ยิ่งจริงจังและเด็ดขาดมากขึ้นกับการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศเรื่องล้างบางยาเสพติดเป็นหนึ่งในนโยบายหลักตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มาจนถึงได้เป็นรัฐบาล
รูปธรรมแรกที่เห็นชัดคือการวางตัวบุคคลต่างๆ เข้ารับตำแหน่งสำคัญๆ เช่นพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผบ.ตร. เคยดำรง ตำแหน่งผบช.ปราบปรามยาเสพติด ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากองบัญชา การตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.)
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. คนปัจจุบันก็เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส. ก่อนลุกจากเก้าอี้เมื่อขึ้นมาเป็นผู้นำสีกากี และคนที่มารับไม้ต่อคือพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร.
ตามมาด้วยมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ไม่ว่าจะบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้ามารวมกันเพื่อประสิทธิภาพในการปราบยาเสพติด
การวางแผนจัดตั้งเรือนจำความมั่นคงสูงสุด เพื่อสกัดเจ้าพ่อหรือขาใหญ่ยาบ้าที่ถูกจับแต่ยังสามารถสั่งการแขนขาที่อยู่ภายนอกได้
รวมไปถึงโครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน เข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอตามชุมชนต่างๆ
แต่กระนั้นยาเสพติดยังแพร่ระบาดเนื่อง จากถูกปล่อยปละละเลยมานานหลายปี นับจากการปฏิวัติรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549
เรื่องของเรื่องเพราะปัญหา ฆ่าตัดตอน ที่พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้านนำมาโหมโจมตีรัฐบาลทักษิณ จึงเมื่อตัวเองขึ้นมาเป็นรัฐบาลจึงไม่กล้าปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังเพราะติดหล่มคำพูดตัวเอง
วงการยาเสพติดจึงเฟื่องฟูและแพร่ขยายอย่างกว้างขวาง
แม้มาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากดูสถิติการปราบปรามเทียบย้อนกลับไป 4-5 ปี จักพบว่ามีการจับกุมได้จำนวนมาก แต่เพราะละเลยมานานทำให้เครือข่ายพวกนี้ฝังรากลึก
บวกกับที่ผ่านมาเกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่กล้าใช้ความรุนแรง ทำให้ตำรวจหรือป.ป.ส.ตกเป็นเหยื่อกระสุนแก๊งยาบ้าไปแล้วหลายศพ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องปรับกระบวนท่าใหม่ เน้นถึงลูกถึงคนมากขึ้น หากคนร้ายต่อสู้ขัดขืนเจ้าหน้าที่พร้อมตอบโต้ทันทีเช่นกัน
ปะทะเดือดแก๊งยามหาภัย
จากตัวเลขของป.ป.ส.ช่วง 8 เดือนระหว่างเดือนตุลาคม 2555-พฤษภาคม 2556 ทุกหน่วยภายใต้การประสานงานของ ป.ป.ส. จับกุมผู้ต้องหา (รวมผู้เสพ) 734,750 คน ยึดของกลางยาบ้า 83,047,081 เม็ด เฮโรอีน 265.44 กิโลกรัม ไอซ์ 1,284.44 กิโลกรัม ตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินรวมมูลค่า 1,844.11 ล้านบาท สามารถนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดได้ 343,258 คน
แม้ตัวเลขการจับกุมจะมีปริมาณมากกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนขบวนการค้ายาเสพติดไม่หมดไปง่ายๆ บวกกับที่ผ่านมาเกิดเหตุคนร้ายยิงต่อสู้ทำให้เจ้าหน้าที่พลีชีพจำนวนมาก
ทำให้ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับมาตรการจับกุมให้เด็ดขาดมากขึ้น
ขบวนการยาเสพติดรายใหญ่สุดไม่พ้นกลุ่ม ยี่เซ ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ลักลอบส่งยาเสพติดแทบทุกชนิดเข้ามาทางชายแดนภาคเหนือ
ตำรวจและป.ป.ส.เคยปะทะกับเครือข่ายยี่เซหลายครั้ง กวาดจับ เอเยนต์ได้หลายราย แต่กลุ่มยี่เซก็ปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่งไปเรื่อยๆ
ล่าสุดใช้วิธีส่งยาบ้าผ่านทางขนส่งเอกชนจากเชียงรายเข้ากรุงเทพฯ แล้วให้เครือข่ายไปติดต่อรับ กระทั่งเกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปส. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริเวณแยกเทวกรรม เขตดุสิต กทม.
