Joan of Arc สตรียอดนักรบ และนักบุญผู้ยิ่งใหญ่

Joan of Arc สตรียอดนักรบ และนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ 


ในปี ค.ศ.1424 Jeanne d’ Arc (ชื่ออังกฤษคือ Joan of Arc) สาวฝรั่งเศสวัย 12 ปีผู้ถือกำเนิดที่หมู่บ้าน Domrémy ในแคว้นลอร์แรน (Lorraine) เที่ยวบอกชาวบ้านว่านักบุญ Michael, Catherine และ Margaret ได้มาปรากฏกายให้เธอเห็นบ่อย และกล่าวบอกกับเธอว่าฝรั่งเศสจะต้องขับไล่กองทัพอังกฤษที่ยึดครองฝรั่งเศสออกไปให้หมด และให้เธอเป็นแม่ทัพในการกอบกู้อิสรภาพครั้งนี้ นอกจากนี้ก็ให้เธอเดินทางไปเข้าเฝ้าเจ้าชายรัชทายาทที่เมืองชินง (Chinon) ด้วย เพื่อทูลเจ้าชายว่าพระองค์คือรัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎมณเฑียรบาล ทั้งนี้เพราะเวลานั้นประชาชนฝรั่งเศสต่างรู้สึกคลางแคลงใจว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 จริงหรือไม่ เนื่องจากพระมารดาของพระองค์คือพระนาง Isabelle ทรงมีชู้รักหลายคน และพระนางยืนยันว่าเจ้าชายมิได้มีสายเลือดของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 และประชาชนส่วนใหญ่เชื่อพระนาง

ณ เวลานั้นแทบไม่มีใครเชื่อเด็กสาวไร้การศึกษาผู้อวดอ้างจะนำทัพฝรั่งเศสกู้ชาติ แม้แต่บิดาของเธอยังคิดอยากจะกดหัวเธอให้จมน้ำตายดีกว่าจะปล่อยให้เธอไปสู้รบกับทหารอังกฤษ เพราะในเวลานั้นกองทัพฝรั่งเศสอ่อนแอมาก ดังจะเห็นได้จากทุกครั้งที่ออกศึกเป็นต้องพ่ายแพ้กองทัพอังกฤษอย่างยับเยินจนทหารฝรั่งเศสต่างรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ เสียขวัญ และคิดไปว่า ตลอดชีวิตนี้คงไม่มีมนุษย์คนใดสามารถนำทัพกู้ชาติได้สำเร็จนอกจากเทวดา จนกระทั่งเมื่อนายพล Robert de Baudricourt ได้ยินคำพูดที่มั่นใจและเร้าใจของ Joan of Arc เขาจึงอยากลองมีแม่ทัพเป็นผู้หญิงดูบ้าง จึงได้มอบเสื้อเกราะให้เธอสวม และให้ทหาร 6 คนติดตามเธอไปทูลเจ้าชายที่เมืองชินงว่าเธอคือผู้ที่จะปลดแอกเมืองออร์เลอองส์ (Orléans) ซึ่งอยู่ห่างจากชินงประมาณ 150 กิโลเมตร ให้รอดพ้นจากการถูกทหารอังกฤษยึดครอง

ในเดือนมกราคม ค.ศ.1429 Joan of Arc เดินทางถึงชินงเพื่อเข้าเฝ้าเจ้าชายรัชทายาท เมื่อพระองค์ทรงเชื่อคำของเธอจึงโปรดให้เธอนำทหาร 4,000 คนเดินทางไปออร์เลอองส์ Joan of Arc ผู้สวมเกราะขาวและมีอักษรที่หน้าอกเขียนว่า “Jesus Maria” ได้นำทัพเข้าโจมตีทางด้านเหนือของเมืองซึ่งไม่มีป้อมปราการ บรรดาทหารอังกฤษซึ่งไม่เคยเห็นแม่ทัพเป็นผู้หญิงมาก่อนต่างพากันกลัว เพราะคิดว่าเธอคือปีศาจ ในที่สุดเมืองออร์เลอองส์ก็แตกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1429

ชัยชนะครั้งนั้นทำให้ทหารฝรั่งเศสที่อ่อนแอมาตลอดรู้สึกดีและมีกำลังใจมากขึ้นจนพากันเชื่อว่า Joan of Arc คือผู้ที่จะนำเอกราชมาสู่ประเทศชาติดังที่เธอพยากรณ์ หลังจากที่กองทัพอังกฤษพ่ายแพ้แล้ว Joan of Arc ได้นำทหารใต้บังคับบัญชาเดินทางสู่เมืองลียง (Lyon) ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นโดยเจ้าชายรัชทายาท

วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1429 Joan of Arc ประกาศสถาปนาองค์รัชทายาทเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่มหาวิหาร St.Remy ในเมืองแรงส์ (Rheims) ด้วยการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ในมหาวิหารตามราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติมานานร่วม 900 ปี พระองค์จึงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 แห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์

