"ปู่พิชัย"ร่วมปฏิรูป 2ผู้นำ โลก รับคำเชิญของ"ปู"

โทนี่แบลร์-โคฟี่อันนัน "นิคม-อนุทิน"โอเคแล้ว "จ้อน"ชี้ปชป.แพ้ในสภา ย้ำถึงเวลาผ่าตัดพรรค กมธ.นัดถก-เร่งนิรโทษ

 


เชิญ"พิชัย" - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนายวราเทพ รัตนากร ตัวแทนรัฐบาลเข้าพบนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเชิญเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ที่บ้านพักซอยพัฒนาการ 30 กทม. เมื่อ 9 ส.ค.

"พงศ์เทพ-วราเทพ" เดินหน้าทาบ บุคคลสำคัญเข้าร่วมเวทีปฏิรูปการเมือง ล่าสุด "ปู่พิชัย" อดีตหัวหน้าพรรคปชป.-อดีตประธานสภาตอบรับแล้ว ขณะเดียวกันหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย-ประธานวุฒิสภาก็ไม่ขัดข้อง นัดส่งเทียบเชิญ "สุวัจน์" คนต่อไป ด้าน"มาร์ค"ซัด "พิชัย" ไม่เกี่ยวกับปชป. เผยสาเหตุตัดสินใจเป็นกมธ.กฎหมายนิรโทษเอง ด้าน"นายกฯ ปู" ทาบ "โทนี่ แบลร์-โคฟี่ อันนัน" เข้าร่วมเวทีปฏิรูปการเมืองในไทย วางตัวแล้ว "สามารถ แก้วมีชัย" ประธาน "หัวเขียง" รอง มีชวลิต วิชย สุทธิ์ นั่งเลขานุการ



"ปู"ขอบคุณสภาผ่านกม.นิรโทษ

เมื่อเวลา 12.45 น. วันที่ 9 ส.ค. ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สุมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ผ่านสภาในวาระ 1 ว่า ขอขอบคุณส.ส.ทุกคน โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน และพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมพิจารณาและอภิปรายและผ่านความเห็นชอบ ถือว่าทุกอย่างผ่านไปอย่างเรียบร้อย หลังจากนี้หวังว่าเวทีสภาจะเป็นอีกเวทีหนึ่งในการหารือของคณะกรรมาธิการ เพื่อหาทางแก้ปัญหาและทางออกในปัจจุบัน อีกทั้งเวทีสภาจะเป็นบรรทัดฐานเชื่อมโยงไปยังเวทีที่รัฐบาลเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมหารือเพื่อหาทางออกสำหรับอนาคตต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงหรือไม่เพราะฝ่ายค้านระบุจะไม่ให้ผ่านในวาระ 3 นายกฯ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเวทีที่จะพูดคุยกัน เชื่อว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน มีความเข้าใจกัน มองอนาคตข้างหน้าด้วยการเดินไปด้วยกัน เชื่อว่าความเสียสละ การให้อภัยและเห็นแก่อนาคตของลูกหลาน จะมีแรงผลักดันและได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน



ดึง"โทนี่ แบลร์-โคฟี่ อันนัน"ร่วม

เมื่อถามถึงแนวคิดเชิญนายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกฯ แห่งสหราชอาณาจักร และนายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประ ชาชาติ รวมเวทีปฏิรูปประเทศไทย นายกฯ กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากเห็นทิศทางของประเทศในอนาคต นอกเหนือจากการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนผ่านโครงการประชาเสวนา รวมทั้งการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อหาทางออกให้ประเทศ และอีกส่วนหนึ่งคือเวทีที่จะเชิญระดับผู้นำจากต่างประเทศ หรืออดีตผู้นำที่มีประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน ให้ความรู้กับคนไทย เราเน้นการนำประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จมาให้ความรู้กับประเทศไทย เราจะได้เห็นโมเดลหลายๆ แบบจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนำเอาโมเดลของประเทศนั้นๆ มาใช้กับประเทศไทย การจะนำมาใช้หรือไม่ อยู่ที่ความเหมาะสม อยู่ที่เราจะประยุกต์ใช้อย่างไร

