เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) คนไทยที่มีนามสกุลคนแรกของประเทศไทย
คนไทยที่มีนามสกุลคนแรกของประเทศไทย ซึ่งพระราชทานโดยรัชกาลที่ 6 คือ เจ้าพระยายมราช หรือปั้น สุขุม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย(ในสมัยนั้น) จึงนับว่านามสกุล “สุขุม” จึงเป็นนามสกุลหมายเลข 1 ของประเทศไทยหรือของคนไทย เพราะก่อนหน้านั้น คนไทยจะไม่ใช้นามสกุล (มีเฉพาะชื่อเฉย ๆ) รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระราชทานนามสกุลขึ้นมา และพระราชทานนามสกุล “สุขุม” เป็นนามสกุลแรก เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2456
ประวัติ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) – มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481) อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล อภิรัฐมนตรี เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทั้งยังเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง การประปานครหลวง การไฟฟ้ามหานคร ถนนและสะพานในกรุงเทพมหานครอีกด้วย
ในปี พ.ศ.2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริที่จะให้คนไทยมี “นามสกุล” เพื่อเป็นหลักฐานในการสืบเชื้อสาย นับพี่ นับน้อง นับญาติ ได้ถูกต้อง ทั้งจะได้ปฏิบัติตนเป็นคนดี สร้างตนเอง สร้างชื่อเสียงให้เป็นเกียรติแก่วงศ์สกุลต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คงจะมีพระราชหฤทัยคิดถึง”เจ้าพระยายมราช” เป็นคนแรก จึงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราชเป็นการส่วนพระองค์ พระราชทานนามสกุล”สุขุม”ให้แก่เจ้าพระยายมราช(ปั้น) เป็นสกุลแรก ทั้งที่ยังมิได้ประกาศใช้”พระราชบัญญัติขนานนามสกุล”
“พระราชบัญญัติขนานนามสกุล” ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 เป็นเวลาประมาณ 1 เดือนภายหลังพระราชทานพระราชหัตถเลขา อย่างไรก็ดี ในประกาศชุดแรกตามพระราชบัญญัตินี้ นามสกุล”สุขุม” ที่พระราชทานแด่เจ้าพระยายมราช ได้แสดงไว้เป็นรายการที่ 1