เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส
นักวิชาการมหิดล แนะฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เปิดชื่อสารเคมีที่ใช้กำจัดคราบน้ำมันรั่วในทะเล หวั่น เป็นอันตรายต่อคน-สิ่งแวดล้อมเหมือนกรณีอ่าวเม็กซิโก ขณะที่ PTTGC ยัน สารเคมีไม่กระทบทะเล ด้าน สกว. เตรียมลงพื้นที่เก็บข้อมูล
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และ ดร.พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้จัดเสวนาเรื่อง "นักวิทย์ฯ มหิดล กับทางออกของวิกฤติน้ำมันรั่วไหลในอ่าวไทย" โดยมีนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ตอนหนึ่งของการเสวนา รศ.ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า น้ำมันที่อยู่ในทะเลประมาณ 75% จะหายไปในกระบวนการทางเคมี และชีววิทยา คือจะมีจุลชีวะ หรือสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ซึ่งกินน้ำมันดิบเป็นอาหารจะกินน้ำมันเข้าไป แต่กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาเป็นเดือน หรือเป็นปี อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีอยู่ในทะเลไทยไม่มากนัก และต้องใช้เวลาเติบโตพอสมควร
รศ.ดร.พลังพล บอกอีกว่า หน้าที่ในตอนนี้ต้องเร่งกำจัดน้ำมันออกไปให้มากที่สุด และใช้สารเคมีอย่างระวัง เพื่อให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กช่วยขจัดน้ำมันที่เหลือออกไปได้เอง ส่วนสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่เราต้องดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับผิดชอบควรเปิดเผยว่าใช้สารเคมีอะไรในการกำจัดคราบน้ำมัน เพราะหากใช้สาร Corexit เหมือนที่เคยใช้แก้ปัญหาน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก จะเกิดปัญหาสารตกค้างยาวนาน และทำให้เกิดอันตรายต่อคนด้วย
ด้าน ดร.พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวเช่นกันว่า อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดเผยชื่อของสารเคมีที่ใช้แก้ปัญหาในครั้งนี้ เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะได้ช่วยเสนอแนะ และพร้อมให้การช่วยเหลือ ส่วนที่มีคำแนะนำให้ใช้เส้นผมไปซับน้ำมันนั้น ตนอยากให้เปรียบเทียบกันก่อนว่า ระหว่างเส้นผมกับพวกเส้นใยธรรมชาติ เช่น สำลี เส้นปาล์ม ตัวไหนมีคุณสมบัติดูดซับน้ำมันอย่างไร ดีหรือไม่ดี และจำเป็นหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ดร.พหล บอกว่า ตอนนี้ที่น่ากังวลก็คือผลกระทบที่จะตามมาหลังจากมองไม่เห็นน้ำมันแล้ว รวมทั้งสารตกค้างที่สะสมอยู่ในทะเล หากสัตว์น้ำขนาดเล็กกินอาหารที่มีสารตกค้างสะสมเข้าไป แล้วเราบริโภคสัตว์น้ำก็อาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ทางออกในตอนนี้คือ ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อความโปร่งใส และต้องติดตามผลหลังจากน้ำมันหายไปด้วย เช่น ชาวประมงยังสามารถจับปลาได้เท่าเดิมหรือไม่ หรือเด็กคลอดใหม่ได้รับผลกระทบอะไรบ้างหรือไม่
อีกด้านหนึ่ง นายบวร วงศ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า สารเคมีที่ใช้นั้นจะช่วยทำให้น้ำมันแตกตัวออกจากกัน และจมลงในทะเลระดับ 1-2 เมตร จากนั้นจุลินทรีย์จะมากัดกินสารเคมีดังกล่าวให้หมดไป ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อน้ำทะเลแน่นอน
ขณะที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ก็เตรียมลงพื้นที่เกาะเสม็ด เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยจะตรวจสอบว่ามีน้ำมันรั่วมากน้อยแค่ไหน ใช้สารเคมีใดในการกำจัดคราบน้ำมัน รวมทั้งใช้ในปริมาณแค่ไหนด้วย เพราะตอนนี้ตัวเลขที่ออกมายังมีความสับสนอยู่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก