รัชกาลที่ 7 กับ อดอล์ฟ ซูเคอร์ ผู้ก่อตั้งพาราเมาท์พิกเจอร์
ภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ อดอล์ฟ ซูเคอร์ (Adolph Zukor) ผู้ก่อตั้งพาราเมาท์พิกเจอร์ และเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการภาพยนต์มากที่สุดในฮอลิวูด คาดว่าภาพนี้ถ่ายในปี 2474 ในช่วงเสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยด้านถ่ายภาพนิ่งและถ่ายภาพยนต์ และทรงได้สร้างภาพยนต์เรื่อง แหวนวิเศษ ขึ้นมาในสมัยนั้น จึงขอนำมาฝากเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ให้ทราบกัน
แหวนวิเศษ เป็นภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง แต่งเรื่อง และกำกับการแสดง เป็นภาพยนตร์ชนิดดำเนินเรื่องที่เป็นหนังเงียบ หรือหนังใบ้ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทภาพยนตร์ขึ้นในเรือพระที่นั่งจักรี ระหว่างการเสด็จฯ ประพาสทางทะเล เมื่อปีพุทธศักราช 2475 และโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายทำขึ้นที่เกาะพงันในหมู่เกาะสมุย ตัวละครทุกตัวในเรื่อง สวมบทบาทโดยพระประยูรญาติในราชวงศ์จักรี
จากหนังเงียบได้มีการจัดทำเป็นวีดีทัศน์ โดยให้มีดนตรีไทยประกอบ เนื่องในวาระงานเปิดศูนย์ ๑๐๐ ปี หม่อมหลวงบัว กิติยากร (พระราชมารดา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) จังหวัดนครนายก ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดตั้งขึ้นเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีเกิดของหม่อมหลวงบัว กิติยากร (แสดงเป็น นางพรายน้ำ) โดยมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นฝ่ายอำนวยการผลิตและเผยแพร่
เรื่องย่อ – เป็นเรื่องเกี่ยวกับพ่อเลี้ยงที่มีลูกเลี้ยงถึง 5 คน จึงคิดพาไปปล่อยเกาะโดยบังคับให้หาผลไม้มาให้ ไอ้ซนไปพบกับนางพรายและเล่าเรื่องของพ่อเลี้ยงใจร้ายให้ฟัง นางพรายได้มอบแหวนวิเศษที่สามารถชี้อะไรให้เป็นไปได้ดังใจนึก เด็กๆ เอาไปให้พ่อเลี้ยงดู พ่อเลี้ยงต้องการแหวนจึงคิดกำจัดลูกๆ ไอ้ซนชี้ให้พ่อเลี้ยงกลายเป็นสุนัขแต่ต่อมาให้กลับเป็นคนดังเดิม พ่อเลี้ยงรู้สำนึกจึงพากันกลับบ้าน ขณะขึ้นเรือแหวนวิเศษเกิดหลุดลงน้ำหายไป
สำหรับการทำงานเพลงประกอบภาพยนตร์แหวนวิเศษในปี พ.ศ. 2552 วงกอไผ่ได้รื้อฟื้นวิธีการที่นายกุ๊น นายโนรี เคยใช้ปฏิบัติมาเป็นพื้นฐานการวางเพลง และการสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์เงียบ ใช้เครื่องสายไทยผสมกับเครื่องดนตรีไฟฟ้าสากล อาจมีความแตกต่างจากดนตรีเพื่อการฟัง เนื่องด้วยจุดหมายคือรับใช้ภาพเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ เพลงหลักๆ ที่นำมาใช้ ได้แก่ –
- เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๗)
- เพลงเขมรละออองค์เถา (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๗)
- เพลงโล้ (หน้าพาทย์โบราณ-การเดินทางทางน้ำ)
- เพลงแสนคำนึง (หลวงประดิษฐไพเราะ ศร ศิลปบรรเลง)
- เพลงด้อมค่าย (หลวงประดิษฐไพเราะ ศร ศิลปบรรเลง)
- เพลงเขมรพายเรือ (สองชั้นของเก่า, ชั้นเดียวของครูเฉลิม บัวทั่ง)
- และเพลงข่า (ของเก่า)
เรียบเรียงดนตรีใหม่โดยอานันท์ นาคคง ร่วมบรรเลงโดย ประสาร วงษ์วิโรจน์รักษ์, อัษฎาวุธ สาคริก, ชัยภัค ภัทรจินดา, ณัฐพันธุ์ นุชอำพันธ์, รัชวิทย์ มุสิการุณ, อมร พุทธานุ, วัชระ ปลื้มญาติ
บันทึกเสียงโดย มารุต นพรัตน์
งานบันทึกเสียงครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์เครื่องมือ และสถานที่จากมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) บันทึกและผสมเสียงเสร็จสิ้นระหว่างวันที่ 9 -14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552