ความชาวเคนยายื่นคำร้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศรื้อคำตัดสินคดีตรึงกางเขนพระเยซู ชี้เป็นการทรมานร่างกาย-หมิ่นศักดิ์ศรี
ตลอดระยะเวลากว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา การตรึงกางเขนพระเยซูเป็นเหตุการณ์ที่ชาวโลกยังจดจำไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสต์ศาสนิกชน ที่ต่างก็อดรู้สึกเจ็บปวดไม่ได้กับการที่องค์ศาสดาต้องถูกลงทัณฑ์อย่างทุกข์ทรมานด้วยน้ำมือของฝูงชนชาวยิวที่เคียดแค้น และผู้ปกครองชาวโรมันที่ไร้ความรับผิดชอบ
แม้เหตุการณ์จะผ่านมาถึง 2,000 ปีแล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ยังมีผู้คนมากมายที่ไม่พอใจกับการตัดสินอันอยุติธรรมของผู้คนในยุคนั้นที่มีต่อศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ หนึ่งในนั้นคือทนายความจากเคนยา โดลา อินดิดิส ผู้ไม่ยอมอดทนต่อความอยุติธรรมในครั้งนั้นเช่นกัน
แต่สิ่งที่อินดิดิสมาแปลกแหวกแนวกว่าใครก็คือ เขาผู้นี้ถึงกับยื่นคำร้องต่อศาลโลกให้พลิกคำตัดสินเมื่อ 2 สหัสวรรษที่แล้ว เพื่อประกาศว่าพระเยซูเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่สมควรที่จะได้รับการประหารชีวิตด้วยการทรมานจากการตรึงกางเขน
ความพยายามในการยื่นคำร้องของทนายความชาวเคนยาไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะในปี 2007 ผู้พิทักษ์ความยุติธรรมรายนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงแห่งเคนยา ให้พิจารณาคดีที่มีอายุความกว่า 2000 ปีนี้ใหม่หมด แต่แล้วความพยายามก็ล้มเหลว เนื่องจากศาลไม่รับฟังคำร้อง
เมื่อศาลสูงในประเทศไม่สนใจคำร้องของฝ่ายโจทก์ คราวนี้อินดิดิสจึงเดินทางไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาคำร้องและเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่พระเยซู โดยจำเลยในกรณีนี้คือรัฐบาลอิตาลี ในฐานะทายาทแห่งอาณาจักรโรมัน และรัฐบาลอิสราเอล ในฐานะเชื้อสายของชาวยิวโบราณ
โดยทนายความชาวเคนยา เผยว่า การลงโทษของรัฐบาลโรมันต่อพระเยซูด้วยการตรึงกางเขนนั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพระเยซู อีกทั้งการทรมานร่างกายด้วยวิธีโหดร้ายต่างๆ นานา ยังเป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีของพระเยซู เพราะวิธีการเหล่านั้นจะนำมาใช้กับพวกกบฏที่ต่อต้านการปกครองของโรมัน และถือว่าเป็นการลงทัณฑ์และการเสียชีวิตที่น่าอัปยศอดสู
ทั้งนี้ ชนวนเหตุที่ทำให้อาณาจักรโรมันไม่พอใจต่อการกระทำของพระเยซูก็คือ กิตติศัพท์ของพระองค์ที่เลื่องลือไปทั่วในการประกาศคำสอนศาสนา รักษาโรค อีกทั้งยังแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ รวมทั้งการที่พระองค์ประกาศว่าเป็นพระเมสสิยาห์ หรือพระผู้ช่วยให้รอดตามความเชื่อของชาวยิว
การกระทำเหล่านี้ทำให้มหาปุโรหิตกล่าวหาว่าพระเยซูพูดหมิ่นประมาทพระเจ้าและเหยียดศาสนา จากนั้นก็นำพระเยซูไปพบปีลาต เจ้าเมืองชาวโรมัน ซึ่งตัดสินให้ประหารชีวิตพระองค์ด้วยการตรึงกางเขน
ทนายความผู้กล้าชาวเคนยาได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้พระองค์ด้วยการใช้กฎหมายยุคปัจจุบัน อ้างว่าการประหารชีวิตด้วยวิธีดังกล่าวของรัฐบาลในยุคอาณาจักรโรมันนั้นไม่เคารพต่อตัวกฎหมาย แต่ทำไปเพราะอคติในช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวาย ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะพลิกคดีความกว่า 2000 ปีให้เป็นโมฆะคืนความบริสุทธิ์ให้แก่พระเยซู
อินดิดิสได้ยกตัวอย่างคดีความสมัยโบราณของนักบุญโยนออฟอาร์ค วีรสตรีของฝรั่งเศส และเป็นนักบุญในนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งอ้างว่าชัยชนะที่ได้มาจากการสู้รบนั้นมาจากพระเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง ทำให้ฝ่ายต่อต้านกล่าวอ้างว่าเป็นพวกนอกรีตจึงจับเผาทั้งเป็น แต่แล้ว 20 ปีต่อมา ศาลพิจารณาคดีนี้ใหม่และสรุปว่าโยนออฟอาร์คเป็นผู้บริสุทธิ์
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของทนายความผู้นี้ดูเหมือนจะไร้หนทางชนะคดี เมื่อผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายออกมาเผยว่า การยื่นคำร้องต่อศาลโลกไม่มีทางสำเร็จแน่นอน เนื่องจากปกติแล้วศาลโลกจะรับพิจารณาตัดสินคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ 2 ประเทศขึ้นไป เช่น ข้อพิพาทเรื่องดินแดนอาณาเขต การละเมิดอำนาจอธิปไตย และปัญหาในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
ผิดกับหัวข้อคดีที่อินดิดิสยื่นไว้ ซึ่งเป็นคดีความทางศาสนาต่อรัฐบาล และเป็นคดีความที่มีอายุขัยนานกว่า 2 สหัสวรรษแล้ว