ประยุทธ์ รับ เจ็บปวดถูกมองทหารยิงปชช. ลั่นไม่ทิ้งลูกน้อง ปมศาลชี้ 6 ศพ แค่อยู่ในขั้นไต่สวน ยังไม่ถึงขั้นตอนทหารแจงต้องสู้อีก 3 ศาล คดีจบเมื่อไรยังไม่รู้
เมื่อเวลา 07.30 น. 9 ส.ค.56 ผู้สื่อข่าว MThai News รายงานว่า ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศลพร้อมถวายราชสักการะและถวายพระพรชัยมงคล เพื่อแสดงความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา 81พรรษา
ถึงกรณีที่ศาลอาญาอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 6 ศพว่า ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามระหว่างเหตุการณ์กระชับพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ว่า ขั้นตอนนี้เรียกว่าขั้นตอนการไต่สวน ในกรณีที่มีผู้ไปร้องเรียนว่า มีการบาดเจ็บ สูญเสีย หรือเสียชีวิต จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ก็จะต้องมีการไต่สวน
ซึ่งผู้ที่ไปร้องนั้น ศาลจะเรียกไปชี้แจง ซึ่งพยานส่วนใหญ่ที่ไปชี้แจงเป็นพยานฝ่ายผู้เสียหาย ส่วนพยานที่ถูกกล่าวหา คือ กองทัพบกแทบยังไม่ได้เข้าไปชี้แจงเพราะยังไม่ได้อยู่ในขั้นตอนตรงนั้น วันนี้ที่ศาลท่านได้สรุปมา ตนไม่อยากเข้าไปก้าวล่วง เพราะเป็นการตัดสินโดยศาลอาญาในการไต่สวน
หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือ การเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อสู้ในการหาพยานหลักฐานมาต่อสู้กันอีก 3 ศาล จบเมื่อไรยังไม่รู้ และตนยืนยันอยู่เสมอว่า กองทัพบก ได้รับคำสั่งหรือสั่งการลงไปไม่เคยสั่งให้ไปทำร้ายใครทั้งสิ้น และยังไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาสักคนที่ยืนยันว่าเขายิงคนเสียชีวิต ทุกอย่างเป็นไปตามระบบการทำงานทั้งสิ้น
และทำงานด้วยความตั้งใจที่จะทำให้สถานการณ์ลดระดับลงไปสู่เหตุการณ์ปกติ ขอให้มองเรื่องนี้ให้เป็นกระบวนการยุติธรรมดีกว่า ตนไม่อยากไปตอบโต้ในสื่อต่างๆให้วุ่นวาย ตนเป็นฝ่ายที่เคารพกฎหมาย บางครั้งตนต้องยอมเจ็บปวดเอง คือ การที่กองทัพบกถูกกล่าวหา และผู้ใต้บังคับบัญชาจะมองว่าผู้บังคับบัญชาไม่ดูแลเขา
ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กระชับพื้นที่เมื่อปี 53 จนถึงวันนี้ ทุกคนที่ปฎิบัติหน้าที่ ทุกคนที่ถูกเรียกไปสอบปากคำ ทุกคนที่บาดเจ็บ และสูญเสีย ทางกองทัพบกดูแลทั้งสิ้น เพียงแต่เราไม่ได้เสนอเป็นข่าวเท่านั้น เรามีคณะกรรมการ ฝ่ายกฎหมายดูแลเรื่องนี้อยู่ เราเอาสำนวนต่างๆมาดู และตรวจสอบทั้งหมด
การจะไปให้การอะไรต่างๆ ต้องให้การในข้อเท็จจริง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นกระบวนการ หากมีการกล่าวหาต้องว่ากันไปตามตัวบทกฎหมาย ถ้าเราไม่รู้จักว่า อะไรคืออะไร มันจะไปไม่ได้ และไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้สักอย่าง สิ่งนั้นยังไม่จบเดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาใหม่ เงื่อนไขตรงนี้ก็มีอีก แล้วจะอยู่กันอย่างไร ผมไม่รู้จะตอบกันอย่างไร แล้วอย่ามองว่า กองทัพบกเป็นจำเลย กองทัพบกไม่ใช่จำเลย
ส่วนกรณีที่มีการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า เป็นกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งในตอนนี้ผ่านวาระที่ 1 แล้ว เหลือวาระ 2 และ 3 ตนไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหรือไม่ ซึ่งเท่าที่อ่านดูจากสื่อเห็นว่า อาจจะมีการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกันอีก ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นต้องว่ากันไปตามกระบวนการ
ส่วนกองทัพเราเป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งจะต้องยืนหยัดดูแลบ้านเมือง วันนี้มีข้อขัดแย้งมากมายหลายประการ เราต้องปล่อยให้กระบวนการทุกกระบวนการเดินหน้าไปให้ได้ นั่นคือสิ่งที่เราควรกระทำ ไม่ใช่ว่า เดินได้เพียงครึ่งๆกลางๆ แล้วไปหยุด แล้วมาเริ่มต้นใหม่อย่างนี้ก็ต้องมาเริ่มผิดใหม่กันอีก อยากให้สิ่งเหล่านี้เดินไปก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้มีกระบวนการอยู่แล้ว ทุกอย่างยังอยู่ครบ
