ภาวะใกล้ตาย : นาทีทองของชีวิต

 

 

 

 

 

สำหรับแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย  พระไพศาลได้กล่าวถึงหลักการที่ได้รับการอ้างถึงในพุทธประวัติว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำผู้ใกล้ตาย คือ ให้ระลึกถึงสิ่งที่ดี ซึ่งได้แก่ พระรัตนตรัยและความดีที่ได้ทำมา เพื่อให้จิตเป็นกุศล สามารถเผชิญความทุกข์ทรมาน ความกลัวในภาวะใกล้ตายได้ และสำหรับผู้ที่เข้าใจธรรมะสูงขึ้น

 

พระองค์จะแนะนำให้ ปล่อยวาง ตั้งแต่ทรัพย์สิน ลูกหลาน ตัวตน ไม่ให้ยึดถืออะไรแม้เพียงสิ่งเดียว เพื่อนำไปสู่การหลุดพ้น เช่นเดียวกับที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า ภาวะใกล้ตายเหมือนกับการตกบันได ต้องกระโจนเลย ไม่ต้องห่วงอะไรแล้ว ต้องปล่อยวาง เป็นนาทีทอง ถ้าเข้าใจได้เช่นนี้ ภาวะใกล้ตายจะมิใช่เป็นการใช้กรรมเพียงอย่างเดียว

แต่เราสามารถนำเอากรรมหรือความทุกข์ทรมานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดความเข้าใจในชีวิตและสังคม เป็นโอกาสในการสร้างกรรมใหม่ ทำความดี สร้างบุญกุศล หรือยกระดับจิตให้เข้าสู่ธรรมะที่สูงขึ้นได้ กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็เช่นเดียวกัน ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจไม่ว่าจะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัว เขายังมีจิตที่สามารถรับรู้และพัฒนาไปสู่สุขคติภูมิได้

 

หลัก 7 ประการในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 

พระไพศาล ได้สรุปหลักในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายไว้โดยละเอียดในหนังสือ การช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยวิธีแบบพุทธ สำหรับแจกในงานเสวนาและเผยแพร่ทั่วไป อย่างไรก็ตามท่านได้กล่าวถึงหลักการโดยย่อไว้ 7 ประการ ดังนี้

 

ประการที่ 1 การให้ความรัก ความเข้าใจ

 

ผู้ป่วยใกล้ตายมักจะมีความกลัวหลายอย่าง เช่น กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวเป็นภาระ กลัวตายคนเดียว ซึ่งเราควรให้ความมั่นใจว่าจะไม่ทอดทิ้งเขา ให้เขามั่นใจและมีกำลังใจที่จะข้ามพันความเจ็บปวด ความทุกข์ทางใจไปได้ และอาจทำให้ความทุกข์ทางกายเบาบางไปได้ด้วย โดยญาติมิตรจะต้องมีความอดทนอดกลั้น มีสติ เมตตา ไม่ฉุนเฉียวกับปฏิกิริยาของผู้ป่วย

 

ประการที่ 2 ช่วยให้เขายอมรับความตายที่จะมาถึง

 

การพูดให้เขายอมรับความตายที่จะมาถึง การพูดจาให้เขายอมรับความตายเป็นศิลปะ ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยการเทศนา สั่งสอนว่าความตายเป็นของเที่ยง ทุกคนต้องตาย และปล่อยวาง เพราะคนเราจะปฏิเสธไว้ก่อน ไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น จึงต้องอาศัยการซักถามให้เขาเห็นตัวเอง เช่นถามว่า ไม่อยากตายเพราะอะไร เขากลัวหรือกังวลอะไร เป็นต้น

 

ประการที่ 3 ช่วยให้เขาจดจ่อในสิ่งที่ดีงาม

 

เช่น ให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือความดี ความภาคภูมิใจที่เขาได้ทำ เพื่อให้จิตเป็นกุศล เกิดความอิ่มเอิบใจ มั่นใจ ไม่พลัดไปสู่กรรมนิมิต หรือคตินิมิตที่ไม่ดี และที่สำคัญจะทำจิตใจสงบไม่ทุรนทุราย

 

ประการที่ 4 ช่วยให้เขาปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ

 

สิ่งค้างคาใจนี้อาจหมายถึง การแบ่งมรดก ความน้อยเนื้อต่ำใจคนใกล้ตัว ความโกรธแค้น ความรู้สึกถูกผิด ฯลฯ

ซึ่งเราควรช่วยจัดสภาพแวดล้อมหรือหาโอกาสให้เขาได้ปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อให้เขาจากไปอย่างเบาที่สุด

 

ประการที่ 5 ช่วยปล่อยว่างสิ่งต่าง ๆ

 

แม้บางคนอาจไม่มีสิ่งค้างคาใจที่เป็นกุศล แต่ก็ต้องปล่อยวางสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเช่นกัน ทั้งรูปธรรม นามธรรม แม้แต่ความรักก็ต้องปล่อยวาง ซึ่งการจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องนี้อาจต้องพิจารณาภูมิปัญญา หรือภูมิธรรมของเขาว่ามีแคไหนด้วย

 

ประการที่ 6 สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้ใจสงบ

 

เช่น การนำพระพุทธรูปที่เขานับถือมาให้บูชา หรือบรรยากาศที่ญาติมิตรพร้อมเพรียงกันช่วยกันสวดมนต์

ทำสมาธิ หรือถ้าเขาไม่สนใจธรรมะ อาจเปิดเพลงที่เขาชอบเบา ๆ ก็ได้

 

ประการที่ 7 กล่าวคำอำลา

 

หากเขาคิดว่าจะอยู่กับเราได้ไม่นาน ก็ควรกล่าวคำอำลา อาจพูดขอบคุณสิ่งดี ๆ ที่เขาทำให้กับทุกคน

หรือแนะนำให้เขาปล่อยวาง เตรียมตัวเตรียมใจ ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และขอขมาเจ้ากรรมนายเวร ซึ่งการนำทางไปสู่สุคติเช่นนี้ ลูกหลานญาติมิตรสามารถช่วยได้


Credit: http://board.postjung.com/695480.html
1 ส.ค. 56 เวลา 18:41 2,629 1 100
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...