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลจะเชิญผู้นำจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศทาบทามอยู่ เบื้องต้นตอบรับมาบ้างแล้ว ส่วนนายโทนี่ แบลร์ และนาย โคฟี่ อันนัน ได้ตอบรับมาแล้วแต่ยังไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนระยะเวลาการจัดเวที อยู่ที่ความพร้อมของผู้นำแต่ละคน เราตั้งใจว่าอยากจะจัดเวทีแบบนี้อย่างต่อเนื่อง เดือนหรือ 2 เดือนครั้ง เพื่อให้ความรู้และเปิดมุมมองใหม่ที่เป็นสากล นานาประเทศปฏิบัติแล้ว เผื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยบ้าง 

"เราอยากเห็นบรรยากาศที่ดี และการเดินไปข้างหน้า เพื่อความปรองดองของประเทศ อย่างน้อยเราน่าจะรับฟังมุมมองจากทั้งในและต่างประเทศ" นายกฯ กล่าว เมื่อถามว่ามีคนอื่นตอบรับเพิ่มเติมอีกหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะแจ้งให้ทราบเมื่อได้รับการตอบรับที่เป็นทางการแล้ว 

เมื่อถามว่าในประเทศไทย ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรยืนยันจะไม่เข้าร่วมเวทีกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่ารัฐบาลจะพยายามเต็มที่ที่จะเปิดในหลายเวที และให้ความรู้ควบคู่กันไป เพื่อเปิดมุมมองต่างๆ ร่วมกันเพื่อประเทศ ซึ่งตนหวังว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสได้ร่วมเวทีกัน 



"ปุ้ม"เผยทั้ง 2 คน-ตอบรับแล้ว

ด้านนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ เปิดเผยว่า นายกฯ ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศ ทาบทามบุคคลสำคัญในเวทีโลกที่มีบทบาทในเรื่องประชาธิปไตยและความปรองดอง ผ่านโครงการ Uniting for the future : Learning from each other"s exper iences ซึ่งได้ทาบทามกว่า 10 คนแล้ว นาย โทนี่ แบลร์ นายโคฟี่ อันนัน ได้ตอบรับคำเชิญแล้ว ซึ่งจะเปิดเวทีในช่วงต้นเดือนก.ย.นี้

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เวทีดังกล่าวจะจัดขึ้นวันที่ 2 ก.ย. นี้ เบื้องต้นทาบทามนายโทนี่ แบลร์ และนายมาร์ติ อาห์ติชาร์ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ จะถ่ายทอดสดและแปลเป็นภาษาไทยทันที เพื่อให้ทุกคนได้รับฟังไปพร้อมกันด้วย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ได้ให้นาย สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ชี้แจงถึงการยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ส่วนการเชิญตัวแทนข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยมาชี้แจงเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม วันที่ 13 ส.ค. นี้ จะแปลหลักการและเหตุผลของร่างดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษเพื่อประกอบการทำความเข้าใจ



"พงศ์เทพ"เผยทาบ"ชวน"ร่วมเวที

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญบุคคลเข้าร่วมเวทีสภาปฏิรูปการเมืองหาทางออกประเทศไทยว่า ขณะนี้ตอบรับเข้าร่วมหลายคนแล้ว โดยได้เชิญนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ รวมทั้งอดีตนายกฯ อีกหลายคนเข้าร่วม แต่บางคนในขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรีและตำแหน่งสำคัญต่างๆ จึงให้คำตอบว่าติดขัดเรื่องสถานะการปฏิบัติหน้าที่ เบื้องต้นหากติดต่อและเชิญได้ครบ คงมีไม่ต่ำกว่า 50 คน และไม่เกิน 100 คน เนื่องจากหากมากหรือน้อยเกินไปจะแสดงความคิดเห็นไม่ทั่วถึง หรือไม่มีความหลากหลาย คาดว่าเปิดประชุมสภาปฏิรูปการเมืองครั้งแรกในสัปดาห์หน้า หากยังไม่ครบจำนวนที่ตั้งไว้ จะเลื่อนออกไป 1-2 สัปดาห์ ซึ่งไม่เกินเดือนส.ค.นี้

