ภาษาไทย ในยุคปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะมีศัพท์ใหม่เกิดขึ้นมามากมาย เพราะการเปลี่ยนแปลงของภาษา เป็นไปตามกาลเวลา และกระแสของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้บรรดาผู้ใหญ่หลายคน ยังไม่คุ้นหูกับศัพท์ ที่ไม่คาดคิดว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
โดยวันภาษาไทย ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป ทำให้มีการพิจารณาว่า “การใช้คำศัพท์ใหม่ๆของวัยรุ่นนั้น สามารถยอมรับได้หรือไม่” ซึ่งนายอุดม วิโรตม์สิกขดิตถ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสถาน ได้ออกมาระบุว่า คำศัพท์ใหม่วัยรุ่นสามารถนำมาใช้ได้ ถ้าใช้สื่อสารได้เข้าใจ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร
เพราะธรรมชาติของภาษานั้นมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
และที่ผ่านมา ราชบัณฑิตยสถานมีการรวบรวม พจนานุกรมคำใหม่ ทั้งคำศัพท์ใหม่-ศัพท์วัยรุ่น-คำแสลง ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 นับ 1,000 คำ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า และรวบรวมข้อมูลคำใหม่ต่างๆ และบันทึกคำเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐานแสดงการเกิด และการเปลี่ยนแปลงของคำที่ใช้ในสังคมไทย
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงของภาษานั่นก็คือ เมื่อย้อนกลับไปดูวรรณกรรมไทยโบราณ ละครย้อนยุค หรือหลักฐานทางวรรณคดีต่างๆ ก็จะพบว่า มีบางคำที่วัยรุ่นไม่คุ้นหูเช่นเดียวกัน และถูกเลิกใช้ไป เป็นความเปลี่ยนแปลงของภาษาทั้งเกิดขึ้นใหม่ และสูญไป เช่นคำว่า ขอรับ(ครับ) อุรา(จิตใจ)
แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การใช้คำให้ถูกต้องตามความหมายที่สื่อสาร และการเขียนให้ถูกต้อง แม้ว่าจะเป็นคำใหม่ ก็จะต้องเขียน และอ่านให้ตรงกับหลักภาษาเช่นกัน ฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ
จิ้น หมายถึง จินตนาการ ตัวอย่าง ดาราทั้งสองเป็นคู่จิ้นกัน
ฟิน หมายถึง ที่สุด สุดๆ มาจากภาษาฝรั่งเศส ฟินาเล่ (Finale) และถึงจุดไคลแมกซ์
จุงเบย เพี้ยนมาจากคำว่า จังเลย ตัวอย่างเช่น น่ารักจุงเบย
คีบับ มาจากคำว่า คือแบบ
บ่องตง มาจากคำว่า บอกตรงๆ
อัลไล มาจากคำว่า อะไร
แอ๊ว หมายถึง ยั่วยวน จีบ
ซั่ม หมายถึง มีเพศสัมพันธ์
โลกสวย หมายถึง ผู้ที่มองในแง่ดีไปทุกเรื่อง
ติ่ง หมายถึง แฟนคลับ ผู้คลั่งไคล้
หรา มาจากคำว่า หรือ, เหรอ เช่น จริงหรือ จิงเหรอ (คนละความหมายกับคำว่า โชว์หรา)
หยั่มมา มาจากคำว่า อย่ามา เช่น อย่ามาทำอวดดี
เตง หมายถึง ตัวเอง ใช้เรียกกับคนอื่น เช่น ไปทำอะไรมาอ่ะเตง
น่ามคาน หมายถึง น่ารำคาญ
ฝุดฝุด มาจากคำว่า สุดสุด
เมายาคุม ใช้เรียกคนที่มีอาการเบลอ ทำอะไรไม่อยู่กับร่องกับรอย คล้ายกับคำว่า เวิ่นเว้อ
ช๊ะ (ใช่ป่ะ) ใช้พูดต่อท้ายประโยค
อุต๊ะ คำอุทานมาจากคำว่า อุ้ยตาย
อย่างไรก็ตาม คำเหล่านี้ มักจะเกิดมาแล้วหายไปตามกระแส อยู่ได้เพียงไม่นาน แม่ว่าจะไม่ใช่เรื่องผิดในการสื่อสาร แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องคงรักษาภาษาไทยที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เอาไว้ ทั้งการพูดในที่ชุมชน การเขียนหนังสือรายงานต่างๆ รวมถึงการสื่อสารกับผู้ที่ไม่คุ้นเคยหรือพูดคุยอย่างเป็นทางการ
เพราะภาษาไทย ถือเป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติ ชาวต่างชาติหลายคนก็ให้ความสนใจเรียนภาษาไทยกันมากขึ้น แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็หันมาเรียนภาษาไทย จึงควรทำให้ภาษาไทยเข้าใจง่ายและถูกต้อง
MThai News