องค์กรของรัฐ ศาลทุกศาลยังอยู่ครบ กฏหมายทุกตัวยังใช้อยู่ก็ให้เดินหน้ากันต่อไป ประชาชนในประเทศไทยมี 60 กว่าล้านคน ก็แสดงความคิดเห็นกันออกไป นี่แหละคือ สิ่งที่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เราต้องรู้หน้าที่รู้ว่าอะไร คือนิติรัฐ นิติศาสตร์ นิติธรรม อะไรคือความถูกต้อง ต้องสอนกัน อยากให้คนไทยเรียนรู้ว่า เราจะอยู่กันอย่างไรในวันนี้ ปัญหาที่มาทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นปัญหาที่สอนให้คนไทยเข้มแข็งขึ้น ให้สังคมไทย และองค์กรทุกองค์กรในประเทศชาติ เข้มแข็งขึ้น
ขณะเดียวกันตนไม่ได้ย้อนกลับไปปัญหาเก่า ตนพูดถึงว่า ปัญหาต่อไปข้างหน้า คือ ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งจะมาอีกมากมายในการเป็นประชาคมอาเซียน ทุกประชาคมจะต้องแข่งขันกันเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่อันตรายที่จะเกิดกับประเทศไทย ถ้าเรารบกันเองอยู่แบบนี้ ตนว่า เราไม่เข้มแข็งพอจะไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และจะเป็นประเทศที่อ่อนแอที่สุดในประชาคมอาเซียน
เพราะปัญหาภายในประเทศที่แก้ไม่ได้ และปัญหาภายนอกที่จะตามเข้ามาอีก ซึ่งจะซ้ำเติมให้อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ผมคิดว่า จะทำอะไรก็ทำกัน โดยใช้กระบวนการที่ถูกต้อง ชอบธรรมตามกฎหมายประชาธิปไตย แก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วก่อนปี 58 ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็ถอยหลัง ผมเป็นห่วงเท่านี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขณะที่นายนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถามถึงผบ.เหล่าทัพ ว่ามีจุดยืนอย่างไร ที่จะมีการนิรโทษกรรมผู้ที่ทำความผิดมาตรา 112 นั้น ตนเคยตอบไปแล้วว่า อะไรก็ตาม ถ้าได้มีการเดินตามกระบวนการทางกฎหมาย และถูกต้อง ตนไม่สามารถไปขัดขวางได้ แต่ถ้าอะไรไม่ถูกต้องและชอบธรรม สิ่งนั้นก็ผ่านไปไม่ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
นี่คือกระบวนการประชาธิปไตย ตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมไทยในขณะนี้ กฎกระทรวงกลาโหมเขียนไว้ชัดเจนว่า ทหารจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองดำเนินการ ไม่พูดจาขัดขวางต่อต้านกับรัฐบาล ไปดูกฎกระทรวงกลาโหมที่เขียนมา ตนพยายามยืนหยัดอยู่ตรงนั้น
ส่วนกองทัพมีหน้าที่ป้องป้องสถาบันจะยอมได้หรือไม่นั้น ตนขอถามว่าจะให้ตนปกป้องด้วยอะไร ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์หรือ ตนทำอะไรมากมายพอสมควร ซึ่งตนพูดคุยกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่จำเป็นที่จะมาพูดออกสื่อ เพื่อประชาสัมพันธ์ เพราะไม่ใช่เรื่อง
เราทำหน้าที่ตามกฎหมายเขาว่าอย่างไรก็ทำตามนั้น ใครละเมิดมาตรา 112 ถ้าเกินกว่าเหตุ หรือพูดจาพบปะพูดคุยแล้วไม่รู้เรื่องจะต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ซึ่งเป็นขั้นตอนของตำรวจและกระทรวงไอซีทีดำเนินกันไป ไม่ใช่ทหารตั้งแต่ต้นจนจบ ต้องเข้าใจหน้าที่ของแต่ละคน ทหารไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมาย คดีอาญา คดีแพ่ง ทหารไม่มีอำนาจตรงนี้
ถ้ามีได้ก็ตามกฎอัยการศึกเท่านั้น หรือตามประกาศ พ.ร.บ. มั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เท่านั้น ที่ทหารสามารถออกมาทำงานนอกหน่วยได้ ตนยังรักชาติบ้านเมือง รักสถาบัน และประชาชนเหมือนเดิม แต่ตนจะต้องดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม และเป็นไปตามกฏหมาย เป็นสิ่งที่ตนยืนยันอยู่เสมอ อย่ามาทำลายเกียรติยศและศักดิ์ศรีกองทัพบก คนที่พูดจาใส่ร้ายให้เกิดความเสียหาย ขอให้ระมัดระวังตัวเองเพราะกฏหมายมีอยู่
MThai News