วิทยาลัยซุป ตาร์ หลักสูตรคนบันเทิงเฉียด "ล้าน"

ประมาณต้นปี 2011 ประเทศเกาหลีใต้ได้ส่งออกวัฒนธรรมพ็อปฝ่ายละครอันน่าสนใจออกมาหนึ่งชิ้นในชื่อ "ดรีมไฮท์"

ดรีมไฮท์ เป็นเรื่องราวของเหล่าหนุ่มสาวเกาหลี ผู้มีความฝันอยากจะก้าวขึ้นไปยืนในฐานะ "ไอดอล" แถวหน้าของวงการบันเทิง จึงตัดสินใจเข้า "โรงเรียนสอนศิลปะและการแสดงคิริน" อันโด่งดังในเรื่องการส่งศิลปินสู่โลกมายาโสมขาวมามากมาย

ความน่าสนใจของละครเกาหลีเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่การรวมเหล่าไอดอลชื่อดังอย่าง ซูจี (วงมิสเอ), แทคยอน (วงทูพีเอ็ม), อูยอง (วงทูพีเอ็ม), อึนจอง (วงที-อารา) และไอยู มาร่วมแสดงเรียกเสียงกรี๊ดกร๊าดจากแฟนคลับชาวไทยและทั่วภูมิภาคเพียงเท่านั้น แต่ยังมีในส่วนของการปูทางสร้างศิลปินระดับคุณภาพของโรงเรียนคิริน ที่แสดงให้เห็นถึงการวางรากฐานวัฒนธรรมพ็อปอย่างจริงจังของเกาหลีใต้ จนเกิดความแข็งแกร่งเป็นแนวหน้าของโลก

หากเมืองไทยสามารถนำแนวทางการวางรากฐานดังกล่าวเข้ามาปรับใช้ เพื่อสร้างสรรค์ศิลปินคุณภาพและพัฒนาวงการบันเทิงไทย ที่กำลังอยู่ในช่วงขยายตัวอย่างรวดเร็วตามจังหวะการเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันกับวัฒนธรรมพ็อปต่างชาติได้อย่างสูสี

ดังนั้น "สถาบัน" บ่มเพาะฝีมือและสร้างโอกาสสำหรับการเป็นศิลปินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ทำให้เป็นที่มาของการเปิดตัว "วิทยาลัยศิลปินแห่งเอเชีย" หรือ "Superstar College of Asia" ขึ้นในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้การร่วมมือกับ "มหาวิทยาลัยสยาม" พร้อมพันธมิตรสุดแกร่งด้านการสร้างศิลปินอย่าง "มหาวิทยาลัยคังฮี" จากเกาหลี และ "มหาวิทยาลัยโตไก" จากญี่ปุ่น คอยสนับสนุน

"พิสิษฏ์พงศ์ วรเศรษฐการกิจ" ผู้ก่อตั้งและประธานวิทยาลัยศิลปินแห่งเอเชีย เล่าถึงจุดเริ่มต้นสถาบันสร้างศิลปินแห่งนี้กับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เกิดจากการมองด้วยสายตาของนักลงทุน จนเห็นโอกาส ศักยภาพ และความคุ้มค่าทางการลงทุนของกลุ่มธุรกิจบันเทิงและการศึกษาของไทย

สำหรับแนวทางการสร้างศิลปินของวิทยาลัยซูเปอร์สตาร์เข้าสู่วงการบันเทิงคือ "ความรอบด้าน" ทางความสามารถของศิลปิน เนื่องจากพิสิษฏ์พงศ์มองว่า ศิลปินที่ดีและจะสามารถอยู่รอดได้ในยุคนี้ จำเป็นต้องทำงานวงการบันเทิงได้ทุกแขนง ครบทุกบทบาท ทั้งร้อง เล่น เต้น แสดง

"คุณไม่รู้หรอกว่าโอกาสข้างหน้าที่จะเข้ามาหาตัวคุณคืออะไร เพื่อที่คุณจะมีความสามารถในการหารายได้ในทุก ๆ ด้านอย่างมั่นคง จึงจำเป็นต้องเรียนทุกด้าน ทั้งพิธีกร นักแสดง แต่งเพลง เขียนบท เล่นละคร เล่นมิวสิคอล"

