ประเทศญี่ปุ่น ได้ชื่อว่าเป็นอีกประเทศที่มีค่าทางด่วนแพงมากพอสมควร ใครได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวหรือเรียนต่อคงจะทราบกันดีว่าเริ่มต้นประมาณ 24 เยน/กม. (ประมาณ 8 บาท/กม.) ซึ่งคราวนี้เราจะมาลองดูกันว่าทำไมถึงแพงขนาดนี้
1. ก่อสร้างโดยวิศวกรรมเทคโนโลยีระดับสูง
ทางด่วนญี่ปุ่นนั้นสร้างครอบคลุมพื้นที่หลายแบบ ทั้งภูเขา ทะเล อุโมงค์ จึงมีการออกแบบให้เข้ากับแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากจะต้องออกแบบให้รถวิ่งเร็วแล้ว ยังต้องสร้างเพื่อป้องกันภัยจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว คลื่นซัด ดินถล่ม ซึ่งใช้เทคนิควิศวกรรมในระดับสูง
2. ทางด่วนครอบคลุมทั่วประเทศ
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นนั้นสร้างทางด่วนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางของผู้คนให้ไปมาหาสู่กันอย่างสะดวก ตั้งแต่เหนือสุดจนใต้สุดของประเทศ มีทางด่วนยาวรวมกันกว่า 9,000 กิโลเมตรเลยล่ะ
3. ค่าใช้จ่ายในการดูแลทางด่วนอย่างดี
ทางด่วนในประเทศญี่ปุ่นจะได้รับการดูแลอย่างดี ไม่ว่าจะมีสีลอก ผนังเป็นรอย หรือร้าวเล็กน้อย เนื่องจากเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย รอยร้าวเพียงนิดเดียวก็อาจจะเกิดหายนะตามมาได้ การดูแลรักษาจึงต้องใส่ใจและใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แม้แต่ผนังกั้นเสียงของทางด่วนก็ต้องดูแลไม่ให้เสียงไปรบกวนบ้านคนข้างเคียงด้วย
4. งบประมาณพัฒนาทางด่วน
นอกจากจะดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีแล้ว หน่วยงานยังมีการทดลอง พัฒนาเพื่อการสร้างทางด่วนในระดับสูง เพื่อให้รองรับการเดินทางได้มากขึ้น ปลอดภัยข้น ทั้งการค้นคว้าวิจัยและการปฏิบัติจริง เพื่อหาแนวทางพัฒนาทางด่วนใหม่ๆให้ออกมาดีที่สุด
5. จุดพักรถระดับโรงแรม
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงคือจุดพักรถ เพราะสร้างเป็นจุดสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของคนเดินทาง บางแห่งมีบริการระดับโรงแรม ร้านอาหารหรู พร้อมสถานพักผ่อนหย่อนใจ บางแห่งสร้างติดทะเลไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเล่นน้ำทะเลก็มีเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจคนเดินทางที่ขับรถมาเมื่อยล้าและต้องการพักผ่อนอย่างดี
6. ศูนย์ควบคุมดูแลทางด่วนมาตรฐาน
ศูนย์ควบคุมทางด่วน จะมีหน้าที่ดูแลและควบคุมความเป็นไปของทางด่วนให้ปกติ มีหน้าจอขนาดใหญ่ที่แสดงสภาพเส้นทางทั้งหมด พร้อมรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในจุดต่างๆและแก้ไขได้ทันที ทำให้คนมั่นใจได้เลยว่าแม้จะมีปัญหารถเสีย หรืออุบัติเหตุก็จะสามารถผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว
ทั้ง 6 มาตรฐานนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทางด่วนประเทศญี่ปุ่นมีคุณภาพสูง ปลอดภัย สะดวกสบายต่อการเดินทาง แต่ก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งคนญี่ปุ่นหลายๆคนก็เต็มใจจะจ่ายเพราะได้รับบริการที่คุ้มค่าน่าพอใจนั่นเองล่ะครับ…..
ขอบคุณที่มาและภาพ: FSX_1997