สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.
ว่าทีมนักวิทยาศาสตร์จากเนเธอร์แลนด์เผยโฉมแฮมเบอร์เกอร์ที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อวัวชิ้นแรกของโลก ซึ่งสามารถรับประทานได้และมีรสชาติใกล้เคียงกับแฮมเบอร์เกอร์ที่วางจำหน่ายทั่วไป
ศาสตราจารย์มาร์ค โพสต์ จากมหาวิทยาลัยมาสตริชต์ ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมงานคิดค้น "แฮมเบอร์เกอร์เนื้อสังเคราะห์" ชิ้นแรกของโลก
กล่าวในงานแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน เกี่ยวกับขั้นตอนเบื้องต้นในการทำเนื้อแฮมเบอร์เกอร์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาตร์ว่า ทีมงานเพาะเลี้ยงเซลล์จากเนื้อเยื่อของวัวที่ตายแล้ว และกระตุ้นด้วยสารเคมีจนกระทั่งมันเกิดการพัฒนาทางโครงสร้างและจับตัวกันคล้ายเส้นใยของกล้ามเนื้อ จากนั้นนำก้อนเนื้อที่ได้ไปอัดก้อนแล้วแช่งแข็งตามปกติ ก่อนนำมาทดลองปรุงเป็นอาหาร
ขณะที่นางฮันนี รุตสเลอร์ นักชิมและวิจารณ์อาหารชื่อดังของออสเตรีย หนึ่งในผู้ได้รับเชิญให้มาร่วมชิมแฮมเบอร์เกอร์วิทยาศาสตร์ชิ้นแรก กล่าวว่ารสชาติของเนื้อประดิษฐ์ชิ้นนี้มีความใกล้เคียงกับเนื้อวัวจริงมาก แม้จะยังไม่ชุ่มฉ่ำเท่า แต่มีความเหนียวนุ่มและรสสัมผัสที่เกินความคาดหมายอย่างมาก
ด้านผู้เชี่ยวชาญในวงการโภชนาการและวิทยาศาสตร์การอาหารต่างแสดงท่าทีในเชิงตอบรับแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นนี้ในแง่บวก
โดยกล่าวไปในทางเดียวกันว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสำคัญในการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารและการรักษาระบบนิเวศในอนาคต อย่างไรก็ตาม ศ.โพสต์กล่าวว่า หนทางสู่ความสำเร็จที่แท้จริงยังอีกยาวไกล โครงการของเขาต้องได้รับการปรับปรุงอีกมาก งานในวันนี้เป็นเพียงความต้องการของเขาและทีมงาน เพื่อเผยให้โลกรู้ก่อนว่า เทคโนโลยีการผลิตอาหารแบบใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนส่วนหนึ่งจากนายเซอร์เกย์ บริน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท "กูเกิ้ล"