กำเนิด รถสามล้อถีบ ในประเทศไทย

 

 

 

กำเนิด รถสามล้อถีบ ในประเทศไทย

 

 

รถสามล้อถีบ หรือรถจักรยานสามล้อที่ใช้แรงคนถีบนี้เป็นประดิษฐกรรมของนาวาอากาศเอกเลื่อน พงษ์โสภณ เริ่มทดลองใช้ในปี พุทธศักราช 2476 โดยนำรถจักรยานสองล้อมาดัดแปลง ผสมผสานกับ "รถลาก" หรือ "รถเจ๊ก" ซึ่งในระยะแรกที่นั่งของคนขับไม่ได้อยู่ด้านหลังเหมือนปัจจุบันและยังไม่มีหลังคาบังแดดให้ผู้โดยสาร สำหรับความเกี่ยวข้องกับนครราชสีมาคือ นาวาอากาศเอกเลื่อน พงษ์โสภณ เป็นชาวนครราชสีมาและได้นำรถสามล้อมาทดลองเปิดบริการรับส่ง ผู้โดยสาร ที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นที่แรก

          เมื่อประสบความสำเร็จจึงได้ขอจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างที่กรมตำรวจและเปิดกิจการรถสามล้อจำนวน 50 คัน จากนั้นการใช้รถสามล้อจึงแพร่ขยายไปทั่วประเทศ จนปีพุทธศักราช 2510 จำนวนรถยนต์ในกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้นเจ้าพนักงานจราจรจึงประกาศห้ามมิให้รถสามล้อวิ่งในถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันจึงเหลือรถสามล้อวิ่งตามต่างจังหวัด 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ภาพนี้เป็นภาพสามล้อถีบบนสะพานหน้าสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตึกด้านหน้าซ้ายมือ คือ ที่ตั้งของตลาดหัวลำโพง ที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถูกขายให้กับบริษัทยนตรกิจ ซึ่งกลายเป็นโชว์รูมรถยนต์ซีตรองในปัจจุบัน
สะพานนี้ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าเปลี่ยนชื่อสะพานจากสะพานสุประดิษฐ์ มาเป็นสะพานเจริญสวัสดิ์ และได้เปลี่ยนรูปแบบเดิมจากสะพานโค้งเป็นสะพานตรงแบบธรรมดา ล่าสุดการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินจะรื้อสะพานนี้ออก และจะสร้างสะพานในรูปแบบเดิมเพื่ออนุรักษ์ของเก่า ภายหลังคืนพื้นที่สร้างรถไฟแล้ว
 
 
      สายทางสามล้อไทย

                    บนสายทางของการเดินทาง หลากหลายพาหนะที่นำไปสู่จุดหมาย "สามล้อ" เป็นวิถีหนึ่งของสายทาง ซึ่งแม้เวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป หากสายทางของสามล้อยังคงผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ภาพลักษณ์ของความภูมิใจ ในความสามารถแห่งการประดิษฐ์ของคนไทย ที่นำไปประยุกต์ เข้ากับวิชาชีพได้อย่างกลมกลืน

กำเนิดสามล้อ
พ.ศ. 2476 รถสามล้อได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่จังหวัด นครราชสีมา โดยนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ นำรถลาก หรือรถเจ็ก มาดัดแปลงร่วมกับจักรยาน รถสามล้อแบบนี้ ถือเป็นต้นแบบของรถสามล้อ ที่ใช้รับผู้โดยสาร แพร่หลายไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน

สามล้อพ่วงข้าง
ในระยะเวลาต่อมา ได้มีผู้นำรถจักรยานมาดัดแปลง โดยเพิ่มล้อและกระบะพ่วงเข้าที่ด้านข้าง ติดตั้งเก้าอี้หวายยึดแน่นกับกระบะ ออกวิ่งรับจ้างโดยสาร รถสามล้อประเภทนี้จัดว่าเป็นรถต้นแบบ ของสามล้อพ่วงข้าง ปัจจุบันสามล้อพ่วงข้างตามแบบที่ปรากฎนี้ ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลาย ในจังหวัดทางภาคใต้

สามล้อเครื่อง

เพื่อเป็นการทุ่นแรง และสามารถรับส่งผู้โดยสารได้ในระยะที่ไกลขึ้น นักประดิษฐ์ชาวไทยได้ดัดแปลง นำเครื่องจักรยานยนต์มาติดกับรถสามล้อ แบบที่ใช้คนถีบ ปรากฎว่าได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากไปได้ ในระยะทางที่ไกลกว่าแล้ว ความรวดเร็วก็เป็นส่วนสำคัญ ปัจจุบันสามล้อเครื่องสามารถพบเห็น ได้ทุกภาคของประเทศ

ซาเล้ง
ซาเล้ง หรือสามล้อแดง เป็นรถสามล้ออีกประเภทหนึ่ง ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อใช้ส่งสินค้าที่มีนำหนักไม่มากและระยะทางไม่ไกลนัก คุณลักษณะเป็นสามล้อใช้แรงถีบ ผู้ขับขี่อยู่ด้านหลังกระบะบรรทุก เมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ จึงมีการนำเครื่องยนต์ขนาดเล็กมา ดัดแปลงติดตั้งกับซาเล้ง วิ่งรับจ้างโดยสารตามตรอกซอยต่างๆ