นายพิเชษฐ์ ดอกไม้พุ่ม อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 1 อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี คนร้ายถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ส่วนพรรคพวกอีกคนถูกวิสามัญฆาตกรรม
ที่น่าตระหนกในรถพบเด็กทารกอยู่ด้วย คาดว่านำมาเพื่อใช้ตบตาเจ้าหน้าที่
ตำรวจขยายผลตามไปถึงบ้านพักของคนร้ายพบเงินสด 2 ล้านบาทในตู้เซฟ และอาวุธปืนจำนวนมาก
นอกจากนี้พบว่าวันเกิดเหตุเมียนายพิเชษฐ์ พาเพื่อนมาขนกระเป๋าออกจากบ้านไปหลายใบคาดว่าเป็นเงินสดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
แสดงให้เห็นถึงความใหญ่โตของเครือข่ายยาบ้ายี่เซ ที่ฝังตัวในเมืองกรุง
อีกรายดวลสนั่นเมืองชล
วันเดียวกับที่ปราบแก๊งยายี่เซ ตำรวจปส.ภาค 2 ติดต่อล่อซื้อยาบ้าจากนายสันติสุข ยินดีสุข อายุ 28 ปี นัดรับของหน้าคอนโดฯ แห่งหนึ่งในอ.เมืองชลบุรี ช่วงเย็น
นายสันติสุขพร้อมกับพวกขับรถฮอนด้า ซีวิค สีบรอนซ์ ทะเบียน ชห 1401 กทม. มาส่งของ แต่เกิดไหวตัวทันเมื่อเห็นตำรวจขับรถเข้าประกบ คนในรถใช้ปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่แล้วซิ่งรถไล่ยิงตอบโต้กันไปมา
ก่อนที่รถคนร้ายจะเสียหลัก คนในรถเปิดประตูวิ่งหนีไปคนละทาง
ภายในรถพบศพน.ส.สุนิสา ดอกเดื่อ อายุ 22 ปี นิสิตปี 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 11 ม.ม. เข้าที่ท้ายทอย 1 นัด!!!
สอบเบื้องต้นพบว่านายสันติสุขเป็น เอเยนต์ ยาบ้ารายใหญ่ในพื้นที่ซึ่งตำรวจจับตามานานแล้ว กระทั่งสามารถส่งสายแฝงตัวเข้าไปล่อซื้อโดยติดต่อกันในช่วงเช้าก่อนนัดรับของตอนบ่าย
เมื่อถึงเวลานัด นายสันติสุขขับรถพา น.ส.สุนิสานั่งคู่มาตอนหน้า และด้านหลังมีพรรคพวกนั่งมาด้วย แต่เกิดเอะใจจึงหลบหนีและยิงต่อสู้กับตำรวจกระทั่งเกิดเรื่องขึ้น
ชุมชนอุ่นใจฯ-ช่วยแก้
พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดว่า จากข้อมูลมียาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าราว 500 ล้านเม็ด จ่ออยู่ที่ชายแดนไทยพยายามส่งเข้ามาขายทางช่องทางต่างๆ การสกัดกั้นแม้จะทำได้แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด จึงต้องวางมาตรการป้องกันไม่ให้ทะลักเข้ากรุงเทพฯ
พล.ต.อ.พงศพัศระบุว่า หากยาเสพติดเข้ากรุงเทพฯ ได้มากมีโอกาสกระจายสู่ชุมชน รวมทั้งส่งไปยังภูมิภาคอื่นได้ง่าย
การป้องกันของป.ป.ส.นอกจากวางแผนสืบจับ ส่งสายเข้าไปล่อซื้อแล้ว ยังเพิ่มระบบด่านตรวจและจุดสกัดออนไลน์ตามเส้นทางสายสำคัญที่สามารถส่งภาพและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับศูนย์ปฏิบัติการของป.ป.ส.ในส่วนกลางได้แบบเรียลไทม์
ไม่เพียงการปราบปรามเท่านั้นแต่ป.ป.ส.และรัฐบาลยังวางแนวทางป้องกัน หนึ่งในโครงการสำคัญคือ ?โครงการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน" ที่ยังทำอย่างต่อเนื่อง หลังจากโครงการระยะแรกประสบความสำเร็จอย่างดี
โดยเฉพาะโครงการบ้านอุ่นใจชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นชุมชนแหล่งรวมยาเสพติดและปัญหาอาชญากรรมมากที่สุดของกรุงเทพฯ โดยเริ่มเปิดโครงการเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นศูนย์ปฏิบัติการใหญ่ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปเป็นประธานเปิดด้วยตัวเอง
"ผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถจับกุมผู้ค้าได้กว่า 100 ราย พร้อมของกลางเป็นยาบ้า ไอซ์ และกัญชาจำนวนมาก มีการจับกุมผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ทั้งภายในและภายนอกชุมชน จำนวน 434 คน" เลขาธิการป.ป.ส.กล่าว
อีกชุมชนที่ประสบผลสำเร็จคือชุมชนไผ่เขียว จ.พระนครศรีอยุธยา ที่นี่เป็นชุมชนยาเสพติดใหญ่สุดของปริมณฑล และยังเป็นจุดพักยาเสพติดแหล่งใหญ่จากภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเตรียมจำหน่ายในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ภาคใต้
สำหรับ "ชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน" ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ 12 แห่งทั่วประเทศ โดยภาพรวมถือว่าทำได้น่าพอใจ อย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
ป้องปรามขาใหญ่ในคุก
อีกหนึ่งแผนป้องกันยาเสพติดของรัฐบาล คือการปิดช่องทางติดต่อของขาใหญ่ในเรือนจำกับลูกน้องภายนอก เพราะที่ผ่านมาตำรวจสามารถจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้หลายราย พบว่ามีผู้สั่งการเป็นนักโทษในเรือนจำ
อาทิ ?เจ้าฟูเฉิน"นายชาญณรงค์ มูเซอ หรือเกษมทัศน์ ญาติ ?ขุนส่า" อดีตราชายาเสพติดแนวชายแดน ซึ่งมีเครือข่ายใหญ่อยู่ภาคเหนือ
นายชาญณรงค์ถูกดีเอสไอ และหน่วยดีอีเอ ปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐ ร่วมกันจับกุมยึดทรัพย์นับร้อยล้านบาทโดยศาลตัดสิน จำคุกกว่า 30 ปี คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ แม้เจ้าตัวจะอยู่ในคุก แต่สามารถติดต่อกับลูกน้องให้ทำธุรกิจยาเสพติดต่อไป
นอกจากนี้ยังมีนักโทษขาใหญ่อีกหลายคนที่ใช้วิธีการเช่นนี้
ทำให้ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์มีแนวคิดสร้างคุกพิเศษหรือเรือนจำความมั่นคงสูงสุด (Super Max) แต่ต้องใช้เวลาก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 3 ปี และใช้งบประมาณมากกว่าเรือนจำปกติถึง 5 เท่า
เรือนจำทั่วไปใช้งบประมาณสร้าง 400-700 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นเรือนจำมั่นคงสูงสุดต้องใช้งบฯ 2-3 พันล้านบาท ออกแบบเพื่อควบคุมผู้ค้ายาเสพติดรายสำคัญ มีทั้งห้องขังเดี่ยวและห้องขังรวมขนาดเล็กให้ง่ายต่อการตรวจค้น รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทคจับตานักโทษ และอุปกรณ์ป้องกันใช้โทรศัพท์
แต่ก่อนที่การสร้างเรือนจำมั่นคงสูงสุดจะแล้วเสร็จ มีมาตรการเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นย้ายนักโทษขาใหญ่ไปอยู่เรือนจำเขาบิน จ.ราชบุรี ซึ่งมีความมั่นคงสูง วางมาตรการติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ในเรือนจำใหญ่ๆเช่น พิษณุโลก เรือนจำกลางคลองไผ่ และเรือนจำกลางระยอง
นโยบายและโครงการทั้งหลายทั้งปวงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมทั้งล่าสุดตำรวจและป.ป.ส. เน้นการทำงานอย่างเด็ดขาดมากขึ้น
เพื่อการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังให้ได้ผลที่สุด!!