ซีรีส์ฮิต "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" ร้อนแรง สุดฟิน

"ละคร" หรือ "ซีรีส์" แนวกระโปรงบานขาสั้นสัญชาติไทยในจอแก้ว ส่วนใหญ่มักจะบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิต มิตรภาพ และความรัก หลังรั้วโรงเรียนของบรรดาวัยรุ่นด้วยท่าทีที่สดใสโลกสวย

ล่าสุดซีรีส์เรื่อง "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" จากฝีมือการกำกับของ "ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์" แห่งค่ายหนังอารมณ์ดี "จีทีเอช" ที่กำลังออกอากาศทางช่องจีเอ็มเอ็มวันขณะนี้ ฉีกขนบเดิม ๆ ลงทุนสร้างซีรีส์แนวดาร์กไซด์เรื่องแรกที่เลือกฉายภาพวัยรุ่นในซีรีส์แบบเดิม ๆ ด้วยการพลิกมุมนำเสนอเรื่องราวชีวิตและความคิดของเด็กมัธยมสมัยนี้ อย่างตรงไปตรงมา ผ่านตัวละครทั้ง 9 คน ที่มีบุคลิกและมุมมองในแต่ละประเด็นแตกต่างกันสุดขั้วอย่างชัดเจน แต่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

อีกทั้งการให้น้ำหนักพูดถึงเรื่อง "เพศ" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ว้าวุ่นใจวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยมาตลอดด้วยท่าทีหนักหน่วง มากกว่าปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก หรือการเรียน ยิ่งเป็นการขับเน้นความ "ดาร์ก" และ "เรียล" ให้มากยิ่งกว่าละครวัยรุ่นทางโทรทัศน์เรื่องใด ๆ ที่เคยมีมา จนกลายเป็นกระแสน่าติดตาม รวมถึงการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในวงกว้างของโลกออนไลน์และออฟไลน์

ทรงยศ อธิบายว่า ประเด็นทางเพศของวัยรุ่นยุคนี้ นับว่ามีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ส่งผลกระทบต่อมุมมองความคิดของวัยรุ่นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติเรื่องเซ็กซ์ หรือปัญหาความสับสนทางเพศของวัยรุ่น

เห็นได้จากการสร้างตัวละครแคแร็กเตอร์จัดสุดทางให้ปรากฏอยู่ในซีรีส์เรื่องนี้อย่าง"สไปรท์" หญิงสาวผู้มีมุมมองต่อเรื่องเพศอย่างเสรี และไม่ยอมให้วัฒนธรรม "รักนวลสงวนตัว" แบบเผด็จการในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ของไทยครอบงำความต้องการของตัวเอง

หรือ "วิน" หนุ่มพ็อปประจำโรงเรียนจอมเจ้าชู้ประเภทรักสนุกแต่ไม่ผูกพัน ซึ่งทั้ง 2 แคแร็กเตอร์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หากเปิดตามองและเปิดใจยอมรับกันสิ่งเหล่านั้น หรือแคแร็กเตอร์ของ "ไผ่" หนุ่มใจร้อนที่มักใช้กำลังเป็นวิธีแก้ปัญหา เพราะความเดือดพล่านของอะดรีนาลีน

โดยเฉพาะแคแร็กเตอร์คู่เพื่อนสนิทหนุ่มแห่งวงดุริยางค์ของ "ภู" กับ "ธีร์" ที่คอยดูแลเอาใจใส่กันมากเป็นพิเศษยิ่งกว่าที่เพื่อนส่วนใหญ่ทำให้กับเพื่อน ได้กระตุ้นให้เกิดการผลักดันวัฒนธรรม "จิ้นวาย" ขึ้นโดยเด็กกลุ่มหนึ่งในโรงเรียน จนเป็นที่มาของข่าวลือลั่นเรื่อง "คู่เกย์" ไปทั่วโรงเรียน

ผู้กำกับคนดังของฮอร์โมนฯกล่าวว่า จากการลงไปศึกษาข้อมูลการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมจิ้นวายในกลุ่มเด็กผู้หญิง เป็นเพราะต้องการจับคู่ให้กับผู้ชายหน้าตาดีคนหนึ่งที่ตัวเองชื่นชอบ เพียงแต่ไม่อยากจับคู่กับผู้หญิง เพราะมันจะทำให้เกิดความรู้สึกของการเป็นคู่แข่งขึ้นมา อีกทั้งโลกสวยที่สร้างไว้อาจพังทลายลง จึงไปจับคู่กับผู้ชายหน้าตาดีอีกคนหนึ่งที่มีความสนิทสนมกันซะเลย ความรู้สึกไม่เสีย ไม่มีคู่แข่ง แถมยังรู้สึกเต็มอิ่มอีกด้วย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกวันนี้จะมีกลุ่มแฟนคลับจับคู่จิ้นตามกรี๊ดศิลปินจำนวนมากเช่น"ริท-โตโน่" หรือ "แกงส้ม-ฮั่น"เป็นต้น

"อดิศา เหล่ารักวงศ์" นักศึกษาผู้ติดตามกระแสจิ้นวายมานาน อธิบายว่า "จิ้น" เป็นคำที่กร่อนมาจาก "imagine" ทำให้รูปแบบของการจิ้นไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจิตนาการยังไง ไม่ว่าคู่ผู้ชายกับผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้หญิง หรือผู้ชายกับผู้หญิง ก็เป็นการจิ้นเหมือนกัน บางทีอาจไปไกลถึงขั้นจิ้นพี่กับน้อง หรือลุงกับหลานก็มี

