ขนมโตเกียว
ทำไมถึงเรียกว่าขนมโตเกียว
"ขนมโตเกียว" ชาวญี่ปุ่นมาเมืองไทยก็คงงงและประหลาดใจเมื่อเจอกับขนมชื่อนี้ ส่วนชาวไทยไปญี่ปุ่นถามหาขนมชนิดนี้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันเจอ
แล้วตกลงมันขนมไทยหรือญี่ปุ่นกันฟะนี่??
ขอแยกข้อสันนิษฐานการเกิดขนมโตเกียวเป็น 2 ข้อ
1. เป็นขนมไทย
เป็นขนมที่คนไทยประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเอง แล้วตั้งชื่อตามเหตุการณ์ หรือสถานที่ที่กำลังโด่งดัง ยกตัวอย่างเช่น กรณีลอดช่องสิงคโปร์ ขายที่หน้าโรงหนังสิงคโปร์ แต่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประเทศสิงคโปร์เลย หรือกรณีรถสามล้อเครื่องสกายแลปของทางภาคอีสาน ก็ได้ชื่อมาจากการส่งสถานีอวกาศ Skylab ของ NASA ขึ้นสู่อวกาศในช่วง พ.ศ. 2522 ทั้งๆ ที่รูปร่างก็ไม่ได้เหมือน Skylab เลย
ดังนั้น ช่วงที่ทำขนมนี้ขึ้นมา อาจมีเหตุการณ์อะไรเกี่ยวกับโตเกียวที่กำลังโด่งดัง เลยหยิบยกมาตั้งเป็นชื่อขนมจะได้แปลกใหม่และติดหู
โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าใช่ข้อนี้ น่าจะเป็นข้อต่อไปมากกว่า...
2. เป็นขนมญี่ปุ่น แต่ดัดแปลงให้ถูกปากคนไทย
เมืองเกียวโต... นอกจากเป็นเมืองหลวงเก่าแล้ว ยังเป็นแหล่งขึ้นชื่อเรื่องขนมญี่ปุ่นอีกด้วย เมื่อหลายปีก่อนได้ดูรายการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นพาไปกินขนมในเมืองเกียวโต ก็พบกับขนมที่มีรูปร่างและวิธีทำคล้ายกับขนมโตเกียวของไทย ประมาณนี้...
จากการสืบค้นข้อมูลเท่าที่ทำได้ พบว่าเกียวโตมีขนมที่มีส่วนประกอบเป็นแผ่นแป้งคล้ายแพนเค้กแบบนี้หลากหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นแป้งแผ่นเดียวแล้วพับหรือม้วน ข้างในยัดไส้ถั่วแดงกวน ไม่ก็เผือกมันตามสไตล์ญี่ปุ่น
ส่วนชนิดที่พวกเรารู้จักกันดีจะมีแผ่นแป้ง 2 แผ่นประกบติดกัน นั่นคือ โดรายาคินั่นเอง~~
คาดว่าในช่วงที่การค้าไทย-ญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟูมีห้างไดมารุและบันไดเลื่อนแห่งแรกในไทย (พ.ศ. 2507) ขนมเหล่านี้คงหลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับสินค้าญี่ปุ่น ต่อมาชาวไทยที่ได้เห็นขนมโก้หรูจากเมืองนอกก็ลองไปทำเลียนแบบ หะแรก คงตั้งชื่อว่าขนมเกียวโตตามแหล่งผลิตขนมที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ภายหลังเพี้ยนมาเป็นขนมโตเกียว (เพราะคนไทยรู้จักแต่โตเกียว)
ในการลองทำช่วงแรกๆ ได้ดัดแปลงใช้สังขยาและครีมคัสตาร์ทเป็นไส้แทนถั่วแดงกวนเพื่อให้ถูกปากคนไทย ต่อมาจึงริเริ่มใส่ไส้กรอก* และไข่นกกระทาเข้าไปจนกลายมาเป็นขนมโตเกียวของไทยเราทุกวันนี้
*คาดว่าไส้ไส้กรอกมาทีหลัง เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยซอสเซส (ตราหมูสองตัว) ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2506 และกว่าที่ไส้กรอกบ้าน ๆ ถูก ๆ สีแดงสดจะเป็นที่แพร่หลายก็คงกินเวลาอีกหลายปี นอกจากนี้ สมัยแรกที่เห็นขนมโตเกียวจำได้เลาๆ ว่ามีขายเฉพาะไส้สังขยาสีส้ม สีเขียวเท่านั้น
ถ้าถามอีกทีว่าเป็นขนมของประเทศไหน ? ก็คงตอบว่าของไทยเราเองนี่แหละ!! แต่ได้รับอิทธิพลมาจากขนมญี่ปุ่นและแต่งเนื้อแต่งตัวจนกลายเป็นขนมไทยเต็มตัว
อันที่จริงแล้ว... ขนมญี่ปุ่นประเภทนี้ก็ไม่ได้เป็นของญี่ปุ่นดั้งเดิมแต่อย่างไร เป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวโปรตุเกส (แบบเดียวกับขนมเบื้อง ทองหยิบ ฝอยทองของไทยเรา) การเข้ามาของชาวโปรตุเกสในยุค Muromachi (ค.ศ. 1543) ได้นำวัฒนธรรมต่างๆ เข้ามาเผยแพร่มากมาย รวมไปถึงอาหารและขนมตะวันตก เช่น เทมปุระ ขนมปัง คุกกี้
ขนมญี่ปุ่นดั้งเดิม (和菓子 - wagashi) มีส่วนผสมหลักคือ แป้ง ถั่ว วุ้น น้ำตาล ส่วนขนมหวานสไตล์ตะวันตก (南蛮菓子 - nanbangashi) มีจุดกำเนิดในแถบนางาซากิซึ่งเป็นเมืองท่าแห่งเดียวที่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขาย ขนมหวานสไตล์ตะวันตกที่มีชื่อเสียง คือ ขนม Castella มาจากภาษาโปรตุเกสว่า Pao de Castela (หมายถึง ขนมปังจาก Castile) ทำจากแป้งสาลี น้ำตาล ไข่ เป็นหลัก ต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนรสชาติให้เข้ากับชาวญี่ปุ่นมากขึ้น
สำหรับโดรายาคิ จัดเป็นขนมเกิดใหม่ที่ยังมีอายุน้อย โดยมีจุดกำเนิดในยุค Taisho ปีค.ศ. 1914 ชื่อของโดรายาคิ (銅鑼焼き) ได้ชื่อมาจากรูปร่างที่เหมือนกับฆ้อง (銅鑼 = ฆ้อง) แต่ในแถบเกียวโตขนมชนิดนี้มีชื่อว่ามิคะซะ (三笠) เพราะมีรูปร่างเหมือนภูเขามิคะซะในเมืองนารา
ว่ากันว่า แป้งของโดรายาคิและขนมประเภทนี้ดัดแปลงสูตรมาจากขนม Castella นอกจากนี้วิธีการทำขนมที่ต้องใช้กระทะแบนขนาดใหญ่ (Griddle) ก็ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น เหล่านี้เองเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้อย่างดีว่าขนมญี่ปุ่นหลายชนิด ได้อิทธิพลมาจากชาวตะวันตก