เจาะลึก สจ๊วต หนุ่มแห่งการบินไทย อาชีพที่ผู้ชายหลายคนอยากเป็น

 

 

 

 

เจาะลึก สจ๊วต หนุ่มแห่งการบินไทย อาชีพที่ผู้ชายหลายคนอยากเป็น



จะมีสักกี่คนที่เมื่อรู้ว่าไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่แล้วกล้าพอที่จะวางมันและออกเดินทางทำความฝันให้เป็นจริง อย่าง"ป๊อป- สุทธิพร คืนดี" พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แห่งการบินไทย ที่ Men.MThai คว้าตัวมาสัมภาษณ์พูดคุยถึงเส้นทางการเดินตามความฝันจากครูมัธยมสู่ สจ๊วต หนุ่มสุดสมาร์ทที่ผู้ชายหลายคนฝันอยากเป็น



เจาะลึก สจ๊วต หนุ่มแห่งการบินไทย อาชีพที่ใครก็อยากเป็น


ด้วยความฝันที่อยากเป็นสจ๊วตตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ฝันยังคงดูเหมือนไกลตัวสำหรับเขา ป๊อบจึงเลือกที่จะเลือกทางเดินชีวิตในฐานะ"ครู" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นจริงง่ายกว่าในความคิดเขา โดยเรียนจบคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอยู่สักพัก แต่จนแล้วจนรอดเขากลับรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ชีวิตที่เขาต้องการจริงๆแม้จะรักการเป็นครูก็ตาม ป๊อบจึงกลับไปทบทวนความฝันของตัวเองอีกครั้ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นจริงจังของการเดินตามฝันในฐานะ"พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน" 

"ผมตัดสินใจลาออกทันที เพื่อออกมาทำตามความฝันจริงจัง ก็ไปลงเรียนคอร์สเตรียมตัวเป็นลูกเรือโดยมีพี่สาวเป็นคนสนับสนุน ระหว่างนั้นก็ติวเลขกับวิทย์เด็กเป็นอาชีพเสริมไปพลางๆ ซึ่งผมก็ตระเวนสมัครตามสายการบินที่เค้าเปิดรับลูกเรือไปเรื่อยๆ ตกรอบแรกบ้าง รอบสองบ้าง หรือไม่โดนเรียกเลยก็มี อยู่อย่างนี้เป็นปีจนครบทุกสายการบินที่เปืดรับสมัครในปีนั้นแล้ว ก็แอบแกว่งอยู่บ้างตอนนั้น แต่รู้ว่ายังไงก็ต้องเดินต่อไปเพราะเราเลือกแล้ว จนมาเจอที่การบินไทยที่เหมือนจะเป็นที่สุดท้ายนี่แหละ"

 
เจาะลึก สจ๊วต หนุ่มแห่งการบินไทย อาชีพที่ใครก็อยากเป็น

ดูเหมือนความหวังจะกลับมาทะยานอีกครั้ง เมื่อสายการบินประจำชาติอย่างการบินไทยเปิดรับสมัครลูกเรือหลังจากไม่ได้เปิดรับมา3ปี จึงไม่แปลกที่ในปีนั้นจะมีคนสมัครถึงกว่า 4000 คน แต่รับเพียงประมาณ 300 คนเท่านั้น และครั้งนี้เองที่ป๊อปต้องโห่ร้องด้วยความดีใจ อยากให้เล่าถึงขั้นตอนการสมัครที่หลายๆคนอยากรู้ 

"รอบแรกเรียกว่าPre-Screen เราต้องไปชั่งน้ำหนักและส่วนสูง โดยการบินไทยจะซีเรียสเรื่อง BMI (ดัชนีมวลกาย) 
เราต้องเดิน ไหว้ให้ดูเพื่อแสดงบุคลิกภาพตัวเราให้กรรมการเห็น ก่อนหน้านั้นผมต้อง Grooming ตัวเองมาพอสมควรทั้ง
หน้าตาและเสื้อผ้า ซึ่งด่านนี้แหละที่คนจะไม่ผ่านเยอะ"

"พอเข้าสู่รอบสอง จะเหลือเกือบ 2000 คนเท่านั้น เพื่อทำสอบข้อเขียน หลักๆแล้วมีส่วนของความรู้รอบตัว ทั้งการเมือง บันเทิง หลายๆเรื่องก็เก็งก่อนไม่ได้ ส่วนของความถนัด ดูพวกรูปภาพ ส่วนของการคำณวนพื้นฐาน โดยแต่ละส่วนจะมีเวลาจำกัดซึ่งทำไม่ค่อยทันกัน แล้วก็จะเข้าสู่รอบสุดท้าย"

"รอบสุดท้ายจะเป็นการสัมภาษณ์และ Group Discussion ซึ่งส่วนนี้เราเคยผ่านการติวจากโรงเรียนเตรียมลูกเรือมาก่อนแล้ว รอบนี้นี่แหละที่จะถูกล้วงลึกถึงตัวตนและความคิดเรา คิดยังไงตอบอย่างนั้น ใครเฟค กรรมการก็ดูรู้เรื่อง  จะมีกรรมการเป็นคนในรวมถึงกัปตันด้วย ผมโดนถามว่า ความปลอดภัย ในความคิดผมคืออะไร เหมือนง่ายแต่ไม่ง่ายเลย รอบนี้จะสัมภาษณ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษสลับกัน" 

"ในส่วนของ Group Discussion 15 นาที จะมีกลุ่มละ 6 คน และกรรมการ 6 ท่าน จริงๆบรรยากาศมันสบายกว่าที่คิดนะครับ เราต้องอภิปรายถึงเหตุการณ์สมมุติบนเครื่องบินที่กรรมการกำหนดมาให้ อภิปรายกันเป็นภาษาอังกฤษ-ไทยสลับกัน ตอนนั้นป๊อบทำหน้าที่ผู้นำอย่างไม่ได้ตั้งใจ เหมือนเป็น moderator ไปในตัว ตอนนั้นก็รู้สึกโชคดีที่กลุ่มผมไม่แย่งกันพูดหรือมีใครพยายามทำตัวเด่น และรอบนั้นก็ผ่านมาแค่ 3 คนเป็นชายล้วน ส่วนอีก 3 คนที่เป็นผู้หญิงก็ตกรอบไป ช่วงนี้อาจจะต้องระวังเรื่องการควบคุมตัวเองสักหน่อย ด้วยความที่มันสบายๆ บางคนเลยเผลอลืมตัว บุคลิกภาพเสียไปเลยก็มี แต่เหนือสิ่งอื่นใดความเป็นตัวของตัวเองสำคัญที่สุด ไม่พยายามทำให้ใครชอบเรา "

"เมื่อผ่านจากรอบนี้มาได้ก็จะเข้าสู่รอบตรวจร่างกายอย่างละเอียด และต้องว่ายน้ำทดสอบ รวมไปถึงตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ซึ่งคดีเมาแล้วขับก็เป็นคดีอาญาเช่นกัน มาถึงจุดนี้ผมดีใจลั่นบ้านแล้วนะ เพราะมั่นใจว่าเราไม่มีปัญหากับรอบนี้แน่ๆ ก่อนหน้านั้นผมเป็นคนปาร์ตี้ทั้งเที่ยวทั้งดื่ม แต่ผมหยุดเพื่อการนี้โดยเฉพาะเพื่อให้ร่างกายเฟิร์มจริงๆ คนไม่ผ่านรอบนี้เยอะเหมือนกัน หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์จึงประกาศผลอย่างเป็นทางการ"


หลังจากประกาศรายชื่อว่าที่ลูกเรือซึ่งสร้างความดีใจกับความสำเร็จอย่างเป็นทางการให้ป๊อปและครอบครัวที่เป็นกำลังใจให้เขามาโดยตลอดแล้วนั้น เขาต้องเข้ารับการเทรนในฐานะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมืออาชีพอีกระยะหนึ่งอย่างเข้มงวดถึงระบบการทำงานก่อนที่จะเริ่มงานจริงจัง

 
เจาะลึก สจ๊วต หนุ่มแห่งการบินไทย อาชีพที่ใครก็อยากเป็น

แล้วการทำงานในแต่ละไฟลท์ล่ะ ต้องทำอะไรบ้าง? 