เพื่อสร้างศิลปินสมบูรณ์แบบเข้าสู่วงการบันเทิง วิทยาลัยศิลปินแห่งเอเชียได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านบนสนามบันเทิงของจริงจากหลากหลายแขนง มาร่วมการฝึกสอน อาทิ เอ-พลกฤษณ์ วิริยานุภาพ มือกีตาร์วงพอส, ต้อ-มารุต ผู้จัดละคร, ป๊อด-ธณชัย นักร้อง, ก้อ-ณฐพล มือเบสวงกรู๊ฟไรเดอร์ส ฯลฯ

"คนที่จะเป็นศิลปินคุณภาพต้องเรียนรู้จากคนที่เป็นศิลปิน คนที่ฝึกศิลปิน หรือเจ้าของค่ายเท่านั้น เพราะเขารู้ว่าเส้นทางไหนที่จะเป็นศิลปินได้เร็วที่สุด ไปยังไงให้ถูกวิธี ไม่ใช่ว่าไปแบบสะเปะสะปะหลงทาง ครูที่นี่เป็นมืออาชีพจากทุกค่าย ดังนั้นพวกเขาจึงรู้ว่าวงการต้องการอะไร รู้ว่าควรจะเดินเข้าไปในวงการยังไง และยังสามารถพาคุณเข้าไปเซ็นสัญญาได้ในทันทีหากมีความสามารถเพียงพอ"

อย่างไรก็ตาม พิสิษฏ์พงศ์ชี้แจงว่า การเข้ามาเรียนและจบออกไปจากวิทยาลัยศิลปินแห่งเอเชียไม่อาจ "การันตี" ความดังหรือความสำเร็จได้เต็มร้อย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับการขวนขวายของแต่ละบุคคล

"4 ปีที่เรียน คุณจะได้เจอพวกผู้บริหารค่ายหรือศิลปินไม่ต่ำกว่า 20-30 คน ถ้าเป็นเด็กที่ฉลาดเขาจะเตรียมผลงานมาให้ผู้บริหารฟัง บอร์ดประกาศเราติดงานเอาไว้เยอะแยะ ถ้าคุณไม่เหนื่อยที่จะนั่งรถไปออดิชั่นคุณก็มีโอกาสได้เข้าวงการมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผมจะบอกได้คือ เรานำโอกาสดีมามอบให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ คนขวนขวายก็จะสำเร็จ คนขี้เกียจไม่ฉวยโอกาสนี้เอาไว้ คุณก็อยู่ที่เดิมของคุณต่อไป"

นอกจากขวนขวายแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเลือกเดินสายอาชีพศิลปินคงจะเป็น "ใจรัก" และ "อดทน" เนื่องจากเป็นอาชีพที่เต็มไปด้วยบททดสอบยากลำบากมากมายรออยู่

หากก้าวข้ามผ่านไปได้ก็มีสิทธิ์ที่จะขึ้นป้ายเป็นศิลปินดัง แต่ถ้าทำไม่ได้ สิ่งที่รออยู่จะมีเพียงแค่ความผิดหวังล้มเหลว

"คนที่เราเห็นกันอยู่บนหน้าจอทุกวันนี้ กว่าเขาจะดังขึ้นมาได้บางคนอาจจะโดนปฏิเสธมาไม่ต่ำกว่า 50-100 ครั้ง ถ้าเขาไม่รักอาชีพศิลปิน ไม่มีความสนุกที่จะทำ เขาจะไม่มีทางทนการถูกปฏิเสธมามากถึง 50-100 ครั้ง อย่าไปคิดว่ามันมีทางลัด

ในวงการนี้มันไม่มีหรอก (เน้นเสียง) หรือต่อให้มีคุณก็จะหายไปจากวงการอย่างรวดเร็ว"

ประธานวิทยาลัยซูเปอร์สตาร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในรายวิชาที่เปิดสอน ได้บรรจุวิชาบังคับป้ายแดงอย่าง "ทัศนคติและจรรยาบรรณศิลปิน" เพิ่มลงไป เพื่อสอนให้ "ว่าที่ศิลปิน" ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทัศนคติที่ดีในการทำงาน เช่น ความอ่อนน้อม ไม่หยิ่ง หรือไม่เรื่องมาก ซึ่งจะมีผลให้สามารถยึดอาชีพบนโลกมายาได้ยาวนาน

