การประกาศผลแอดมิชชั่นที่เสร็จสิ้นไปนั้นสร้างทั้งความยินดีและเสียใจให้กับนักเรียน ม.6 ที่ลุ้นผลสอบ ตัวชี้วัดอนาคตของตนเองอย่างจดจ่อ บางคนสมหวัง บางคนผิดหวัง และตามเคยในปีนี้ก็มีเด็กนักเรียนที่สอบได้อันดับหนึ่งของประเทศด้วยคะแนนรวมมากถึง 94.29% คะแนนที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า เด็กไทยจำนวนไม่น้อยมีความรู้ความสามารถมากพอที่จะแข่งขันกับนานาประเทศทั้งในอาเซียนด้วยกัน หรือรวมไปถึงระดับโลก
แต่ในทางกลับกันยังมีเด็กนักเรียนอีกจำนวนไม่น้อยที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือการที่ครูผู้สอนขาดทักษะความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง แม้จะเป็นโรงเรียนในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ ก็มีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของนโยบายยุบรวมโรงเรียนระดับประถมศึกษาขนาดเล็กกว่า 17,000 แห่งทั่วประเทศ ของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่ากาารกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้เหตุผลว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีมาตรฐานการศึกษาต่ำกว่าโรงเรียนทั่วๆ ไป อีกทั้งจำนวนครูมีไม่เพียงพอ อาจทำให้ประสิทธิภาพการสอนด้อยลง
ประเด็นการยุบโรงเรียนจึงกลายเป็นที่ถกเถียงของหลายฝ่าย มีทั้งส่วนที่เห็นด้วย เช่น นางประหยัด ศรีบุญชู คณะกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ ที่กล่าวว่าในจังหวัดกระบี่เคยมีรการยุบรวมโรงเรียน ซึ่งช่วยลดภาระหน้าที่ของครูให้น้อยลง หากรัฐบาลมีการจัดการที่ดีก็คาดว่าจะส่งผลดี ส่วนนายบุญเสริม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็กล่าวในส่วนที่เห็นด้วยว่า โรงเรียนขนาดใหญ่มีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์และบุคลากรทางการศึกษามากกว่า
ขณะที่ฝ่ายไม่ห็นด้วย เช่น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ต้องการให้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ถ้ายุบโรงเรียนแล้ว ภาครัฐจะจัดการศึกษาให้ทัดเทียมกันได้หรือไม่ ในส่วนของนักวิชาการ รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าไม่ควรอิงเกณฑ์จากจำนวนนักเรียน แต่ให้ดูความพร้อมของเด็กในการเดินทาง อย่างพื้นที่ห่างไกล และกันดารประกอบด้วย
เสียงสะท้อนเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าความต้องการยุบโรงเรียนไม่ควรมองเพียงฉาบฉวย เพราะแท้จริงแล้วระบบการเรียนการสอนและหลักสูตรต่างหากที่จะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่จำนวนนักเรียนและครู หรือขนาดที่ตั้งของโรงเรียน หากเริ่มปลูกฝังให้เด็กนักเรียนคิดเอง ทำเอง มากกว่าการท่องจำ หรือฟังตามครูอย่างเดียว การเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้ลงมือลองผิดลองถูก เรียนแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ และต่อยอดจนเข้าใจในวิชานั้นๆ เอง น่าจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น คุณภาพการศึกษา มากกว่า
การหันมาใส่ใจกับหลักสูตรการศึกษาก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะในอีกไม่ถึง 2 ปี ประทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจากผลสำรวจจาก สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ระบุว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ขณะที่ทักษะภาษาอังกฤษของ 10 ประเทศในอาเซ๊ยน ประเทศไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 8 ซึ่งมีประเทศลาวและกัมพูชาเป็นลำดับที่ 9 และ 10 ตามลำดับ ข้อมูลนี้น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ผู้ใหญ่ในประเทศควรหันมามองและช่วยกันหาทางออก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงเรียนบางโรงเรียนจะมีขนาดเล็ก มีจำนวนนักเรียนและครูน้อย แต่ก็มีระบบการจัดการที่ดี มีระบบพี่สอนน้องช่วยน้องทำการบ้าน มีรุ่นพี่มาแนะแนวการศึกษา เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครู นักเรียนเหล่านั้นก็มีคุณภาพในด้านการศึกษา ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าจะนำมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กได้
ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าบทสรุปเรื่องการยุบโรงเรียนจะเป็นอย่างไร อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงคุณภาพการศึกษา และคุณธรรมจริยธรรมที่เด็กนักเรียนจะได้รับมากที่สุด เพื่อให้สามารถเทียบเท่าระดับอาเซียนได้อย่างสง่าผ่าเผย
MThai News