เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) ประจำเดือน ก.ค. ที่มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมกคพ. มีมติรับคดีทั่วไปเป็นคดีพิเศษ 7 เรื่อง ประกอบด้วย 1. กรณีนายศรีสุข รุ่งวิสัย อดีตส.ว.สรรหา ปลอมและใช้เอกสารปลอม ปลอมและใช้บัตรประชาชนปลอม เพื่อสมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวม 3 ครั้ง ในแต่ละครั้งนายศรีสุข จะเปลี่ยนแปลงชื่อและนามสกุลเพื่อใช้ในการสมัคร โดยในการสมัครครั้งที่ 3 ได้เทียบโอนหน่วยกิตใช้รหัสของบุคคลอื่นทำให้ศึกษาเพิ่มอีก 2 วิชาก็จบการศึกษา และในขณะแจ้งจบก็เปลี่ยนแปลงชื่ออีกครั้ง โดยพฤติการณ์ดังกล่าวมีลักษณะกระทำความผิดที่ซับซ้อน
2. คดีหลอกลวงขายเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที 200และอัลฟ่า 6 ที่ไม่มีคุณภาพให้กับหน่วยงานของรัฐรวม 13 หน่วยงานให้เป็นคดีพิเศษ โดยก่อนหน้านี้ดีเอสไอสรุปสำนวนเบื้องต้นส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไต่สวนมูลความผิด ในประเด็นการจัดซื้อแพงเกินจริง เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ(ฮั้วประมูล) อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนพบว่าการหลอกลวงขายเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพตามที่กล่าวอ้าง เป็นพฤติการณ์ที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังเป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อนจากการตั้งตัวแทนจัดจำหน่ายและตั้งบริษัทคู่เทียบมารวมเสนอราคา รวมทั้งมีการวางแผนหลอกลวงเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่ต้น 3.คดีปลอมแปลงธนบัตรไทยและต่างประเทศในพื้นที่ภาคกลางและจังหวัดตามแนวชายแดนของประเทศไทย 4.คดีชาวคองโกใช้หนังสือเดินทางปลอมเปิดบัญชีธนาคารเพื่อฉ้อโกงประชาชน 5.คดีลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.คดีน.ส.โทโมโกะ คาวาชิตะ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นถูกฆาตกรรมที่จ.สุโขทัย เมื่อปี 2550 ซึ่งรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ร้องขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ และ 7.คดีนายลิน ยู นักท่องเที่ยวชาวจีนถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมอำพรางภรรยาตัวเองที่โรงแรมในเกาะสมุย จ. สุราษฏร์ธานี