ทำไมต้องนิรโทษฯ นักโทษการเมือง

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็ยืนกรานว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว 



อีกฟากหนึ่ง ในเวทีวิชาการก็มีผู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมไว้หลากหลาย ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) จัดอภิปรายในหัวข้อ "108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง" มีนักวิชาการหลายคนมาแลกเปลี่ยนความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ



เปิดเวทีอภิปรายโดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ยกตัวอย่างการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านมาเปรียบเทียบ โดยระบุว่าประเทศพม่าที่เผชิญปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมานานนับเสี้ยวศตวรรษ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กลับประกาศว่าจะไม่มีนักโทษการเมืองเหลืออยู่ในพม่าภายในสิ้นปีนี้ 



ขณะที่ประเทศกัมพูชา พระมหากษัตริย์ก็พระราชทานอภัยโทษให้ นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้าน ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน 



อาจารย์ชาญวิทย์ชี้ว่า นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่อาเซียนกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่สำหรับไทยนับเป็นเรื่อง น่าเศร้าที่เรายังต้องพูดถึง 108 เหตุผลที่นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง แท้จริงแล้วไม่ควรมีเหตุผลใดที่จะมีนักโทษการเมือง ที่เกิดจากการคิด พูด อ่าน เขียน โดยมีความเห็นไม่ตรงกับอุดมการณ์ของรัฐ 



ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ ย้อนและเปรียบเทียบว่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน ไทยออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ฉบับ เฉลี่ยแล้ว 3 ปีครึ่ง มีกฎหมายนิรโทษกรรม 1 ฉบับ แต่กว่าร้อยละ 70 เป็นการนิรโทษกรรมให้กับชนชั้นนำ 



ขณะที่กฎหมายที่มุ่งนิรโทษกรรมความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองใน 3 เหตุการณ์สำคัญ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์พฤษภา 2535 กลายเป็นตลกร้ายคือ คือนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ไปพร้อมกันด้วย จนกลายเป็น "ใบอนุญาตฆ่าประชาชน" 



"การนิรโทษกรรมในปี 2556 ต้องไม่ใช่การนิรโทษกรรมเช่นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เพราะประวัติศาสตร์บอกเราชัดเจนว่า ตราบใดที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ ก็จะมีความรุนแรงตามมา อย่าให้ประวัติศาสตร์สอนเราว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ต่อไปอีกเลย" อดีตอธิการบดี มธ.ให้ความเห็น



ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นเรื่องความชอบธรรมที่นักโทษการเมืองต้องได้รับ ในฐานะที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าเหตุการณ์หลายปีที่ผ่านมา เป็นการใช้สิทธิของประชาชนในฐานะพลเมือง ดังนั้นการนิรโทษกรรมจึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน



นพ.นิรันดร์เสนอว่า ทุกคนควรมีส่วนร่วมกับการนิรโทษกรรมโดยไม่แยกสี แยกข้าง และการนิรโทษกรรมต้องยืนหยัดปกป้องสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ให้บุคคลที่แปลกปลอมในทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงและครอบงำ 



นักวิชาการอีกคนที่แสดงความเห็นไว้อย่างแหลมคม คือ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์นักสันติวิธี แห่งคณะรัฐศาสตร์ มธ. ที่ระบุว่าการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องยากในสังคมไทย และแม้จะมีกฎหมายนิรโทษกรรม ก็จะยกโทษให้แต่ชนชั้นนำเท่านั้น 



ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงนิรโทษกรรมทางการเมือง เรากำลังพูดถึงการจัดการกับความแตกต่างในสังคมทางการเมือง สังคมนี้กำลังปล่อยให้เกิดโรคที่บอกว่า คนคิดต่างทางการเมืองเป็นคนอันตราย ซึ่งนำมาสู่การปราบปราม จับกุม และทำร้าย ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องคิดว่า ในประเทศนี้มีความเห็นต่างทางการเมืองจริงๆ และคิดต่อว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความผิดทางการเมือง แท้จริงแล้วเป็นสิทธิ เป็นเสรีภาพของคน 



ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวถึงประโยชน์ของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ ส.ส. ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนเป็นเหยื่อการปราบปรามของรัฐ จึงช่วยแก้ปัญหาระหว่างประชาชนกับรัฐ และส่วนตัวเห็นว่าการนิรโทษกรรมเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้ผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างรวดเร็ว 
 



ส่วนที่กลัวกันว่านิรโทษกรรมแล้ว ต่อไปจะมีคนออกมาชุมนุมอีกนั้น นายจาตุรนต์เสนอว่า สังคมก็ต้องมาตั้งหลักกัน ไม่ใช่บอกว่า ใช้กฎหมายให้เข้มงวดที่สุด เอากระบวนการยุติธรรมมาจัดการกับทุกปัญหาที่เกิดขึ้น



เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่บอกว่าการนิรโทษกรรมมีความจำเป็นอย่างมาก การปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรม คนกลุ่มนี้ต้องได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่ความสมเพชเวทนา 



"แต่ความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากความจริงไม่ได้รับการเปิดเผย ส่วนตัวเชื่อว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ว่าฉบับไหนก็ตาม มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่ระหว่างกระบวนการที่จะนำไปสู่การปล่อยตัวนักโทษการเมือง หวังว่านักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมด้วย" อาจารย์ปวินกล่าว



อีกคนสำคัญ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าประเทศไทยต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม เชื่อถือไม่ได้ และไม่เป็นที่พึ่ง แต่กลับเอื้ออำนวยให้ผู้มีอำนาจ



ธรรมเนียมการปฏิบัติของไทย คือเอาความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐมายึดกับฝ่ายอำนาจ แทนที่จะยึดหลักความเที่ยงธรรมเพียงหลักเดียวเท่านั้น ตัวอย่างง่ายๆ คือการไม่ยอมให้ประกันตัว 



"การนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมือง ไม่ใช่การลบล้างความผิดให้คนที่อยู่ในคุก แต่คนเหล่านี้ไม่มีความผิดตั้งแต่ต้น และไม่ควรเข้าไปอยู่ในคุกอยู่แล้ว" อาจารย์ธงชัยย้ำ 



ส่วน น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล สะท้อนว่าการนิรโทษกรรมเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า เป็นก้าวแรกของความปรองดอง ทำให้ทุกฝ่ายกลับมาไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกครั้ง 



เหตุผลที่ต้องปล่อยนักโทษการเมืองโดยเร็วที่สุด เพราะเราสูญเสียพี่น้องไปในคุกอย่างน้อย 2 คน และหลายคนได้ประกันตัวออกมา แต่ชีวิตประสบปัญหา เสียชีวิตไปอีกหลายคน วันนี้จึงถือว่าหมดเวลาถกเถียงกันแล้ว



นอกจากนักวิชาการ ยังมีความเห็นจาก ผู้กำกับภาพยนตร์สะท้อนภาพปัญหาสังคมไทยอย่าง อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกฉบับที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มี ความชัดเจน และปัดความเกี่ยวข้องกับคดี 112 ไปเลย 



"ที่ผ่านมา นักโทษการเมืองหมุนเวียนจากนักโทษที่เป็นเจ้า มาเป็นนักศึกษา นักคิด นักเขียน และขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่รู้ว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง แต่ไม่ว่าคนในคุกจะเป็นใคร เราต้องช่วยกันล้มล้างโรคสามัญสำนึกเสื่อม คิดว่าอะไรคือความเป็นไทย อะไรคือความเป็นธรรมที่แท้จริง และต้องสร้างรัฐที่เคารพความเป็นคน ไม่ว่าคนนั้นจะเชื่อสิ่งใดก็ตาม" ผู้กำกับหนังคนดังกล่าว 



ด้าน นางวาสนา มาบุตร มารดาของ น.ส. ปัทมา มูลมิล นักโทษการเมืองที่ยังอยู่ระหว่างถูกคุมขัง กล่าวทั้งน้ำตาว่า ครอบครัวไม่เคยได้รับความเป็นธรรม 3 ปีที่ผ่านมา อยากขอร้องผู้มีอำนาจช่วยเหลือลูกสาวและเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย



สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ 'ชีวิต' และเสียงเรียกร้องขอกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น จากการรวบรวมข้อมูลของศปช. พบว่า ตั้งแต่การสลายชุมนุมปี 2553 ถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกจับกุมในคดีการเมือง 1,833 คน นับเป็น 1,151 คดี



ในจำนวนนี้เป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว 1,644 คน อยู่ระหว่างจำคุก 5 คน และเป็นคดีที่ยังไม่สิ้นสุด 150 คน



ในจำนวนนี้ได้ประกันตัวไปแล้ว 137 คน ยังอยู่ในเรือนจำอีก 13 คน



นอกจากนี้ยังมีหมายจับ ที่ค้างอยู่ในจังหวัดต่างๆ อีกเป็นหลักร้อย 



"การผลักดันร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้ผู้ที่กระทำผิดทางการเมือง เพื่อให้เกิดความปรองดอง แต่เพื่อแก้ไขความผิดพลาดของฝ่ายรัฐ และคืนความยุติธรรมให้ผู้ที่ถูกจับกุมคดีในระยะยาว" 



"ศปช.เห็นว่าควรผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคง และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปความยุติธรรม ตั้งแต่พนักงาน ผู้ถูกดำเนินคดี อัยการ และเรือนจำ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง" กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวย้ำถึงเจตนารมณ์ของการอภิปรายครั้งนี้

3 ส.ค. 56 เวลา 10:31 1,148 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...