ผ่าระทึก"261โรฮิงยา" แหกที่คุมขังตม.พังงา ขอร่วมงาน"ฮารีรายอ"

กิตติ วงศ์รัตนาวุธ เมศินี ลาสอน เรื่อง/ภาพ

โรฮิงยา นับเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าเห็นใจเป็นอย่างมาก

เพราะเขาเหล่านี้เป็นชาวมุสลิม ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม มีถิ่นอาศัยอยู่ระหว่างรอยต่อชายแดนประเทศพม่าและบังกลาเทศ

กระทั่งเมื่อปี 2521 ชาวโรฮิงยาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่าในสมัยนั้น

แต่แทนที่จะได้ถือสัญชาติพม่า พวกเขากลับถูกปฏิเสธการเป็นพลเมืองพม่า

ครั้นจะเข้าไปเป็นพลเมืองบังกลาเทศ ก็ไม่เคยได้การต้อนรับอย่างเป็นรูปธรรมเสียที

ส่งผลให้ชาวโรฮิงยาเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ด้วยการอพยพออกจากถิ่นฐานที่กำเนิด รอนแรมไปสู่ดินแดนใหม่

ด้วยความหวังว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น

แต่ยังมีชาวโรฮิงยาอีกจำนวนไม่น้อย ต้องตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ ที่หลอกลวงเงินทองพวกเขา แล้วทิ้งขว้างไว้กลางทะเลบนเรือลำน้อย ให้ผจญคลื่นลมพายุกลางมหาสมุทร กระทั่งลอยตามกระแสน้ำที่พัดพามาขึ้นฝั่งยังประเทศไทย

ทำให้การเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงต้องควบคุมตัวไว้ดำเนินคดี

พังงา เป็นอีกจังหวัดหนึ่งซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลอันดามัน และเป็นจุดที่ชาวโรฮิงยา พลัดหลงเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงต้องแบ่งชาวโรฮิงยากระจายกันไปควบคุมไว้ในที่ต่างๆ หลายแห่ง จนกว่าจะสิ้นสุดการดำเนินคดี

จากนั้นจึงผลักดันออกนอกประเทศ หรือส่งไปยังประเทศที่สาม ซึ่งยินดีรับไว้เป็นพลเมือง

ที่ผ่านมาแม้จะมีความไม่เข้าใจกันทางด้านภาษาและวัฒนธรรม จนเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์อะไรใหญ่โต

กระทั่งเมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันฮารีรายอ ′อีดิ้ลฟิตริ′ หรือวันสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ที่ชาวมุสลิมต้องถือศีลอด

ชาวโรฮิงยากว่า 261 คน ซึ่งถูกควบคุมอยู่ที่ชั้น 2 ภายในอาคารควบคุมผู้หลบหนีเข้าเมือง ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) พังงา ก่อเหตุประท้วง พังห้องควบคุมออกมา

โดยให้เหตุผลว่า ต้องการออกมาทำพิธีทางศาสนา

พล.ต.ต.ชลิต แก้วยะรัตน์ ผบก.ภ.จว.พังงา พ.ต.อ.สมาน ชัยณรงค์ พ.ต.อ.วรวิทย์ ปานปรุง พ.ต.อ.ธรัฐชา ถมปัทม์ รอง ผบก. นายสมควร ขันเงิน นายอำเภอเมืองพังงา น.อ.กนกพร พิมพ์ทอง รอง ผอ.กอ.รมน.พังงา ต้องรีบรุดไปตรวจสอบ

พร้อมระดมกำลังตำรวจและชุดปราบจลาจล พังงา และกระบี่ รวมถึง อส. รวมกว่า 600 นาย เข้าระงับเหตุ

ร.ต.อ.อุดม ทองจีน รักษาราชการแทน ตม.พังงา รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่า ช่วงเช้าก่อนเกิดเหตุ มีตัวแทนชาวโรฮิงยามาแจ้งว่าขอให้ปล่อยตัวคนทั้งหมด เพื่อออกไปทำพิธีละหมาดเนื่องในวันฮารีรายอ

แต่ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่อยู่เพียงไม่กี่นาย จึงต่อรองขอให้ออกมาประกอบพิธีทางศาสนาครั้งละ 5 คน เพื่อสะดวกต่อการดูแล ทำให้ชาวโรฮิงยาไม่พอใจ ยืนยันว่าต้องปล่อยครั้งเดียวพร้อมกันทั้งหมด

เจ้าหน้าที่จึงไม่อาจทำตามได้ จนเป็นเหตุให้เกิดการลุกฮือพังห้องควบคุมออกมา แต่เจ้าหน้าที่รีบปิดประตูอาคารทัน จึงยังไม่มีใครเล็ดลอดหลบหนีออกไปได้

เหตุการณ์ช่วงบ่ายวันเดียวกัน สถานการณ์ยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะชาวโรฮิงยาทั้งหมดพยายามจะพังประตูออกมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำได้เพียงแค่หารั้วเหล็กมาเสริมแนวป้องกันเท่านั้น

กระทั่งประสานล่ามและนายโกบ เริงสมุทร กรรมการอิสลามจังหวัดพังงา มาช่วยเจรจาถึงความจำเป็นที่ไม่อาจให้ทุกคนออกมาพร้อมกัน และประกอบพิธีทางศาสนาให้หน้าห้องควบคุม เหตุการณ์ทั้งหมดกินเวลารวม 8 ชั่วโมงจึงสงบลง โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บแม้แต่คนเดียว

พล.ต.ต.ชลิตเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการวางแผนควบคุมเป็นอย่างดี มีการเจรจาตามขั้นตอนและดำเนินการตามกฎหมายทุกอย่าง อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่พกพาได้เพียงกระบอง

แต่ก็ไม่สามารถเปิดให้ผู้ต้องขังออกมาข้างนอกได้ตามคำเรียกร้อง เพราะเกรงจะเกิดอันตราย

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่กระจายชาวโรฮิงยาทั้งหมด ไปควบคุมตัวตามสถานีตำรวจ และสถานที่ต่างๆ แห่งละ 10 คน เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ควบคุม

เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่าเกิดจากความไม่เข้าใจกันในด้านภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อ ซึ่งนับว่ายังโชคดีที่ไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...