กองทหารไทยบนแผ่นดินเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 1
กองเกียรติยศและธงชัยเฉลิมพล กับทหารไทยในดินแดนเยอรมนี
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น ประมาณ 1 สัปดาห์ รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายโดยประกาศความเป็นกลาง เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2457 เพราะอังกฤษและฝรั่งเศส มีอำนาจอยู่ในประเทศรอบ ๆ บ้านเรา จะทำให้เราเดือนร้อน การประกาศในครั้งนี้ รัฐบาลไทยตระหนักดีว่า ไทยไม่สามารถรักษาความเป็นกลางได้ตลอดไป
การประกาศในครั้งนี้เป็นการยืดระยะเวลาออกไปเท่านั้น เพราะไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ อังกฤษและฝรั่งเศสจะยึดประเทศของเราเมื่อไรก็ได้ แต่เขายังไม่เห็นความจำเป็น เราจึงเป็นกลางอยู่ได้ รัฐบาลไทย มองถึงประโยชน์ที่เราจะเข้าร่วมสงคราม การที่ไทยประกาศความเป็นกลางอยู่ ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ การที่ไทยประกาศความเป็นกลางก็มีแต่เสมอตัวหรือไม่ก็ขาดทุน
อังกฤษและฝรั่งเศสต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อที่เขาจะได้ประโยชน์ อาทิ ไล่ชาวเยอรมันออกจากประเทศของเราให้หมด เลิกค้าขายกับเยอรมัน ซึ่งเราจะเสียเปรียบถ้าสงครามสงบลง เมื่อรัฐบาลคิดแบบนี้ ไทยจึงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี ตุรกี ) เมื่อ 22 กรกฎาคม 2460
การดำเนินงานเมื่อไทยประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง
1. จับเชลยศึก เป็นชาวเยอรมัน 178 ราย ออสเตรีย 17 ราย ครอบครัวเชลยสตรีและเด็ก 123 ราย รวม 318 ราย
2. ยึดเรือเชลยศึก 25 ลำ ประกอบด้วยเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ 9 ลำ เรือเดินในอ่าวไทย 7 ลำ เรือบรรทุกลำเรียง 9 ลำ และลูกเรือ 137 ราย
3. ส่งทหารเข้าร่วมรบในสมรภูมิยุโรป คณะทหารอาสาของไทยประกอบด้วย กองบินทหารบก มีกำลังพลประมาร 500 คน อยู่ในบังคับบัญชาของ พ.ต. หลวงทยานพิฆาต (ทิพย์ เกตุทัต) และกองทหารบกรถยนต์ มีกำลังพลประมาณ 850 คน อยู่ในบังคับบัญชาของ ร.อ. หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี)
ทหารไทยออกเดินทางโดยเรือเอ็มไพร์ ไปประเทศฝรั่งเศส โดยออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2461 ถึงเมืองมาร์แซร์ ประเทศฝรั่งเศส 30 กรกฎาคม 2461ทหารไทยต้องไปเรียนรู้วิธีการบสมัยใหม่ อาทิ การใช้อาวุธ การยิง การทิ้งระเบิด การสื่อสาร การใช้วิทยุโทรเลข โดยเริ่มเรียนตั้งแต่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ถึง 20 มีนาคม พ.ศ. 2462 จึงสำเร็จการศึกษา แต่ไม่ทันร่วมรบในสงครามเพราะสงครามโลก ได้ยุติลงเสียก่อน เมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461
รัชกาลที่ 6 ได้โปรดฯให้คัดเลือกทหารไทย ฝึกและหาความรู้เพิ่มเติมในวิชาการบิน และช่างเครื่องยนต์ เมื่อฝึกสำเร็จทหารไทยได้ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ โดยทำหน้าที่ลำเลียงส่งกำลังให้แก่กองทัพฝ่ายพันธมิตร ในคราวเคลื่อนทัพยึดดินแดนของเยอรมันทางฝั่งซ้ายแม่น้ำไรน์
ผลงานของทหารอาสายุติลงเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 กองทหารอาสารุ่นสุดท้ายของไทยเดินทางกลับถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2462 ทหารไทยเสียชีวิตไป 20 นาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้สร้าง “อนุสาวรีย์ทหารอาสา” ไว้ ณ บริเวณทิศเหนือของสนามหลวง และสร้าง วงเวียน 22 กรกฎาคม เป็นที่ระลึกสำหรับการประกาศสงครามเข้าเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร
ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ การเจรจาเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ
การดำเนินงานแก้ไขสนธิสัญญา
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง รัฐบาลเยอรมันยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรบนรถไฟ ณ เมืองแคมเปญ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 การประชุมทำสนธิสัญญาก็เริ่มขึ้น ณ พระราชวังแวร์ซายส์ โดยมีผู้แทนจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าร่วมประชุม 53 ประเทศ โดยมีผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย 3 ท่านคือ
1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส
2. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ (กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย) เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ
3. พระยาพิพัฒน์โกษา เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรม
ตามสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์ ผู้แทนไทยมีส่วนร่วมในการลงนามด้วย ในการประชุมชาติมหาอำนาจได้ตกลงตั้ง สันนิบาตชาติขึ้น ตามข้อเสนอของ ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ซึ่งไทยก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติด้วย เป็นการประกาศว่า ไทยมีส่วนร่วมในการสนันสนุนความเที่ยงธรรมระหว่างประเทศ แต่ไทยยังถูกผูกมัดติดกับสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ที่ไทยได้ทำไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ( พ.ศ. 2398 )
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ไทยสามารถแก้ไข สนธิสัญญาดังกล่าวได้ 2 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยที่สหรัฐอเมริกา ยอมให้ชาวอเมริกันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย ขึ้นศาลไทย แต่กงสุลอเมริกันยังมีสิทธิ์ในการถอดถอนคดีต่าง ๆ ของไทยซึ่งรวมทั้งศาลฎีกาไปพิจารณาได้ กรณีที่ไม่พอใจคำพิพากษาของศาลไทย จนกว่าไทยจะมีประมวลกฎหมายใช้ครบบริบูรณ์แล้วเป็นระยะเวลา 5 ปี แต่ทางไทยก็ไม่ตกลง จะทำให้ชาติอื่น อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเดนมาร์ก ทำตามด้วย
บุคคลที่มีส่วนช่วยไทย ในการแก้ไขสนธิสัญญา คือ ดร. ฟรานซิส บี แซร์ (Dr. Francis B. Sayre) ช่วยเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา การแก้ไขสนธิสัญญากับอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษมีผลประโยชน์ทางการค้าจากไทยมาก ดังนั้นอังกฤษจึงไม่ยอมยกเลิกสนธิสัญญาโดยง่าย หลังจากการเจรจาต่อรองกัน กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ก็ยอมยกเลิกสัญญาเก่าและทำสัญญาใหม่ภายในเวลา 10 ปี ประเทศอื่น ๆ ก็ทำอย่างเดียวกับประเทศอังกฤษ ไทยสามารถแก้ไขสนธิสัญญาได้ทั้งหมดก็ล่วงเลยถึงสมัยรัชกาลที่ 8
ภาพประกอบ: กองทหารไทยในดินแดนเยอรมนี จากดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2466