"เมื่อตารางการบินของเราออกมาแล้ว อันดับแรกเลยคือต้องเช็คอินที่บริษัทก่อน แล้วรับบรีฟข้อมูลของไฟลท์และผู้โดยสารอย่างละเอียด จากนั้นก็ขึ้นเครื่องเพื่อเตรียมข้าวของให้เรียบร้อย แล้วค่อยออกไปต้อนรับผู้โดยสารซึ่งพนักงานต้อนรับทุกคนจะต้องออกไปต้อนรับ ดูแลความเรียบร้อยของผู้โดยสารแล้วค่อยสาธิตระบบความปลอดภัย พอเครื่องขึ้นแล้วก็ค่อยให้เสิร์ฟอาหารและบริการต่างๆได้ เมื่อเครื่องใกล้ลง เราต้องดูเรื่องระบบความปลอดภัยผู้โดยสารอีกครั้ง ขณะที่ผู้โดยสารลงเราก็ตรวจความเรียบร้อยว่าผู้โดยสารลืมของหรือมีสิ่งแปลกปลอมอะไรหรือเปล่า ซึ่งระหว่างไฟลท์เราจะต้องดูทุกอย่างบนเครื่องเสมือนเป็นบ้านเราเองเลย"

ความสนุกของงานอยู่ตรงไหน?

"เพื่อนร่วมงานเป็นกุญแจความสนุกในการทำงานแต่ละครั้ง เพราะแต่ละไฟลท์จะเป็นทีมใหม่หมด บางครั้งก็เพิ่งเจอทีมที่ห้องบรีฟก่อนบินเลย บางทีไฟลท์ยาวแต่ทีมเข้าขากันได้ดีก็จะสนุกมาก บางทีไฟลท์สั้นแต่ทีมไม่ค่อยเข้าขากันก็เหนื่อยกว่าด้วยซ้ำไป การปรับตัวเข้ากับทีมใหม่ๆเสมอก็เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับงานนี้เช่นกัน"

 

อาชีพนี้ขึ้นชื่อเรื่องรับแรงกดดันจากผู้โดยสารสุดๆ เคยเจอเคสแย่ๆจากผู้โดยสารบ้างหรือยัง?

"จริงๆมันเกิดขึ้นจากตัวผมเองมากกว่า เพราะถ้าเราบริการดี ปัญหาคงไม่เกิด อย่างครั้งหนึ่งเป็นไฟลท์ไปเวียดนาม มีผู้โดยสารอยากได้ผ้าห่ม ซึ่งตอนนั้นผมกำลังง่วนอยู่กับการเสิร์ฟอาหาร ไม่สามารถวางมือให้ได้เดี๋ยวนั้น ไปๆมาๆผมดันลืมนำผ้าห่มมาให้ซะเอง ด้วยความที่ไฟลท์มันแค่ชั่วโมงเดียวด้วย มานึกได้อีกทีก็เห็นพี่หัวหน้าเอาผ้าห่มไปให้เองแล้ว ผมเลยเดินเข้าไปขอโทษผู้โดยสาร แต่เค้าไม่พอใจเลยต่อว่าค่อนข้างแรง เราเลยรู้สึกแย่ตรงที่เราไม่มีโอกาสได้แก้ตัวบริการเค้าอีกครั้งมากกว่า แต่เคสนี้ก็ถือว่าเบามากครับ"

  
เจาะลึก สจ๊วต หนุ่มแห่งการบินไทย อาชีพที่ใครก็อยากเป็น

มีวิธีรับมือกับผู้โดยสารที่หลากหลายอย่างไร?