จากนั้น Joan of Arc ได้นำทัพขับไล่ทหารอังกฤษที่ปารีส แต่ไม่สำเร็จเพราะพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ทรงส่งทหารมาช่วยไม่เพียงพอ ในขณะที่ทหารฝรั่งเศสออกสู้ศึกอย่างไม่เต็มที่ เธอกลับสู้ด้วยใจเกินร้อย ถึงได้รับบาดเจ็บแต่เธอก็ไม่ย่อท้อ และได้นำเพื่อนทหารออกสู้ศึกอีกหลายครั้ง จนในที่สุดเธอถูกแม่ทัพ John of Luxembourg จับตัวเป็นเชลยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.1430 และถูกนำไปขังที่เมืองกงเปียญ (Compiègne) ใกล้กรุงปารีส แล้วถูกส่งตัวไปขังต่อในคุกเมืองรูออง (Rouen) ที่อังกฤษกำลังยึดครองอยู่

ขณะถูกคุมขัง Joan of Arc ถูกสอบสวนทั้งอย่างเปิดเผยในศาลและอย่างปิดบังในคุกหลายครั้ง ถูกทรมานและถูกถากถางด้วยวาจาตลอดเวลา เช่น ทนายอังกฤษกล่าวหาว่าเธอคงรู้สึกอับอายที่เป็นสตรีจึงต้องสวมเสื้อบุรุษแทน และคำพยากรณ์ทั้งหลายของเธอล้วนเป็นเรื่องหลอกลวง และที่เธออ้างว่าเห็นนักบุญนั้น แท้จริงแล้วเธอเห็นซาตาน ครั้นเมื่อทนายอังกฤษถามเธอว่านักบุญ Margaret พูดกับเธอเป็นภาษาอะไร เธอตอบว่าเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยสำเนียงที่ดีกว่าคนที่ถามมาก และการที่เธอสวมเสื้อบุรุษนั้น เพราะเธอกลัวทหารอังกฤษจะลวนลาม เธอมิใช่แม่มด และเป็นสาวพรหมจรย์ที่ได้เห็นนักบุญกับตา

ศาลทหารอังกฤษในขณะนั้นไม่ประสงค์จะพิพากษาลงโทษเธอ แต่ต้องการให้ศาลฝรั่งเศสพิพากษาโทษเธอแทน ด้วยข้อกล่าวหาว่าเธอลบหลู่ศาสนาคริสต์ เพื่อให้เธอยอมรับว่าผิดและไม่สมควรที่จะจูงใจใครอีกต่อไป Joan of Arc จึงถูกพิพากษาโดยบิชอปแห่งโบเวส์ (Beauvais) ให้ถูกจำคุกตลอดชีวิต คำตัดสินนี้ทำให้ Earl of Warwick แม่ทัพอังกฤษรู้สึกไม่พอใจ เพราะคิดว่าเป็นการลงโทษที่น้อยไป

แต่เมื่อศาลเห็นว่า เธอเข้าฟังคำตัดสินโดยการสวมเสื้อบุรุษทั้งๆ ที่เธอเคยสาบานว่าจะไม่แต่งตัวผิดเพศอีก ศาลจึงกลับตัดสิน และตั้งข้อหาว่าเธอมิได้รู้สึกสำนึกในบาปที่ได้กระทำเลย จึงสมควรรับโทษประหารชีวิตโดยการเผาทั้งเป็น ในฐานะที่เป็นแม่มดแห่งเมืองรูออง พิธีประหารชีวิตของเธอถูกจัดขึ้นที่จัตุรัส Old Market แห่งเมืองรูออง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.1431

เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดเวลาที่ Joan of Arc ถูกจับขังคุกและถูกพิพากษาประหารชีวิตนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 มิได้สนพระทัยหรือดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยชีวิตเธอเลย

ในวันประหารชีวิต หลังจากที่นักบวชสวดมนตร์ครั้งสุดท้ายเสร็จสิ้น Joan of Arc ได้ขออนุญาตถือไม้กางเขนในช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต เพชฌฆาตจึงยื่นกิ่งไม้ 2 กิ่งให้เธอมัดด้วยเชือกไขว้กันต่างไม้กางเขน ขณะที่นักบวชนำไม้กางเขนขนาดใหญ่จากโบสถ์มาวางตรงหน้าให้เธอเห็นขณะเปลวไฟกำลังลุกท่วมตัว Joan of Arc จูบไม้กางเขนที่ถือในมือ แล้วตะโกนคำสุดท้ายออกมาว่า “Jesus”

เถ้ากระดูกของ Joan of Arc ถูกนำไปโปรยในแม่น้ำแซน (Seine) ในเมืองรูออง ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้ใครเก็บเถ้ากระดูกไปบูชา จะอย่างไรก็ตาม การสังหารประหารชีวิต Joan of Arc ในครั้งนั้นได้ผนึกใจชาวฝรั่งเศสเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสู้กับกองทัพอังกฤษจนเมืองบอร์โดซ์ (Bordeaux) และปารีสได้รับอิสรภาพ และฝรั่งเศสได้เอกราชกลับคืน

ในปี 1920 สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 5 ทรงประกาศสถาปนา Joan of Arc เป็นนักบุญ ณ วันนี้ชาวฝรั่งเศสถือว่า Joan of Arc คือวีรสตรีผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของฝรั่งเศส และเป็นนักบุญผู้กอบกู้เอกราชของชาติ แต่ทว่าชาติไม่ได้ปกป้องเธอให้รอดพ้นจากการถูกเผาทั้งเป็น

ในปี 1867 ซึ่งเป็นเวลา 436 ปีหลังจากที่เธอเสียชีวิต มีคนพบขวดโหลในร้านขายยาแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ซึ่งมีป้ายเขียนติดที่ขวดว่าภายในมีซากกระดูกของ Joan of Arc

การพบกระดูกหลงเหลืออยู่หลังการเผา 3 ครั้ง (ศพเธอต้องเผาหลายครั้งเพราะทหารอังกฤษคิดว่าเธอเป็นแม่มด) ทำให้คนหลายคนเชื่ออย่างสนิทใจว่า Joan of Arc เป็นนักบุญตัวจริง ดังนั้นจึงมีการนำขวดโหลบรรจุอัฐิดังกล่าวไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองชินง

ในปี 2007 Philippe Charlier นักนิติวิทยาศาสตร์แห่งโรงพยาบาล Raymond Poincaré ที่เมืองการ์ชส์ (Garches) ใกล้ปารีส ได้ขออนุญาตสถาบันศาสนาแห่งฝรั่งเศสนำอัฐิในขวดโหลไปพิสูจน์ความแท้จริงหรือแท้ปลอม

Charlier และผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นน้ำหอมชื่อ Jean-Michel Duriez แห่งบริษัทฌอง ปาตู (Jean Patou) และ Sylvaine Delacourte แห่งบริษัทแกร์แล็ง (Guerlain) ได้ใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ด้าน spectrometry ในรูปแบบ mass, infrared และ atomic-emission ร่วมกับเทคนิคการวิเคราะห์กลิ่น และได้สรุปพบว่ากระดูกดังกล่าวมิใช่ของ Joan of Arc แต่เป็นกระดูกของมัมมี่อียิปต์

ณ วันนี้ เทคนิควิเคราะห์กลิ่นมีบทบาทมากขึ้นๆ ในวงการนิติวิทยาศาสตร์เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าถึงซากจะมีอายุมากเพียงใด แต่กลิ่นก็ยังคงอยู่ และเพื่อให้การวิเคราะห์นี้มีการตรวจสอบอย่างเสรี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกลิ่นทั้งสองคนมิได้รับแจ้งว่าให้ดมอะไรและไม่ให้ปรึกษากันด้วย

ในการวิเคราะห์เถ้ากระดูก Charlier ใช้กล้องจุลทรรศน์ศึกษาเขม่าดำ และพบว่าสีดำเกิดจากการทาไม้ด้วยยาง bitumen กับ malachite และมิได้เกิดจากการเผากระดูกจนไหม้ดำ เพราะไม่ปรากฏซากของกล้ามเนื้อผิวหนังหรือไขมันหลงเหลือเลย นอกจากนี้ก็ยังพบกระดูกต้นขาของแมวซึ่งคงเป็นแมวดำที่ถูกเผาพร้อมแม่มด และยังได้พบซากของเรณูต้นสนด้วย ซึ่งต้นสนตามปกติจะไม่ขึ้นในแคว้นนอร์มังดี แต่คนอียิปต์นิยมใช้ยางสนทำมัมมี่ และเมื่อนักวิทยาศาสตร์นำซากกระดูกไปวัดอายุก็พบว่ามีอายุราว 2,300 – 2,600 ปี กระดูกในขวดโหลจึงมิใช่ของ Joan of Arc อย่างแน่นอน

ในส่วนของกลิ่นนั้น คนทั้งสองยังพบอีกว่ากระดูกมีกลิ่นวานิลลาปะปนกับกลิ่นปูนปลาสเตอร์ โดยกลิ่นวานิลลาเกิดจากการเน่าของมัมมี่ผ่านผ้าลินินที่ใช้พันศพ ส่วนกลิ่นปูนปลาสเตอร์เกิดจากการเผาเสาที่ทำด้วยยิปซัม

ข้อมูลทุกชิ้นจึงระบุชัดว่า ซากกระดูกในขวดเป็นกระดูกมัมมี่อียิปต์ มิใช่กระดูกของหญิงสาวผู้ถูกเผาทั้งเป็น

และ ณ วันนี้ สถาบันศาสนาแห่งฝรั่งเศสได้ยอมรับคำตัดสินของ Charlier และคณะแล้ว

Credit: http://www.facebook.com/photo.php?fbid=665855660108844&set=a.404705442890535.106565.328745970486483&type=1&theater
9 ส.ค. 56 เวลา 01:39 2,834 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...