นายพงศ์เทพกล่าวว่า บุคคลชาวต่างประเทศที่จะเชิญมาร่วมในชุดแรก นอกจากอดีตนายกฯอังกฤษ ยังมีนางพริสซิลล่า เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาความจริงและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และผู้มีประสบการณ์เรื่องการปรองดองในหลายประเทศมาร่วมด้วย ซึ่งเวทีดังกล่าวเป็นการปาฐกถาและไม่ใช่กิจกรรมเดียวกับเวทีทางออกของประเทศที่ตนเดินหน้าอยู่ ซึ่งเวทีปฏิรูปของเราคือการแลกเปลี่ยนความเห็น แต่การเชิญบุคคลจากต่างประเทศนั้นมาให้ข้อคิดและมุมมองประสบการณ์ของเขา 

นายพงศ์เทพกล่าวถึงการเชิญพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของรัฐบาล พิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพล.อ.สนธิเป็นส.ส.และรู้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดี ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และยังเป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดอง แห่งชาติ พ.ศ. .... ด้วย จึงเป็นการเปิดกว้างแลกเปลี่ยนมุมมองด้านต่างๆ ที่มีประโยชน์กับประเทศ



บุกเชิญปู่พิชัย-เจ้าตัวยินดีเข้าร่วม

ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่หมู่บ้านปัญญา ซอยพัฒนาการ 30 นายพงศ์เทพพร้อมด้วยนาย วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ และรมช.เกษตรฯ เดินทางเข้าพบนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคและสมาชิกประชาธิ ปัตย์ เพื่อส่งหนังสือเรียนเชิญเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ตามแนวคิดของนายกฯ โดยพูดคุยนาน 30 นาที

นายพิชัยเปิดเผยว่า ตนตอบรับคำเชิญ ยินดีเข้าร่วมแก้ปัญหาประเทศ ดีใจที่นายกฯ มีความคิดริเริ่มเรื่องนี้ หากปล่อยให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ต่อไปมันมองไม่เห็นทางจบ ในอดีตเรามีคณะกรรมการแบบนี้หลายเรื่องแต่มันไม่ฟังก์ชั่น ฉะนั้นเมื่อนายกฯ มีความคิดนี้ขึ้นมา จึงดีใจมาก เพราะความขัดแย้งมีมานานแล้ว แต่การทำงานชิ้นนี้ต้องไม่ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย แต่ทำเพื่อประชาชนและบ้านเมือง หวังว่ากรรมการชุดนี้ต้องลดเงื่อนไขและวาระส่วนตัวออกให้หมด เพื่อให้การพูดคุยและการปฏิรูปประสบผลสำเร็จด้วยดี ถ้าใครมีความเห็นก่อนหน้าว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว จะไม่สำเร็จ ทุกคนต้องว่างเปล่าและมาคิดกัน เมื่อคิดกันแล้วอย่ามาทะเลาะในสภาปฏิรูป เพราะจะวุ่นวาย



ขอบคุณนายกฯปู-ที่ให้มีส่วนร่วม


ดูโขน - น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา 12 สิงหา ที่ศาลาเฉลิมกรุง กรุง เทพฯ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.



นายพิชัยกล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นนักการเมือง ถ้ามีอะไรทำได้เพื่อส่วนรวม ตนยินดี ตั้งใจอยู่แล้วว่าต้องการทำให้รถคันนี้พ้นจากหล่มให้ได้ และจะทำด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ บั้นปลายชีวิตแล้ว ถ้าทำงานนี้สำเร็จ ทุกคนในประเทศจะดีใจมาก ที่สำคัญอย่าเอาเรื่องส่วนตัว หรือเอาพรรคเป็นที่ตั้ง เพราะจะไม่สำเร็จ และถ้ากรรมการชุดนี้เห็นว่าการแก้ปัญหาบ้านเมืองเพียงแต่ให้ลืมเรื่องเก่าๆ ไป อย่าคิดถึงมัน ตนคิดว่าไม่ได้เพราะบางครั้งต้องเอาเรื่องเก่ามาดู แม้มันจะเจ็บปวดแต่จำเป็นต้องหยิบขึ้นมา ต้องอดทนเพื่อส่วนรวม และคนที่จะมีความสุขสบายใจที่สุดในเรื่องนี้ คือในหลวง และประชาชน

