชประสงค์อันชัดเจนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการที่จะทรงสละราชสมบัติ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็น 1 ในคณะผู้แทนของรัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลลาเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลทราบต่อไป และก่อนที่จะเดินทางกลับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้รับมอบหมายให้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
"...ในระหว่างที่พักอยู่กรุงปารีส ได้ขอให้อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสโทรเลขไปยังหม่อมสังวาล มหิดล ซึ่งอยู่ที่โลซาน (Lausanne) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่ารัฐบาลมีคำสั่งให้กระผมมาเฝ้าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล จะโปรดให้เข้าเฝ้าวันใด
ได้รับโทรเลขตอบจากหม่อมสังวาลว่า โปรดให้เข้าเฝ้าในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ฉะนั้นในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ กระผมจึงเดินทางออกจากรุงปารีสโดยทางรถไฟ ถึงโลซาน (Lausanne) ในวันนั้น และได้เข้าเฝ้าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น...."
(หนังสือที่หลวงธำรังนาวาสวัสดิ์ เรียนพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องสละราชสมบัติ ลงวันที่ 1 มีนคม 2477)
"...วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2477 แม่มีจดหมายกราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่าหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะมาหาเพื่อพูดเรื่องพระองค์เจ้าอานันทมหิดล '...หม่อมฉันก็จะบอกกับเขาว่าการรับหรือไม่รับนั้นไม่เป็นหน้าที่ของหม่อมฉันที่จะตอบ แล้วแต่ใต้ฝ่าพระบาท*และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หม่อมฉันมีสิทธิที่จะพูดได้ก็คือสำหรับร่างกายของนันท เพราะเวลานี้ร่างกายยังอ่อนแอนัก และไม่ถูกกับอากาศร้อน หมอแนะนำให้อยู่ที่นี่ต่อไป...' ..." (เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์)
"...19 กุมภาพันธ์ 2477 แม่ได้มีจดหมายไปกราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า '..เขาพูดเรื่องรัฐบาลอยากให้นันทเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลาออกจริง ๆ หม่อมฉันก็ได้พูดกับเขาตามที่ได้กราบทูลไป คือ การจะรับหรือไม่รับต้องแล้วแต่ใต้ฝ่าพระบาท* และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขาเข้าใจและทราบดี..' ..." (เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์)
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2477 และในวันที่ 1 มีนาคม 2477 ได้มีหนังสือเรียนนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องสละราชสมบัติความว่า
"... ข้อ ๑ ... มีความตอนหนึ่งว่า ถ้าทรงสละราชสมบัติแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกพระบรมวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะตัดความระแวงสงสัยในระหว่างพระองค์ท่านกับรัฐบาลและสภาฯ เสียได้ แต่ก็ทรงเห็นว่ามีทางเสียในข้อที่อาจมีผู้คิดล้มพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสียและขอร้องให้พระองค์ท่านกลับขึ้นครองตำแหน่งตามเดิม
แต่ทางเสียนี้ทรงเห็นว่า ถ้าหากได้ประกาศเสียโดยชัดเจนว่า ได้ทรงสละราชสมบัติโดยสมัครพระทัย และแม้ว่าจะมีผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อถวายพระราชอำนาจคืน ก็จะไม่ทรงยอมรับ ดังนัีี้แล้วก็จะแก้ทางเสียนี้ได้
ข้อ ๒ ... ถ้าทรงสละราชสมบัติจริงแล้ว ก็จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าควรให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และรัฐธรรมนูญจะดีกว่า เพราะจะได้ไม่เป็นการกระทบกระเทือนและนำมาซึ่งความยุ่งยากอันเกิดจากการชิงราชสมบัติในภายหน้า..."
* หมายถึง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (พระยศในขณะนั้น)
ปรึกษาข้อราชการ
วันที่ 2 มีนาคม 2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ (พระยศขณะนั้น) มีพระหัตถเลขาแจ้งความมายังนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ความว่า
"...ด้วยข้าพเจ้าได้รับพระราชโทรเลข มีความว่า ได้มีพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติลงพระปรมาภิไธย พระราชทานแก่เจ้าพระเยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสถาผู้ราษฎร(แล้ว) ... มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งว่า ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นอันพันไปในวันที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ จะลงนามในเอกสารอันใดไม่ได้อีกต่อไป..."
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับแจ้งเรื่องการสละราชสมบัติจากองค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ในวันเดียวกันนั้นนายกรัฐมนตรี จึงได้เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆ ดังต่อไปนี้
"...คณะรัฐมนตรได้ตกลงว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับรองการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วก็จะได้ขอให้สภาผู้แทนราษฎร รับรองผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป โดยยึดหลักแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 โดยเคร่งครัดทุกประการ และถ้าได้แก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลแล้ว ก็จะได้ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกบุคคลหรือคณะบุคคลขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป จนกว่าพระมหากษัตริย์จะมีพระชนมายุเข้าเกณฑ์บรรลุนิติภาวะ แล้วคณะรัฐมนตรีตั้งใจจะไปเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาทาตุจฉาเจ้าพระบรมราชเทวีในวันพรุ่งนี้ เพื่อฟังพระกระแสในข้อที่เกี่ยวแก่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลต่อไป...
นายกรัฐมนตรี กราบทูลว่า ใคร่จะขอพระราชทานบัญชีรายพระนามเจ้านายเรียงลำดับตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เพื่อได้ไปพิจารณา
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ตรัสว่า กระทรวงวังผู้เป็นเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นแล้ว และส่งมาให้ทรงตรวจ เมื่อทรงตรวจแล้วจะได้ลงพระนามว่าถูกต้อง แล้วจะพระราชทานคืนไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ขอให้เรียกเอาจารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังเถิด..." (บันทึกเรื่องนายกรัฐมนตรีมาเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 อ้างในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)
นอกจากนี้ยังได้มีการปรึกษาข้อราชการในอีกหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการปฏิบัติราชการในระหว่างที่ยังไม่มีผู้สำเร็จราชการ และเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้กราบทูลว่าในขณะที่อยู่ปารีสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เพื่อกราบทูลขอให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการฯ แล้วแต่ทรงตอบปฏิเสธ
จึงได้กราบทูลขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ต่อไป หรือจะดำรงตำแหน่งนี้ไปอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าเหตุการณ์จะเป็นปกติก็ได้ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศฯ ก็ทรงปฏิเสธ โดยทรงอ้างปัญหาเกี่ยวกับพระสุขภาพ ซึ่งเรื่องจะขอให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการฯ นั้นอย่าว่าแต่ 3 เดือนเลย อีก 3 วันก็ไม่ทรงรับ นายกรัฐมนตรีและคณะจึงได้กราบทูลลากลับไป
สำหรับบัญชีรายพระนามเจ้านายเรียงลำดับตากฎมณเฑียรบาล ซึ่งกระทรวงวังเป็นผู้จัดทำขึ้น และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ได้ลงพระนามว่า "ถูกต้อง" มีรายพระนามดังต่อไปนี้
๑. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์
๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
๓. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
๔. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
๕. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร
๖. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร