ไขความลับเรือไททานิก

หลายคนคงยังจำหนังโรแมนติกอย่าง “ไททานิก” ได้ดี หนังเรื่องนี้เป็นฝีมือกำกับฯ ของเจมส์ คาเมอรอน ผู้เคยฝากผลงานอันลือลั่นไว้หลายเรื่อง แม้ว่าคาเมอรอนจะปิดฉากตำนานรักระหว่างแจ๊คกับโรสในไททานิกไปนานแล้ว แต่เขาก็ยังมีบางอย่างที่ค้างคาใจ เพราะสร้างหนังเรื่องนี้จนสำเร็จ หากทว่าไม่เคยได้สัมผัสหรือเห็นตัวจริงของนาวาลำนี้เลย จินตนาการของเขานั้นมันถูกต้องกับของจริงหรือเปล่า  ดังนั้น คาเมอรอน จึงจัดทีมงาน ดำลงไปสำรวจซากเรือยักษ์ใต้สมุทรลำนี้ในเวลาต่อมา

ไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งและอับปางลงในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 หรือกว่า 80 ปีมาแล้ว ซากเรือลำนี้จมอยู่ใต้ความลึกถึง 12,500 ฟุต (ราว 4 กิโลเมตร) ซึ่งความลึกขนาดนี้จะมีแรงอัดมหาศาลถึง 5,500 ปอนด์ต่อ ตารางนิ้ว ด้วยเหตุนี้การดำลงไปสำรวจจึงต้องใช้ยานพิเศษที่ชื่อว่า เมียร์ (MIR) ซึ่งสามารถดำได้ลึกถึง 20,000 ฟุต และให้แสงสว่างที่ทำให้เห็นอะไรต่ออะไรได้ เนื่องจากใต้สมุทรนั้นมืดมิดไร้แสงใดๆ นอกจากนี้ ยังมีสายเคเบิลไฟเบอร์ออพติกพ่วงโยงไปยังเรือบนผิวน้ำ เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างการสำรวจด้วย ซึ่งก็เป็นที่หวั่นเกรงกันนักหนาว่า ถ้าหากสายเคเบิลอันยาวเหยียดนี้ขาดผึงลง ก็อาจม้วนพันรัดเอายานเมียร์จมดิ่งอยู่ใต้สมุทรตลอดกาล


ขอย้อนเล่าถึงความหายนะที่เกิดขึ้นนิดนึง เมื่อตอนที่เรือสำราญสุดหรู ขนาด 46,000 ตัน แล่นชนภูเขาน้ำแข็งนั้น รูทะลุที่เกิดขึ้นไม่ใช่สาเหตุสำคัญ ของการจม แต่เป็นเพราะแผ่นเหล็ก ลำเรือที่ทยอยกันฉีกขาด และทำให้น้ำทะเล ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว อันที่จริงไททานิกได้ป้องกันไว้แล้ว โดยสร้างห้องเก็บน้ำเป็นช่องๆ หากน้ำทะลักเข้ามาใน 2 ห้องด้านหน้า หรือแม้แต่ใน 4 ห้องแรกก็ไม่เป็นไร แต่รอยทะลุเกิดขึ้นในห้องที่ 5 จึงต้องอับปางลง

 


The Grand Staircase

ขณะที่จมดิ่งลงมาลึกราว 300 เมตร ลำเรือก็แตกร้าวเป็นสองท่อน ด้านหัวเรือซึ่งยาวกว่าพุ่งนำลงมาก่อน ลากเอาส่วนท้ายตามลงมาในแนวดิ่ง แล้วก็หักหลุดจากกัน ท่อนหัวดำดิ่งพุ่งลิ่วยังกับตอร์ปิโด โครงสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ กระจัดกระจายไปทั่ว แล้วหัวเรือก็ปักจมลงไปในโคลนใต้สมุทรลึกประมาณตึก 6 ชั้น และซากส่วนนี้แหละที่คาเมอรอนกับคณะสนใจสำรวจ

เอกลักษณ์อันติดตรึงใจของไททานิกก็คือ บันไดใหญ่หรือแกรนด์สแตร์เคส (The Grand Staircase )ที่สร้างอย่างอลังการ ด้วยไม้โอ๊คแกะสลักบันไดนี้ทอดยาวจากชั้นดาดฟ้า A จนถึง E รวมหกชั้นด้วยกัน ประดับด้วยราวทองเหลืองและบรอนซ์เป็นมันแวววาว อภิมหาบันไดนี้ เป็นที่สงสัยกันมานานถึงชะตากรรมที่บังเกิดกับมันว่าเป็นฉันใด


แต่แรกนั้นเข้าใจกันว่าแกรนด์ บันไดนี้คงพังพินาศอยู่กับใจกลางเรือ หากทว่าคณะสำรวจกลับไม่เห็น ร่องรอยของมัน แม้ว่าจะมีเศษไม้ และราวเหล็กเกลื่อนกลาด แต่ก็เป็นชิ้นส่วนที่ตกลงมาจากเพดานห้อง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าบันไดยักษ์นี้ หลุดออกจากฐาน และลอยขึ้นสู่เหนือน้ำทั้งแผง แต่มีข้อมูลจากผู้รอดตาย หรือไม่ว่าได้พบเห็นบันไดนี้ลอยขึ้นมา

แจ๊ค ธาเยอร์ หนึ่งในผู้รอดชีวิตให้การว่า เขาเห็นส่วนหัวเรือลอยอยู่เหนือน้ำ (ซึ่งแท้จริงยังจมอยู่ใต้โคลน) ดังนั้น เป็นไปได้ไหมว่า สิ่งที่เขาเห็นนั้นคือ ซากของบันได นอกจากนี้ ยังมีรายหนึ่งซึ่งเกาะท่อนไม้ล่องลอยอยู่จนมีเรือมาช่วยไว้ แต่ก็อีกนั่นแหละ เราไม่อาจรู้แน่ชัดว่าไม้ท่อนนั้นเป็นเศษของบันไดหรือไม่



Wallace Hartley

คณะสำรวจมุ่งต่อไปยังดาดฟ้าที่ไว้เรือชูชีพ ณ ที่นั้นคือ ฉากสุดยอดแห่งความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นในระหว่างเรือใกล้จม ที่นี่มีเสาห้อยเรือบดซึ่งสูงราว 4 เมตร ส่วนเรือบดหรือเรือชูชีพนั้นยาวลำละ 10 เมตร มีอยู่ 4 ลำ ซึ่งผู้โดยสารที่เหลือคงจะรุมล้อมแหงนมองมันอย่างมิรู้จะทำฉันใด

และที่ดาดฟ้านี่เอง ที่มีเหตุการณ์อันเหลือเชื่อ นั่นคือ นักดนตรีทั้งหลายแห่ง วงออร์เคสตราได้ร่วมใจ กันขึ้นมาบรรเลงเพลง เพื่อให้ผู้โดยสาร ที่ตื่นตระหนกได้สงบลง เพลงสุดท้ายเป็นเพลงช้าๆ ที่คาดกันว่าชื่อ Nearer My God To Thee ผู้กำกับวงที่มีนามว่า วอลเลซ ฮาร์ทลีย์ ได้รับความยกย่องในสมาธิ และความกล้าหาญที่คุมวงบรรเลง จนหยดสุดท้าย นักดนตรีทั้งหมดเสียชีวิต และได้พบร่างของฮาร์ทลีย์ในภายหลัง เขาได้รับพิธีฝังเยี่ยงวีรบุรุษ



จุดสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ ห้องวิทยุ นับเป็นโชคดีที่ยุคนั้นได้มีการสื่อสาร แบบไร้สายกันแล้ว โดย มาร์โคนี เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องส่งวิทยุขึ้น ซึ่งถ้าหากไททานิกไม่ได้ส่งสัญญาณวิทยุ ไปยังเรือต่างๆ ให้มาช่วย โดยเฉพาะเรือคาร์พาเธียแล้วละก้อ คงมีผู้เสียชีวิตกลางทะเล มากกว่านี้อย่างแน่นอน


จากซ้าย Jack Pillipis (ตายในคืนนั้น) Harold Birde (ตายในปี 1956)

ในห้องส่งวิทยุนี้ คณะสำรวจพบอุปกรณ์ ต่างๆ ยังอยู่เกือบครบครัน นับตั้งแต่ไดนาโม ที่มีมอเตอร์ต้นกำเนิดพลังงานที่ใช้ส่งวิทยุ แผงสวิตช์ต่างๆ ซึ่งตำนานไททานิกในเรื่องนี้มีระบุว่าคืนก่อนหน้าความหายนะ อุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุเกิดขัดข้อง แต่เนื่องจากผู้โดยสารส่วนใหญ่ล้วนเป็นเศรษฐี และต้องการที่จะสื่อสารไปยังครอบครัวเพื่อเล่าถึงการเดินทางอันสุดแสนประทับใจนี้ ดังนั้น จึงมีหนุ่มน้อยสองคนขันอาสาเข้าแก้ไขอุปกรณ์ และหลังจากปลุกปล้ำอยู่นานถึง 6 ชั่วโมง แจ๊ค ฟิลลิปส์ กับ ฮาโรลด์ ไบรด์ ก็พบสายไฟลัดวงจรต้นเหตุ แล้วจึงจัดการซ่อมแซมจนสำเร็จใช้งานได้