นายพิชัยกล่าวว่า ต้องขอบคุณที่มาเชิญด้วยตนเอง และขอบคุณนายกฯ ที่ให้ตนมีส่วนร่วมด้วย ถึงแม้จะไม่รู้จักเพราะเป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ตนรู้จักนายเลิศ ชินวัตร บิดา นายกฯ เป็นอย่างดี ตนตอบรับที่จะเข้าร่วม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้ง และอนาคตการเมืองไทยด้วย ตรงกับนายกฯ ที่อยากเห็นการปฏิรูปการเมือง



วอนปชป.เลิกทิฐิ-แนะเสียสละ

เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจะไม่เข้าร่วมสภาปฏิรูป ถ้ารัฐบาลไม่ถอนพ.ร.บ. นิรโทษกรรมออกจากสภา นายพิชัยกล่าวว่า เป็นเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนี้ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะผ่านวาระ 1 แล้ว ตนคิดว่าควรแยกออกจากกันก่อนและมาดูว่ามีทางอื่นหรือไม่ เพราะถ้าจะเจรจาเรื่องใดก็ตาม ถ้ามีเงื่อนไขก่อนล่วงหน้าจะไม่สามารถตกลงกันได้

เมื่อถามว่ามีข้อเสนอแนะไปยังพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า "2 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยไปที่พรรคเลย ครั้งล่าสุดที่เสนอกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เมื่อครั้งเป็นนายกฯ ให้แก้ปัญหาความขัดแย้ง ให้เกิดความปรองดอง แต่ปฏิกิริยาของนายอภิสิทธิ์ไม่ตอบรับ ตรงข้ามกับนายนพดล ปัทมะ อดีตสมาชิกพรรค ที่ตอบรับข้อเสนอของผมอย่างดี ยืนยันผมยังเป็นประชาธิปัตย์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เห็นว่าบ้านเมืองขณะนี้ต้องลดทิฐิและยอมเสียสละ ผมจึงไม่สามารถพูดอะไรได้ตอนนี้ จนกว่าจะมีโอกาสนั่งคุยกันก่อน เวลานี้อยากให้คนที่ตอบรับคำเชิญแล้วให้ปล่อยว่าง อย่าเพิ่งมีวาระส่วนตัว เพราะงานนี้จะไม่สำเร็จ"

เมื่อถามว่าคิดว่าอะไรคือชนวนความขัดแย้งตอนนี้ นายพิชัยกล่าวว่า มีหลายเรื่อง จึงต้องนำมาหารือกันในสภาปฏิรูปการเมือง



เชิญ"อนุทินบิ๊กภูมิใจไทย"ด้วย

ต่อมาเวลา 12.10 น. ที่พรรคภูมิใจไทย นายพงศ์เทพและนายวราเทพเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เพื่อเชิญเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง 

นายอนุทินกล่าวว่า ขอบคุณนายกฯ ที่ให้เกียรติเชิญพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วม ตนเห็นด้วยในหลักการ เพราะการสร้างความสมาน ฉันท์ปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทยฝันมานานแล้ว ตนจะนำเรื่องนี้หารือที่ประชุมพรรคในวันที่ 13 ส.ค. เพื่อกำหนดตัวบุคคลที่เหมาะสมไปเข้าร่วม 

เมื่อถามว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วม สภาปฏิรูปจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ขอไม่ก้าวล่วงความเห็นของแต่ละฝ่าย แต่เชื่อว่าหากแนวทางการปฏิรูปนี้ทำแล้วบ้านเมืองดีขึ้น ทุกฝ่ายจะมาเข้าร่วมเอง 

ด้านนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การตั้งสภาปฏิรูปการเมืองเป็นความตั้งใจที่ดี เพื่อลดความขัดแย้ง สิ่งสำคัญคือจะนำไปปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตนเป็นห่วงคณะกรรม การที่ตั้งขึ้น หากตั้งชุดใหญ่อาจทำให้งานล่าช้า จึงอยากเสนอให้ตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมาพิจารณาแต่ละเรื่อง ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เข้าร่วม แต่หากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์อาจเป็นคู่ขัดแย้งหลัก แต่ลึกๆ เขาคงอยากปรองดองเช่นกัน 



พบ"ปธ.วุฒิ"-วางคิวเจอ"สุวัจน์"

ต่อมาเวลา 15.30 น. ที่ห้องรับรอง อาคารวุฒิสภา นายพงศ์เทพเข้าพบนายนิคม ไวย รัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อเชิญเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ตามแนวคิดของนายกฯ 

นายนิคมกล่าวว่า ชื่นชมแนวคิดนี้เพราะนำบุคคลที่มีความหลากหลายทางความคิดมาช่วยแก้ปัญหาประเทศ ซึ่งตนสนับสนุนอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ได้บนโต๊ะ แต่วุฒิสภาไม่เหมือนสภาผู้แทนราษฎร เพราะ ส.ว.มีความคิดเห็นหลากหลาย โดยเฉพาะความขัดแย้งด้านความคิดทางการเมือง ถ้าตนตอบรับในทันที อาจมีเพื่อนสมาชิกมาโจมตี และหากตนปฏิเสธจะถูกกล่าวหาว่าไม่ช่วยบ้านเมือง ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้อาจมีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่มีความคิดเห็นหลากหลายเข้ามาร่วมด้วย ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับ วิปวุฒิสภาในวันที่ 14 ส.ค. 

นายพงศ์เทพกล่าวว่า นอกจากนายนิคมในฐานะประมุขของวุฒิสภาแล้ว จะเชิญส.ว. จำนวนหนึ่งทั้งสรรหาและเลือกตั้ง เข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองด้วย ซึ่งจะเห็นว่ามีหลายฝ่ายตอบรับแล้ว ส่วนฝ่ายไหนที่ยังลังเลอยู่เราก็ให้เวลาตัดสินใจ เพราะเมื่อเวทีเปิดแล้วเวทีนี้ก็จะเริ่มชี้เองว่าควรเชิญใครเข้ามาร่วมอีก เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่คนส่วนใหญ่ได้ ส่วนนายกฯ จะเข้าร่วมเพียงแค่ครั้งแรกเท่านั้น ไม่ใช่นายกฯ ลอยตัวเหนือปัญหา แต่นายกฯ ต้องการให้เวทีนี้ขับเคลื่อนไปเอง และถ้านายกฯ มาอยู่ตลอดอาจถูกมองว่ารัฐบาลเป็นผู้ชี้นำได้ 

ที่ จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกฯ เปิดเผยว่า วันที่ 10 ส.ค. เวลา 15.00 น. นายพงศ์เทพและนายวราเทพนัดพบตน ที่บ้านพักย่านราชวิถี เพื่อหารือ ตนเห็นว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกัน ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ เพื่อนำไปสู่วิธีการที่ดีที่สุด ให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ การหารือในวันที่ 10 ส.ค. น่าจะทราบรายละเอียดมากขึ้น



มาร์คโวอาสาเอง-นั่งกมธ.นิรโทษ

เมื่อเวลา 14.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคให้สัมภาษณ์ว่า ตนอาสาร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เพราะตั้งใจต่อสู้เรื่องนี้ในทุกขั้นตอน นอกจากนี้ยังเชิญนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตส.ว.กทม. เป็นกมธ.ในสัดส่วนของพรรคด้วย ตนกำชับส.ส.พรรคทุกคนว่าแปรญัตติให้ครบถ้วน เพราะมีเวลาแค่ 7 วัน ซึ่งส.ส.หลายคนทำคำแปรญัตติแล้ว และจะติดตามว่ามีประเด็นอะไรที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญบ้าง เพื่อยื่นให้องค์กรที่เกี่ยวข้องวินิจฉัย หลังจากร่างพ.ร.บ. นี้ผ่านวุฒิสภา

