ภาพยนตร์ชุด "เจมส์ บอนด์" เป็นภาพยนตร์ชุดแนวสายลับสัญชาติอังกฤษ โดยมีพื้นฐานจากตัวละครสมมติ เจมส์ บอนด์ (รหัส 007) สังกัด หน่วยสืบราชการลับอังกฤษ หรือ MI6 โดยปรากฏตัวครั้งแรกในนวนิยายที่ประพันธ์โดยเอียน เฟลมิง
ฉากยิงปืนของภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ (Gun barrel sequence) ปรากฏในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ทุกตอนที่เป็นของค่ายภาพยนตร์ อีโอเอ็น โปรดัคชั่นส์ และส่วนมากจะใช้เปิดเรื่อง ลักษณะของฉากนี้ จะมีลักษณะเป็นจุดสีขาวขนาดเล็ก ในพื้นหลังสีดำ วิ่งจากด้านซ้ายไปขวา (ในสายตาของผู้ชม) และหายไปทางขอบจอโทรทัศน์ด้านขวา และหลังจากนั้น โทรทัศน์ก็จะฉายภาพที่เป็นภาพมุมมองจากภายในลำกล้องปืนของมือปืนที่คิดจะฆ่า เจมส์ บอนด์ ผู้ชมมองเห็น เจมส์ บอนด์ อยู่ด้านนอกกระบอกปืน กำลังเดินอยู่อย่างสงบจากขวา ไปซ้าย (ในสายตาผู้ชม) และกระบอกปืนก็หันตามเจมส์ บอนด์ ไปเรื่อยๆ รอจังหวะเหนี่ยวไก แต่เมื่อมาถึงกลางหน้าจอ เจมส์ บอนด์ ก็หันมาหามือปืนและควักปืนของตนยิงออกไปหามือปืนอย่างรวดเร็ว ทำให้มือปืนที่ตั้งตัวไม่ทันบาดเจ็บหรืออาจตาย และกระบอกปืน ก็มีเลือดของมือปืนไหลลงมาเรื่อยๆ จนชุ่มกระบอกปืน และหน้าจอมีสีแดงทั้งจอ และกระบอกปืนก็เริ่มโงนเงนจากอาการสาหัสของมือปืน ต่อมาไม่กี่วินาที บริเวณที่เห็น เจมส์ บอนด์ ก็จะมีสีแดงเข้มขึ้นจนมองไม่เห็นตัวของเจมส์ บอนด์ กลายเป็นจุดสีแดงเข้มขนาดใหญ่ในหน้าจอ และมุมมองนั้นหล่นลงเบื้องล่างของหน้าจอ (เพราะมือปืนทำปืนหล่น) และจุดสีแดงเข้มก็กลายเป็นภาพของฉากแรกในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ และภาพยนตร์จะเปลี่ยนมุมมองโดยจะพาเราออกจากกระบอกปืนอย่างรวดเร็ว และเข้าสู่ฉากแอ็คชั่นเปิดเรื่อง แล้วก็เข้าสู่เพลงไตเติ้ล จากนั้นก็เข้าสู่ภาพยนตร์
ในภาพยนตร์บอนด์เรื่องแรก คือ พยัคฆ์ร้าย 007 คนที่มายิงปืน ไม่ใช่ ฌอน คอนเนอรี่ ที่รับบทเป็น เจมส์ บอนด์ แต่เป็น บ็อบ ซิมมอนส์ ซึ่งเป็นสตั๊นท์แมนของ ฌอน คอนเนอรี่ มายิง โดยเจมส์ บอนด์ จะใส่ชุดสูทประเภทสำหรับธุรกิจ (business suit) และใส่หมวกทรงสูง และภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่มีฉากแอ็กชั่นต้นเรื่องเหมือนภาพยนตร์เรื่อง อื่นๆ ดังนั้นต่อจากฉากที่มุมมองที่เห็น เจมส์ บอนด์ กลายเป็นจุดสีแดงใหญ่ในหน้าจอแล้ว จุดสีแดงก็กลายเป็นจุดสีขาว ก็จะเข้าสู่เพลงไตเติ้ลเลย
