เบอร์เกอร์ที่มีการเพาะในห้องปฏิบัติการชิ้นแรกของโลก ถูกปรุงและรับประทานในงานแถลงข่าวที่กรุงลอนดอนแล้ววันนี้ (5 ส.ค.)
เบอร์เกอร์ดังกล่าวได้รับการปรุงโดยเชฟ ริชาร์ด แมคโกวาน จากแคว้นคอร์นวอลล์ โดยมีฮันนี รุสตซ์เลอร์ นักวิจัยอาหารชาวออสเตรีย และจอช เชินวาลด์ นักชิมอาหาร เป็นผู้ชิม
รุสตซ์เลอร์ กล่าวว่าเธออยากให้เนื้อนุ่มกว่านี้ เนื้อมีรสชาติรุนแรงในบางจุด แม้จะใกล้เคียงกับเนื้อ แต่ไม่ฉ่ำเท่าเนื้อจริง การยืดตัวของเนื้อสมบูรณ์ดี แต่ยังขาดความกลมกล่อมของเกลือและพริกไทย ส่วนเชินวาลด์กล่าวว่า รสชาติเนื้อเต็มปากเต็มคำ แต่ยังขาดความมัน และไม่สมบูรณ์นัก แต่โดยรวมก็เหมือนทานแฮมเบอร์เกอร์
นอกจากนั้น ยังมีการเปิดเผยว่า เซอร์เกย์ บริน ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินของโครงการคิดค้นเนื้อชนิดใหม่ด้วย
ทั้งนี้ เบอร์เกอร์เนื้อชิ้นประวัติศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งมีน้ำหนักราว 140 กรัม และเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตมากกว่า 250,000 ยูโร ที่ถูกผลิตขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำเซลล์จากวัว ก่อนที่สถาบันวิทยาศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์ จะเปลี่ยนเซลล์ดังกล่าวให้กลายเป็นแผ่นกล้ามเนื้อรูปทรงยาว นักวิจัยเผยว่า เนื้อดังกล่าว เมื่อนำมาประกอบอาหารตามปกติ และแต่งเติมรสชาติและสีสันโดยใช้หัวบีทรูตและหญ้าฝรั่น ก็จะได้เบอร์เกอร์เนื้อที่มีรสชาติไม่แตกต่างจากเนื้อวัวจริงๆ
ศาสตราจารย์มาร์ค โพสต์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมาสทริชท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ร่วมพัฒนาเนื้อดังกล่าวเปิดเผยว่า เนื้อมีความปลอดภัยในการบริโภค และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเพื่อทดแทนเนื้อจริงได้
ศ.โพสต์ เปิดเผยว่า สิ่งที่กำลังทดลองทำอยู่นี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเขาหวังว่าเนื้อชนิดใหม่นี้จะเป็นคำตอบสำหรับปัญหาหลักๆที่โลกกำลังเผชิญ และเนื้อดังกล่าวก็ผลิตมาจากเซลล์ของวัว ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเซลล์ใดๆเลยแม้แต่น้อย แต่มันจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมันต้องมีรูปลักษณ์ ให้ความรู้สึก และรสชาติที่เหมือนเนื้อจริง
ทีมนักวิจัยในเนเธอร์แลนด์ ได้สกัดเซลล์จากเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อของวัวที่มีการเลี้ยงด้วยวิธีออร์แกนิค และนำมาเพาะในสารอาหารและสารเร่งการเติบโต เพื่อช่วยให้เซลล์มีการพัฒนาและเพิ่มจำนวน เพื่อสร้างเป็นเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ โดยในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ส่งผลให้เกิดสเต็มเซลล์นับล้านๆเซลล์ ซึ่งจะถูกนำไปใส่ในภาชนะขนาดเล็ก ที่ก่อให้เกิดการโคอะเลสเซนส์ หรือการจับกันเป็นก้อน จนกลายเป็นแถบเนื้อชิ้นเล็กๆ ยาวประมาณ 1 ซม. และหนาไม่กี่มิลลิเมตร
ต่อมาจึงนำชิ้นเนื้อดังกล่าวมาทำการอัดก้อนและนำไปแช่แข็ง เมื่อได้ขนาดที่เหมาะสมแล้ว จึงนำไปประกอบอาหาร อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างสีสันให้น่ารับประทาน นักวิจัยได้แต่งสีด้วยน้ำบีทรูต รวมถึงเพิ่มเกล็ดขนมปัง คาราเมล และหญ้าฝรั่น เพื่อให้รสชาติดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงสามารถผลิตได้แต่เนื้อที่มีขนาดเล็กเท่านั้น และหากต้องการผลิตชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ นักวิจัยจำเป็นต้องใช้ระบบการคำนวณสังเคราะห์ เพื่อช่วยกระจายสารรอาหารและอ็อกซิเจน
ด้านองค์กรพิทักษ์สัตว์ PETA แถลงแสดงความยินดีว่า เนื้อชนิดนี้จะชาวยยุติการฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหารของมนุษย์ เช่นวัวและไก่ ลงได้ รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดการใช้น้ำ และทำให้มีความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น