"ก่อนอื่นเลยเราต้องคิดก่อนว่า เราต้องบริการอย่างที่เราต้องการถูกบริการ เวลาเราไปร้านอาหารเรายังคาดหวังว่าทางร้านต้องมาบริการเราขนาดนี้ นี่ก็เช่นเดียวกัน ผมว่านี่เป็นหัวใจสำคัญกับงานบริการทุกอาชีพเลยนะครับ ส่วนผู้โดยสารก็มีหลากหลาย แต่แปลกตรงที่เรากับเกร็งกับผู้โดยสารคนไทยมากกว่าต่างชาติ บ่อยครั้งที่ต่างชาติจะพูดเล่นและทำตัวสบายๆกับเรา ก็ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น"  


เช่นเดียวกันกับทุกๆอาชีพที่ความเป็นมืออาชีพสร้างได้ด้วยประสบการณ์และชั่วโมงบินสูง ป๊อปเล่าให้ฟังว่าหลายครั้งที่เขารู้สึกทึ่งในความสามารถการแก้ปัญหาของพี่ๆอาวุโสหลายคนที่รับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหลือเชื่อ และนี่ก็คือทางลัดสู่ความเป็นมืออาชีพได้เร็วขึ้่น ซึ่งก็คือการทำตามรุ่นพี่ที่เป็นมืออาชีพโดยไม่ต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนกับตัวด้วยซ้ำ

 
เจาะลึก สจ๊วต หนุ่มแห่งการบินไทย อาชีพที่ใครก็อยากเป็น

อยากฝากอะไรกับหนุ่มๆที่ฝันอยากเป็นสจ๊วตบ้าง?

"อยากให้ถามตัวเองก่อนว่าอยากเป็นเพราะอะไร เตรียมตัวให้พร้อมเสมอ อย่างเรื่องภาษา มันไม่ได้สวยหรูอย่างที่เห็น เราต้องแลกด้วยสุขภาพที่คนในอาชีพนี้จะเป็นกันเยอะ เช่นโรคจากกระดูกสันหลัง เพราะต้องยกและลากของตลอดเวลา พักผ่อนไม่เป็นเวลาแน่ๆ บางไฟลท์บินถึงปุ๊บก็ต้องบินกลับเลยก็มี   บางคนต้องเฟดตัวเองออกไปจากอาชีพนี้เพราะสุขภาพไม่ไหวก็มี เมื่อมีเวลาก็ต้องพักผ่อนและต้องออกกำลังกาย แม้ว่าหลายคนจะมองว่าเป็นอาชีพที่สวยหรู ได้ไปเที่ยว แต่มันไม่ได้สบายเลยนะ คุณจะทำมันไม่ได้ดีเลยถ้าไม่เสียสละ อาชีพนี้ไม่ใช่เพียงแค่เสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินอย่างเดียว แต่ต้องดูแลความปลอดภัยบนเครื่องบิน ดูแลชีวิตและความสบายของผู้โดยสาร ซึ่งมันเป็นหน้าที่ที่ใหญ่หลวงมากถ้าได้ทำจริงๆ"

 
เจาะลึก สจ๊วต หนุ่มแห่งการบินไทย อาชีพที่ใครก็อยากเป็น

กุญแจสำคัญของความฝันก็คือการได้ลงมือทำจริง คุณเคยลองถามตัวเองหรือยังว่าอยากทำอะไร หรือ อยากเป็นอะไร อยากให้อะไรเกิดขึ้นกับชีวิตแล้ววางแผนทำให้มันเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนุ่มป๊อปนั้นจริงจังกับความฝัน และยอมที่จะเสี่ยงทิ้งงานที่มั่นคงก่อนหน้านั้นมาเดินตามความฝัน จนกลายมาเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน อาชีพที่ผู้ชายหลายที่ชอบการเดินทางและความท้าทายใฝ่ฝันอยากเป็น

Credit: http://men.mthai.com/infocus/8098.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...