ในภาพยนตร์บอนด์เรื่องที่ 2 กับ 3 คือ เพชฌฆาต 007 กับ จอมมฤตยู 007 ฉากยิงปืนเปิดเรื่อง ตัดต่อมาจากฉากยิงปืนเปิดเรื่องของ ภาพยนตร์บอนด์เรื่องแรก พยัคฆ์ร้าย 007 โดยที่ เจมส์ บอนด์ ยังใส่สูทธุรกิจกับหมวกทรงสูงอยู่ แต่ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 เป็นต้นไป มีฉากแอ็คชั่นต้นเรื่อง ดังนั้น หลังจากฉากที่มุมมองที่เห็นเจมส์ บอนด์ กลายเป็นจุดสีแดง และเปลี่ยนเป็นจุดสีขาวแล้ว จุดนั้นจะหายไป และฉากแอ็คชั่นต้นเรื่องในสองตอนนี้ก็จะปรากฏขึ้นมา
1965–1971ในภาพยนตร์บอนด์เรื่องที่ 4-5,7 คือ ธันเดอร์บอลล์ จนถึง เพชรพยัคฆราช จะใช้วิธีการถ่ายทำฉากยิงปืนใหม่ทุกครั้งหลังที่จะมีการสร้างภาพยนตร์ และการเชื่อมฉากยิงปืนเปิดเรื่องกับฉากแอ็คชั่นตั้นเรื่องตั้งแต่เรื่อง ธันเดอร์บอลล์ เป็นต้นไป ก็เป็นไปตามที่อธิบายไว้ในย่อหน้าแรกของบทความนี้ทุกประการ แต่คนที่มายิงปืนในฉากนี้ เป็น ฌอน คอนเนอรี่ เอง และเจมส์ บอนด์ในฉากนี้ ก็ยังใส่สูทธุรกิจกับหมวกทรงสูงอยู่ตลอดทุกเรื่อง
เรื่องที่ 6 คือ ยอดพยัคฆ์ราชินี ใช้ จอร์จ ลาเซนบี้ แทนฌอน คอนเนอรี่ชั่วคราว ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ยกเว้นการตั้งเข่ายิงปืน ซึ่งเป็นภาคแรกและภาคเดียวที่ทำเช่นนั้น และยังเกิดจุดด้อยเรียกว่า "Treadmill" คือ ในตอนที่กระบอกปืนเลื่อนไปทางซ้าย จะเห็นจอร์จ ลาเซนบี้ "เดินอยู่กับที่" ประมาณ 1 วินาทีแล้วจึงเดินตามกระบอกปืน และตอนที่กระบอกปืนหยุดเคลื่อนไหว จอร์จ ลาเซนบี้ก็ยังเดินอยู่กับที่จึงจะยิงปืนและจอร์จ ลาเซนบี้ก็หายไปจากลำกล้องตอนเลือดไหล
1973–1974ในภาพยนตร์บอนด์เรื่องที่ 8 กับ 9 คือ พยัคฆ์มฤตยู 007 กับ เพชฌฆาตปืนทอง โรเจอร์ มัวร์ เข้ามารับบทเจมส์ บอนด์ และเปลี่ยนสไตล์ให้ไม่ใส่หมวกทรงสูง แต่ยังใส่สูทธุรกิจและยิงปืนสองมือ
ในภาพยนตร์เรื่องที่ 10 ถึงเรื่องที่ 14 คือ พยัคฆ์ร้ายสุดที่รัก จนถึง พยัคฆ์ร้ายพญายม สไตล์การแต่งตัวในการยิงในฉากนี้เปลี่ยนอีกครั้ง โดยเปลี่ยนจากสูทสำหรับธุรกิจ เป็นชุดราตรี (tuxedo) พร้อมผูกหูกระต่ายสีดำ
