30 ก.ค. - นักวิชาการคณะประมง ม.เกษตรศาตร์ ชี้เส้นผมห่อไนล่อนซับน้ำมันได้ แต่ต้องมีการจัดการที่ดี เพราะจะกลายเป็นขยะอันตราย จึงขอให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน หวั่นส่งผลกระทบเพิ่มมากขึ้น
ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวถึงกรณีที่มีการรณรงค์รับบริจาคเส้นผมเพื่อนำไปทำเป็นทุ่นซับน้ำมันว่า คุณสมบัติของเส้นผมห่อไนล่อนนั้นเหมือนฟองน้ำ มีความสามารถในการดูดซับเหมือนวัสดุที่ใช้ดูดซับทั่วไป ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านหรือสนับสนุน เพราะแล้วแต่ใจของคนที่อยากจะช่วยทะเล หากมีการนำผมห่อไนล่อนไปช่วยซับน้ำมันตามชายหาดก็ต้องเก็บไปทิ้งให้ถูกต้อง ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นขยะอันตราย ส่วนกรณีหากนำไปเป็นทุ่นนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะการสร้างทุ่นทำเพื่อกั้นไม่ให้น้ำมันไหลซึมเข้ามา ไม่ใช่การดูดซับ อีกทั้งตอนนี้น้ำมันทะลักมาถึงชายหาดแล้ว จึงต้องถามผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้ว่าจะไปวางตรงจุดไหน ดังนั้น ควรศึกษาแนวทางที่จะนำไปปฏิบัติใช้ให้ดีเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากยิ่งขึ้น
ผศ.ธรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ภายใน 14 วัน ฟิล์มน้ำมันที่ถูกคลื่นซัดทะลักมาถึงชายฝั่งจะรวมกับทรายกลายเป็นก้อนน้ำมันดินตามชายหาด ซึ่งจะต้องมีการกำจัดออกไป หากประเมินความเสียหายต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ส่วนผลกระทบอาจกินเวลานานหลายปี รวมถึงระบบนิเวศโดยรอบที่ยากจะกลับมาเหมือนเดิมได้
ขณะที่ทางด้าน กระทรวงสาธารณสุข จัดระบบเฝ้าระวังผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วในทะเล จ.ระยอง แนะประชาชนหลีกเลี่ยงสัมผัสคราบโคลนที่ชายหาด โดยเฉพาะ 4 กลุ่มต้องระวังพิเศษ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว หอบหืด หัวใจ ระยะเร่งด่วนจัดหน้ากากอนามัย 20,000 ชิ้น แจกประชาชนป้องกันการสูดดมไอระเหย เผยเบื้องต้นพบผู้มีอาการผิดปกติแล้ว 4 ราย - สำนักข่าวไทย