 

 


ซ้าย : ภาพจำลองเครื่องยนต์ของเรือไททานิก    ขวา : ภาพถ่ายจริงของเครื่องยนต์ 

ต่อข้อสงสัยว่าพนักงานวิทยุ ได้อยู่ปฏิบัติการจนวาระสุดท้าย ของเรือหรือไม่ ข้อนี้ไบรด์กล่าวว่า พนักงานยังคงอยู่อย่างกล้าหาญ ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ ผู้ที่รอดชีวิต 703 คนนั้น ล้วนเป็นหนี้บุญคุณ เครื่องส่งวิทยุชิ้นนี้

มีความลับหนึ่งซึ่งผู้โดยสารไม่เคยล่วงรู้ นั่นคือได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ในห้องเครื่องของ ไททานิก เพลิงได้ลุกไหม้ ในกองเก็บถ่านหิน ซึ่งอยู่ระหว่างหม้อไอน้ำสองหม้อ เหตุนี้อาจเกิดขึ้นก่อนออกเดินทาง แต่ลูกเรือไม่สามารถดับไฟได้ จึงต้องใช้วิธีโกยถ่านที่ลุกแดงโยนเข้าเตาไฟ และสุดท้ายก็ควบคุมเพลิงไว้ได้ในคืนก่อนหน้าการอับปาง พวกเขาเอาน้ำมันดำทาบริเวณที่ถูกไฟไหม้เพื่อปิดบังร่องรอย แต่ลูกเรือสองคนให้การในภายหลังว่า ผนังห้องเครื่องระหว่างห้องหม้อไอน้ำ 5 กับ 6 โก่งบิดอย่างเห็นได้ชัด เหตุการณ์นี้ทำให้บางคนเชื่อว่าส่งผลให้ลำเรือชำรุด และมีส่วนในการที่จมลงอย่างรวดเร็ว


ท้ายที่สุด คาเมอรอนกับคณะก็ได้สำรวจถึงส่วนนันทนาการของผู้โดยสารไททานิก มีบริการให้ครบถ้วนเหมือนสปอร์ตคลับ ไม่ว่าจะเป็นเตอร์กิชบาธ หรือสปาในปัจจุบันนั่นเอง เมื่อ 80 ปีก่อนโน้นสปาเป็นที่นิยมกันมาก ค่าเตอร์กิชบาธ บนไททานิกก็เพียงแค่ 1 เหรียญ แต่ถ้าคุณสมัครใจจะว่ายน้ำในสวิมมิงพูลก็ 24 เซนต์ ค่าเล่นสควอช 50 เซนต์ ต่อชั่วโมง (ในขณะที่ค่าโดยสารห้องสวีต พิเศษสุด 3,300 เหรียญ หรือราว 130,000 บาท และชั้นต่ำสุดแค่ 33 เหรียญ)

คณะสำรวจต้องตื่นตะลึง เมื่อเห็นภายในห้อง เตอร์กิชบาธอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก ทั้งนี้เพราะวัสดุที่ใช้ล้วนเป็น ประเภทที่ไม่ถูกน้ำทะเลกัดกร่อน (ดังเหล็ก) อาทิ ไม้สัก เครื่องเซรามิก พรมน้ำมัน โคมไฟ บรอนซ์ ฯลฯ


สิ่งที่น่าแปลกใจอีกอย่างหนึ่งคือ เฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องประดับใหญ่ๆ จะพินาศมากกว่าชิ้นเล็กๆ เช่นว่า แกรนด์เปียโน จะคว่ำเค้เก้อยู่อีกฟากหนึ่งของห้อง ในขณะที่แก้วน้ำแบบบาง บนหิ้งกลับไม่กระทบกระเทือน ไม่มีแม้แต่รอยร้าว!?

และนี่ก็คือเรื่องราวความลับใต้สมุทรของซากเรืออับปางที่เรียกขานกันว่า "ไม่มีวันจม"

Credit: นสพ.ไทยรัฐ และhttp://www.artsmen.net
17 มี.ค. 53 เวลา 13:42 5,688 38 3,676
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...