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจะเน้นเผยแพร่ข้อมูลการทำหน้าที่กมธ.และในวาระ 3 จัดกิจกรรมกระตุ้น เชิญชวนประชาชนมารวมพลังคู่ขนานเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ ตนสงสัยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่อยู่ร่วมฟังการอภิปรายในสภา เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการร่วมลงมติในวาระ 1 หรือไม่

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมทำทุกอย่างโดยไม่ฟังเสียงท้วงติง ไม่ใช่เฉพาะภายใน รวมทั้งภายนอกประเทศด้วย ทั้งนี้ ต้องรอดูบรรยากาศในที่ประชุมกมธ.ที่จะประชุมในสัปดาห์หน้าก่อนว่าการทำงานเป็นอย่างไร เราจะทำงานเต็มที่ หากมีประเด็นสำคัญแล้วกมธ.ไม่หยิบขึ้นมาพิจารณา จะยิ่งฟ้องตัวเองว่าพยายามผลักดันกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลายอย่าง ซึ่งตนจะชี้แจงประชาชนต่อไป



ซัดปู่พิชัยรับส่วนตัว-ไม่เกี่ยวปชป.

ผู้สื่อข่าวถามถึงนายพิชัยตอบรับเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ แต่นายพิชัยไม่ใช่ตัวแทนของพรรค เข้าร่วมในฐานะอดีตประธานรัฐสภา ซึ่งได้คุยกับนายพิชัยล่วงหน้าแล้ว เพราะในพรรควิเคราะห์กันว่านายพิชัยอยู่ในข่ายที่ตัวแทนรัฐบาลจะขอพบ และนายพิชัยคงมาในแนวนี้ ส่วนที่นายพิชัยวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ขัดขวางการปรองดองนั้น พรรคไม่ได้ขัดขวาง ก่อนหน้านี้นายกฯ บอกว่าขอให้ทุกอย่างอยู่ในเวทีสภา แต่เมื่อประชุมสภา นายกฯ ก็ไม่เข้าร่วม เลี่ยงไม่ตอบถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการผลักดันร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ทั้งนี้ ยอมรับว่าสมัยที่เป็นนายกฯ นายพิชัยเคยขอเป็นตัวแทนไปพบกับพ.ต.ท. ทักษิณที่ดูไบ เพื่อสร้างความปรองดอง แต่ตนเห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงไม่ทำตามข้อเสนอ และตนเคยคุยกับนายพิชัยไปแล้ว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนที่พรรคภูมิใจไทยตอบรับเข้าร่วมสภาปฏิรูปนั้น ถือเป็นสิทธิ์ ส่วนพรรคจะเดินหน้าคัดค้าน แม้จะเหลือเพียงพรรคเดียว ไม่คิดว่าถูกโดดเดี่ยว เพราะเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่มีจุดยืนสอด คล้องกับสิ่งที่เราเสนออยู่ และไม่ว่าพรรคจะเข้าร่วมหรือไม่ รัฐบาลก็เดินหน้าอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลมีท่าทีไม่รับฟังความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ หากรัฐบาลตั้งโจทย์และนำสู่การรื้อรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่แปลกใจ เพราะนั่นคือเป้าหมายของรัฐบาลที่จะทำคู่ไปกับการนิรโทษกรรม ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญจะนำสู่การล้างผิดให้คนอื่น และแก้ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ แต่คิดว่าเขาทำไม่สำเร็จ เพราะไม่เชื่อว่าหลักการที่อยู่บนความไม่ถูกต้อง จะทำได้อย่างราบรื่น สุดท้ายเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่จะมองเห็นว่าการรักษาความสมดุลและความถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญกว่า

10 ส.ค. 56 เวลา 11:01 1,141 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...