ตุ๊ก-ตุ๊ก
รถตุ๊ก-ตุ๊ก มีกำเนิดมาจากการนำสามล้อเครื่องกระบะบรรทุกจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาดัดแปลงเป็นรถนั่งโดยสาร เมื่อปี พ.ศ. 2503 เพื่อทดแทนรถสามล้อถีบ ซึ่งถูกห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพฯ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง และส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ในนาม "TUK-TUK" สามล้อตุ๊ก-ตุ๊ก มีบริการทั่วไปทุกจังหวัด และเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่งของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

 

ตุ๊ก-ตุ๊กสองแถว
รถตุ๊ก-ตุ๊กสองแถว เป็นรถที่มีวิวัฒนาการมาจาก รถตุ๊ก-ตุ๊กธรรมดา โดยดัดแปลงเบาะนั่งด้านหลังเป็นที่นั่งสองแถว ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับผู้โดยสารได้จำนวนมากขึ้น และเก็บค่าโดยสารเป็นรายคน ไม่ได้เหมาทั้งคัน เช่น รถตุ๊ก-ตุ๊กธรรมดา สามารถพบเห็นได้ตามแหล่งชุมชนใหญ่ๆ เช่น ตามท่ารถโดยสาร ท่าเรือข้ามฟาก หรือตลาดสด

ตุ๊ก-ตุ๊กเดอลุกซ์
ด้วยสายเลือดของนักประดิษฐ์ไทย ได้มีการนำรถตุ๊ก-ตุ๊กธรรมดา มาดัดแปลงและประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นตัวถัง วงล้อ เบาะนั่ง แผงหน้าปัด กระจังหนา รวมทั้งเครื่องยนต์ ที่เปลี่ยนจากเครื่องยนต์ 2 จังหวะ มาเป็น 4 จังหวะ จากตุ๊ก-ตุ๊กธรรมดา ก็กลายเป็นตุ๊ก-ตุ๊กเดอลุกซ์ ซึ่งมีวิ่งบริการในหลายจังหวัดของภาคตะวันออก

 

สามล้อเครื่องยนต์
ในยุคที่เครื่องยนต์ใช้แล้วราคาถูกจากต่างประเทศ หลั่งไหลเข้ามาแทบล้นตลาด ตามชื่อที่รู้จักกันว่า "เครื่องเก่าเซียงกง" นักประดิษฐ์ไทยแถบจังหวัดภาคตะวันออกก็นำเครื่องยนต์เหล่านี้ ไปดัดแปลงออกติดตั้งในสามล้อเครื่อง เพื่อเพิ่มสมรรถนะ ทั้งด้านกำลังเครื่องยนต์ ความเร็ว ความกว้างของที่นั่งโดยสาร และพื้นที่สำหรับบรรทุกสิ่งของ

สกายแล็บ
เมื่อครั้งสถานีอวกาศ "สกายแล็บ" กำลังเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก คนไทยในขณะนั้นได้ประดิษฐ์สามล้อขึ้น และเรียกชื่อตามสมัยนิยมว่า "สามล้อสกายแล็บ" โดยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดอุดรธานี แล้วแพร่กระจายไปทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณธเป็นสามล้อที่ใช้กำลังเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ ที่นั่งโดยสารตอนหลังเป็นสองแถว จุดเด่นของสกายแล็บ ก็คือสีสันที่สดใส และช่วงหน้าจะมีลักษณะเชิดสูงขึ้น

 

ไก่นา
เมื่อมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ถือกำเนิดและแพร่หลายไปทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ ก็มีแนวความคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะรับผู้โดยสารได้ครั้งละหลายๆคน รถสามล้อแบบมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างจึงถูกประดิษฐ์ขึ้น เมื่อไม่ต้องการออกรับจ้าง ผู้โดยสารก็สามารถถอดเฉพาะตัวรถ ขับขี่ไปทำธุระกิจได้ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียกสามล้อแบบบนี้ว่า "ไก่นา"

มีขวดมาขาย
อาชีพรับซื้อของเก่าประเภท ขวดเปล่า กระด่ษหนังสือพิมพ์ หรือเศษโลหะ ซึ่งแต่เดิมเรามักจะเห็นภาพขอวชาวจีนชรา พร้อมด้วยหาบเข่งคู่บนบ่าเดินร้องประกาศไปตามบ้าน แต่ปัจจุบัน จากการนำเอาซาเล้ง หรือสามล้อแดงมาดัดแปลงต่อกระบะให้ยาวขึ้น นำบางส่วนของรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก มาเชื่อต่อเข้า ก็เกิดสามล้ออีกประเภทหนึ่งเข้ามาแทนหาบเข่งคู่

 

สัมมาอาชีพ
จากจุดกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2476 สายทางสามล้อไทย ได้ดำเนินและมีวิวัฒนาการ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่มาโดยลำดับ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสามล้อประเภทที่ยังใช้แรงคน หรือกำลังเครื่องยนต์ ก็ได้ถูกดัดแปลงมาใช้เพื่อการประกอบสัมมาอาชีพ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นขนมถาด ไอศครีม ผลไม้ดอง หรือลูกชิ้น-ไส้กรอก

 

 

Credit: http://www.koratnana.com/index.php?topic=3379.0
31 ก.ค. 56 เวลา 16:43 26,548 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...