เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แถลงถึงกรณีกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) นัดชุมนุมวันที่ 4 สิงหาคม และอาจชุมนุมยืดเยื้อถึงวันที่ 7 สิงหาคม ที่มีการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กับคณะ เป็นผู้เสนอว่า อพส.มีสิทธิชุมนุมได้ แต่หากจะต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขอให้คิดด้วย เพราะถ้ากฎหมายบังคับใช้ ประชาชนส่วนหนึ่งที่อยู่ฝ่ายเดียวกับ อพส.ก็ได้ประโยชน ขอยืนยันว่า ตน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและแกนนำจะไม่ได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัยอย่างแน่นอน เพราะเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายจำกัดขอบเขตอยู่ที่ประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมเท่านั้น
นายก่อแก้วกล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 7 สิงหาคม อยู่ในขั้นตอนรับหลักการวาระแรกเท่านั้น จึงไม่ควรออกมาคัดค้าน ทั้งนี้ ตนอยากให้การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมควรขยายกรอบเวลาไปถึงสิ้นปี 2555 ด้วย จะได้ครอบคลุมม็อบ อพส.ที่ชุมนุมในช่วงนั้นด้วย ทั้งนี้ เมื่อมีการรับหลักการ ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น เพื่อพิจารณาซึ่งอาจมีการปรับแก้ถ้อยคำบ้าง แต่คงไม่ขัดหลักการที่รับมา ก็ขอให้รอดู คาดว่าคงไม่มีการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม 2 ฝ่าย เพราะ นปช.จะไม่มาชุมนุมหน้าสภา แต่เสื้อแดงก็มีหลายกลุ่ม ก็ต้องขอร้องว่าให้ชุมนุมโดยสงบ
ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ปลุกระดมประชาชนให้ออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น นายก่อแก้วกล่าวว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตและคำถามไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป.และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ปชป. ที่เป็นผู้ต้องหาคดีทำให้ประชาชนเสียชีวิตและได้รับการประกันตัวนั้น กลับมีการพูดเข้าข่ายปลุกระดมเช่นนี้ ดีเอสไอต้องพิจารณาเงื่อนไขการประกันตัวหรือไม่ ซึ่งควรกำหนดเงื่อนไขให้อยู่ในกรอบเช่นกัน