ใน พยัคฆ์สะบัดลาย (ภาคที่ 15) ทิโมธี ดาลตัน ยิงปืนโดยใช้มือเดียว แต่การแต่งตัวยังคงเหมือนเดิม จนถึง รหัสสังหาร (ภาคที่ 16)
ในภาพยนตร์บอนด์เรื่องที่ 17 ถึง 20 คือ พยัคฆ์ร้าย 007 รหัสลับทลายโลก จนถึง ดาย อนัทเธอร์ เดย์ 007 พยัคฆ์ร้ายท้ามรณะ แสดงโดย เพียร์ซ บรอสแนน สไตล์การแต่งตัวยังเหมือนเดิม แต่ลักษณะของเลือดที่ไหลลงมาเปลี่ยนไป โดยใช้กราฟิกจากคอมพิวเตอร์ให้เลือดไหลมาในจังหวะที่เปลี่ยนไป และมีสีเข้มขึ้น และแสงสว่างที่ปลายกระบอกด้านขวาก็เปลี่ยนแปลงด้วย และใน ดาย อนัทเธอร์ เดย์ 007 พยัคฆ์ร้ายท้ามรณะ นั้นจะมีลูกปืนจากกระบอกปืนของ เพียร์ซ บรอสแนน วิ่งมาหาผู้ชมอีกด้วย
2006ในภาพยนตร์บอนด์ เรื่องที่ 21 คือ พยัคฆ์ร้ายเดิมพันระห่ำโลก แสดงโดย แดเนียล เคร็ก ฉากยิงปืนไม่ใช่ฉากเปิดเรื่องเหมือนภาพยนตร์บอนด์ตอนก่อนๆ ฉากแอ็คชั่นจะมาก่อน และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ฉากยิงปืน ต่อจากนั้นก็เป็นเพลงไตเติ้ล และเข้าสู่เนื้อเรื่อง ฉากยิงปืนในครั้งนี้ใช้ลักษณะกระบอกปืนต่างจากตอนอื่นๆอย่างชัดเจน และเมื่อยิงแล้ว แทนที่จะพาเราออกจากมุมมองภายในกระบอกปืน กลับพาเราเข้าลึกไปในกระบอกปืนมากขึ้น ในขณะที่เลือดก็หยดลงมาเรื่อยๆ และเลือดก็หยดในลักษณะที่เป็น 3 มิติ และเมื่อเลือดแดงเต็มจอแล้ว ก็เข้าสู่เพลงไตเติ้ล นอกจากนี้สไตล์การแต่งตัวก็ปรับเปลี่ยนจากชุดราตรี มาเป็นชุดสูทธรรมดา โทรมๆ ไม่ได้สวมเน็คไทหรือหูกระต่ายสีดำใดๆทั้งสิ้น สืบเนื่องมาจากการต่อสู้กับศัตรูในฉากเปิดเรื่อง เพื่อความสมจริงที่มากขึ้น
2008ในภาพยนตร์บอนด์ เรื่องที่ 22 คือ พยัคฆ์ร้ายทวงแค้นระห่ำโลก ฉากยิงปืนถูกนำมาไว้ในตอนท้ายเรื่อง โดยภาคนี้สไตล์การแต่งตัวได้กลับมาใส่ชุดสูทธุรกิจอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้ใช้ชุดนี้มาตั้งแต่ภาคที่ 10
2012ในภาพยนตร์บอนด์ เรื่องที่ 23 คือ พลิกรหัสพิฆาตพยัคฆ์ร้าย 007 ฉากยิงปืนถูกนำมาไว้ในท้ายเรื่องเช่นเดียวกับคราวพยัคฆ์ร้ายทวงแค้นระห่ำโลก โดยภาคนี้หลังจากที่มีเลือดไหลและจอภาพเป็นสีดำแล้ว จะมีคำว่า "50 Years" อยู่ตรงกลางลำกล้องปืน เป็นการฉลองครบรอบ 50 ปีของภาพยนตร์ชุดนี้ และมีคำว่า "James Bond Will Return" อยู่ข้างใต้