"เวลาเราเห็นว่าคู่นั้นเขาใกล้ชิดกัน หยอกล้อกัน ก็เลยจิ้น หรือในทางตรงข้าม คู่นั้นเขาอาจเป็นศัตรูคู่ปรับกัน เขม่นหน้ากัน แบบนี้ก็จิ้นได้ คนเราจะจิ้นก็ต่อเมื่อเห็นว่า คนสองคนนั้นเขามีความสนใจแก่กัน ไม่ว่าจะเป็นความสนใจในรูปแบบความสนิทชิดเชื้อ หรือความสนใจในรูปแบบอยากเอาชนะอีกฝ่าย"

สำหรับการเริ่มต้นของวัฒนธรรมการจิ้นวายในเมืองไทย "ชญานิศวร์ พิมลชัยพัทธ์" หนึ่งในแฟนตัวยงของฟิกชั่นวายและติดตามมาตั้งแต่ช่วงแรก เล่าว่า ต้องย้อนถอยหลังกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุค "เจ-พ็อป" ครองตลาดโลกและคาบเกี่ยวกินตลาดศิลปินในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหลายปี ประกอบกับช่วงเวลาโชว์ออกรายการมักจะมีโมเมนต์น่ารักกุ๊กกิ๊กของศิลปินเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดจินตนาการจับคู่กันไปไกลเกินเพื่อน

"พอรู้สึกจิ้นขึ้นมา กลุ่มแฟนคลับบางคนก็เลยเอาเรื่องราวการจิ้นของศิลปินมาเขียนฟิกชั่นวายลงบนเว็บไซต์ ซึ่งแฟนคลับส่วนใหญ่ที่อ่านก็จะเกิดความรู้สึกเชื่อ เพราะความสัมพันธ์เหล่านั้นมันมีพื้นฐานมาจากความสนิทของตัวศิลปินอยู่แล้ว แถมยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกน่ารัก ตอนนั้นเลยเกิดกระแสฮิตฟิกชั่นวายไปช่วงหนึ่ง"

หลังเทรนด์เจ-พ็อปเงียบหายไป กระแสจิ้นวายก็เริ่มซาลงตามไปด้วยช่วงเวลาหนึ่ง (แต่ยังคงมีแฟนคลับตามอ่านอยู่) ก่อนที่จะดีดตัวกลับมาฮิตในกระแสอีกครั้งเมื่อ "เค-พ็อป" ครองภูมิภาค

อดิศา เพิ่มเติมว่า การเติบโตของเทรนด์ศิลปินเกาหลีในช่วงหลายปีหลัง และการเกิดขึ้นของรายการเรียลิตี้ เช่น เดอะสตาร์ หรือเอเอฟ ประกอบกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก ยิ่งเป็นตัวช่วยในการกระจายความคิดการจิ้นให้ครอบคลุมไปทั่วกลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบัน

"ผลกระทบจากการจิ้นวายส่วนตัวคิดว่าไม่มีอะไรที่ไม่ดีแถมยังช่วยกระตุ้นจินตนาการได้ดีอีกด้วย (หัวเราะ) แต่ในบางครั้ง หากคนที่ถูกจิ้นรู้ตัว อาจจะมองคนที่จิ้นด้วยสายตาแปลก ๆ หรือถึงขั้นรังเกียจเลยก็ได้ ไม่เฉพาะแค่นั้น แต่ส่วนมากผู้ใหญ่ พ่อ แม่ หรือคนทั่วไปที่ไม่รู้จักการจิ้นวาย เขาไม่เข้าใจรสนิยมแบบนี้ การที่ผู้หญิงคนหนึ่งชื่นชอบ จิ้นจับคู่ให้ผู้ชายรักกันเอง คนที่ไม่เข้าใจเขาจะมองว่า คนประเภทนี้เบี่ยงเบนทางเพศหรือเปล่า มีความคิดประหลาดแบบนี้ โรคจิตหรือเปล่า"

ทรงยศ อธิบายว่า ฮอร์โมนฯเป็นการบอกเล่าเรื่องราวความสับสนของวัยรุ่นที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่ เพียงแต่ซีรีส์ชุดนี้จะไม่บอกบทสรุปของตัวละครในเรื่องว่าสุดท้ายแล้วชีวิตจะคลี่คลายไปทางไหน เพราะต้องการให้คนดูเก็บไปคิดต่อกันเอง ดังนั้น สิ่งที่จะได้พบเห็นในเรื่องจึงมีเพียงแค่ว่าตัวละครทั้ง 9 ว่าผ่านอะไรมา ได้เรียนรู้ และเติบโตขึ้นยังไง ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และทุกคนต้องเคยผ่านมันมาก่อนสักครั้งในช่วงชีวิต

"ปัญหาวัยรุ่นเราไม่สามารถแก้ได้ด้วยการไปบอกว่า เราไม่อยากให้ลูกมีเซ็กซ์ในวัยเรียน ไม่ยอมให้ลูกมีแฟน แต่เราจะแน่ใจได้ยังไงว่า ลับหลังจะเป็นยังไง ดังนั้น ซีรีส์ฮอร์โมนฯจึงสร้างมาเพื่อทำให้เด็กวัยรุ่นและพ่อแม่เข้าใจปัญหาว่ามันเกิดจากอะไร จากนั้นช่องทางในการแก้ปัญหามันจะออกมาเอง"

ทรงยศ ย้ำว่า ความพลุ่งพล่านของฮอร์โมนฯมักจะมากจนล้น ทำให้การเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อยกว่าที่คิด พ่อแม่อาจจะรู้จักลูกแค่ในบ้าน แต่นอกบ้านไม่รู้ว่าลูกใช้ชีวิตยังไง

ซีรีส์เรื่องนี้อาจจะทำให้เขาเข้าใจลูกของตัวเองที่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ภูมิ ชื่นบุญ : เรื่อง

Credit: sanook.com
7 ส.ค. 56 เวลา 17:13 2,290 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...