ขณะที่การเรียนการสอนอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยซูเปอร์สตาร์นั้น พิสิษฏ์พงศ์อธิบายว่า ตอนนี้มีการแบ่งออกเป็น 2 สาขาคือ สาขาวิชาดนตรี และสาขาศิลปะการแสดง

อีกทั้งยังมีหลักสูตรภาคอินเตอร์ขึ้นมารองรับการเปิดตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะมีแนวโน้มว่าในอนาคตประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเสพสื่อไทยเป็นส่วนใหญ่จะหลั่งไหลกันเข้ามาเล่าเรียนเพิ่มขึ้นส่วนในปีหน้าจะเปิดสาขาธุรกิจบันเทิงเพิ่มเติมลงไปอีกหนึ่งหลักสูตร

"นอกจากในเรื่องของศิลป์ นักศึกษาของเรายังต้องเรียนความรู้ในเรื่องของธุรกิจ กฎหมาย การตลาด หลักสูตรของเราเป็นการผสมผสานกันระหว่างหลักสูตรดนตรี การแสดง บริหารธุรกิจ กฎหมาย และครุศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถทำงานในวงการบันเทิงได้ครบทุกด้าน"

ด้วยความที่หลักสูตรอัดแน่น และบุคลากรผู้สอนยังเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับเลิศในวงการ ประกอบกับเครื่องไม้เครื่องมือประกอบการเรียนอันทันสมัย ทำให้ค่าเทอมตลอดหลักสูตร 4 ปีของวิทยาลัยซูเปอร์สตาร์พุ่งตัวขึ้นไปสูงถึง 7-8 แสนกว่าบาท นับได้ว่าเป็นหลักสูตรเรียนการแสดงที่สูงที่สุดในเมืองไทยเลยทีเดียว

แต่ตัวเลขค่าเทอมหลักแสนเฉียดล้าน ก็ใช่ว่าจะมีเพียงแค่คนมีเงิน (มาก) เท่านั้นถึงจะเรียนได้ เพราะด้วยสโลแกนของวิทยาลัยที่พิสิษฏ์พงศ์ย้ำมาตั้งแต่ต้นการสนทนาอย่าง

"ทุกความฝันเป็นจริงได้" ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง กลายเป็นกองทุนการศึกษาเรียนฟรีไร้เงื่อนไขจำนวน 20 ทุน ให้กับเด็กผู้มีฝันและความสามารถเต็มเปี่ยม แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งทุนการศึกษาบางส่วนซึ่งไม่จำกัดจำนวนทุน (หลักเกณฑ์การให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของวิทยาลัย)

แม้ปัจจุบันยังไม่มีนักศึกษารายใดจากหลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์จบออกมาการันตีปริญญาตรีซูเปอร์สตาร์แต่หากมองจากผลงานของซูเปอร์สตาร์อะคาเดมีที่เป็นพื้นเพเดิมของมหาวิทยาลัยซูเปอร์สตาร์ ซึ่งพัฒนาทักษะและสร้างศิลปินคุณภาพเข้าสู่วงการมาแล้วหลายราย อาทิ เก้า-จิรายุ ละอองมณี, ไอซ์-ภรภัสสรณ์ ชัยอนันต์นิธิ ผู้ชนะเลิศเอเอฟ 9, จิงจิง-วริศรา ยู ผู้ชนะเลิศไทย ซูเปอร์โมเดล 2012 ฯลฯ

นับว่ามีโอกาสลุ้นไม่น้อยที่จะได้เห็น "ศิลปินไทย" จากวิทยาลัยซูเปอร์สตาร์ ประสบความสำเร็จยืนอยู่แถวหน้าของวงการบันเทิง แบบเดียวกันกับเหล่าศิลปินนักล่าฝันจากละครเรื่องดรีมไฮท์ในอนาคตอันใกล้

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

โดย ภูมิ ชื่นบุญ

Credit: sanook.com
7 ส.ค. 56 เวลา 17:11 1,396 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...