ทำความรู้จักมหันตภัยจาก “ฟ้าผ่า”
หลังเกิดเหตุไม่คาดฝัน “ฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ” บริเวณจุดชมวิว “เลอเฟวเรอร์” หนึ่งในจุดชมวิวของอุทยานแห่งชาติแกรนด์ แคนยอน ซึ่งอยู่บริเวณช่วงรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ ดร.อารัมภ์ กาวีวงศ์ และทพญ.รัชยา ตันตรานนท์ อายุ 30 ปีเท่ากัน คู่รักฮันนีมูนต้องมาเสียชีวิตพร้อมกันอยู่บนโขดหินบริเวณจุดชมวิวดังกล่าว
สร้างความตระหนกและตื่นตัวต่อปรากฏการณ์ฟ้าผ่าในสังคมโซเชียลมีเดียอย่างมาก โดยมีผู้เข้ามาร่วมโพสต์ข้อความไว้อาลัยและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของทั้งสอง ซึ่งทั้งคู่เป็นบุคลากรที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ในสองด้านคือ ทั้งวงการการศึกษาและวงการแพทย์ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่พวกเขาต้องจากไปก่อนวัยอันควร
คุณ “บุรินทร์” จากเว็บไซต์กระปุ๊กดอทคอม บอกว่า น่าเสียดายที่ทั้งสองท่านจากไปในวัยที่กำลังสร้างครอบครัว ขอแสดงความเสียใจต่อญาติของทั้งสองท่าน ความจริงเรื่องสภาพลมฟ้าอากาศ ในแต่ละท้องถิ่นของอเมริกา จะมีการรายงานทางวิทยุ มีการแจ้งเตือนเป็นระยะๆ พื้นที่ที่มีพายุทอร์นาโดพัดผ่าน ก็จะมีการรายงานแจ้งเตือน วันเกิดเหตุได้มีการแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวหรือไม่
คุณ “เสียดาย” จากเว็บไซต์สนุกดอทคอม บอกว่า คนเก่งๆ รุ่นใหม่ๆ ที่ยังสามารถทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศได้อีกมาก ไม่น่ามาด่วนจากไปอย่างนี้เลย ขออธิษฐานให้คุณทั้งคู่ได้จากไปอย่างสงบ อย่างน้อยคุณสองคนก็ได้จากโลกนี้ไปพร้อมกัน เรื่องของคุณแม้จะเป็นเรื่องที่น่าสลด แต่ก็เป็นตำนานรักที่น่าจดจำ
ส่วนเฟซบุ๊ก “หลวงพ่อสอนไว้” มองว่า ชีวิตคนเราไม่มีอะไรที่แน่นอน ขอให้ดวงวิญญาณทั้งคู่จงไปสู่สุคติ เกิดเป็นคู่แท้กัน ทุกชาติไป” พร้อมโพสต์รูปและข่าวจาก “สยามทาวน์ยูเอส” ระบุว่า “ดร.หนุ่มจาก มช. พาภรรยามาฮันนีมูนอเมริกา หลังแต่งงานเพียง 10 วัน ถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตอนาถ ระหว่างชมวิวแกรนด์ แคนยอน..” สำหรับเหตุการณ์ฟ้าผ่าที่แกรนด์ แคนยอน เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในช่วงที่เกิดพายุหน้าร้อน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวที่ยืนชมวิวอยู่ริมหน้าผา 4 คน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวของแกรนด์ แคนยอน และเจ้าหน้าที่ดูแลวนอุทยาน หรือปาร์ค เรนเจอร์จะออกเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้น หลังจากเกิดฟ้าร้องประมาณ 30 วินาที โดยเตือนให้หลบอยู่ในอาคารหรือในรถ และจะคอยบอกนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงจุดชมวิวโล่งๆ รวมถึงเตือนไม่ให้นักท่องเที่ยวจับรั้วเหล็กริมหน้าผาขณะเกิดเหตุการณ์ฝนตกฟ้าคะนองด้วย ทั้งนี้เคยมีนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ฟ้าผ่าที่แกรนด์ แคนยอน เป็นจำนวนมาก ทั้งบาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงบาดเจ็บสาหัส และเคยมีนักท่องเที่ยวจากเยอรมันวัย 64 เสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 แต่อ้างว่าการเสียชีวิตเพราะอาการหัวใจวายหลังบาดเจ็บเพราะฟ้าผ่า ล่าสุดความสูญเสียเกิดขึ้นกับคู่ฮันนีมูนจากเมืองไทยรวมเป็น 3 ราย
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติเปิดเผยหลังจากเหตุการณ์สลดที่แกรนด์ แคนยอน ว่า ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตเพราะเหตุฟ้าผ่าแล้ว 14 คน โดยมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในอริโซนา และฟลอริดา
ไม่ต่างจาก คุณ “mr_moowarn” จากเว็บไซต์พันทิปดอทคอม โพสต์กระทู้ “เศร้า! สามีภรรยาคนไทยไปเที่ยวสหรัฐ โชคร้ายถูกฟ้าผ่าเสียชีวิต” …น่าใจหายมาก ทั้งคู่เพิ่งแต่งงานกันเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมาและยังเป็นบุคลากรที่จะสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้อีกมาก เศร้าใจมาก เบื้องบนคงกำหนดมาแล้ว ขอให้ทั้งคู่สู่สุคติ และให้กำลังใจครอบครัวของทั้งคู่ พร้อมโพสต์รูปที่น่าจะเป็นสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งมีลักษณะเป็นแนวกั้นทำด้วยหินกับปูนไม่ใช่รั้วโลหะแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีผู้สงสัยว่า ในเมืองไทยจะมีโอกาสเกิดฟ้าผ่าลักษณะนี้หรือไม่ คุณ “markseven” จากเว็บไซต์พันทิปดอมคอมสงสัยว่า จากกรณีข่าวฟ้าผ่าสองสามีภรรยาคนไทยที่แกรนด์ แคนยอน ในเมืองไทยมีที่เที่ยวโล่งๆ และอันตรายแบบนี้ที่ไหนอีกบ้าง? คุณ “ต้นโพธิ์ต้นไทร” ตอบว่า เมืองไทยอากาศไม่ค่อยแปรปรวน ความต่างศักย์ทางไฟฟ้าในอากาศไม่ค่อยแตกต่างกันมาก โอกาสเกิดฟ้าผ่าโดยไม่มีฝนฟ้าคะนองแปรปรวนน้อย!!
รู้จัก”ฟ้าผ่า 4 แบบ”
ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า “ฟ้าผ่า” เกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าออกจากเมฆฝนฟ้าคะนอง (เมฆคิวมูโลนิมบัส) ซึ่งเป็นเมฆขนาดใหญ่ ฐานเมฆ (ขอบล่าง) สูงจากพื้นราว 2 กิโลเมตร ส่วนยอดเมฆ (ขอบบน) อาจสูงได้ถึง 20 กิโลเมตร ซึ่งภายในก้อนเมฆมีการไหลเวียนของกระแสอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้หยดน้ำและก้อนน้ำแข็งในเมฆเสียดสีกันจนเกิดประจุไฟฟ้า
“ฟ้าผ่า” มีอยู่ 4 แบบหลัก คือ 1.ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ หรือ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าแบบนี้เกิดมากที่สุด 2.ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง 3.ฟ้าผ่าจากเมฆลงสู่พื้น เป็นการปลดปล่อยประจุลบออกจากก้อนเมฆ หรือ ฟ้าผ่าแบบลบ (Negative Lightning) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนพื้น โดยบริเวณ “ใต้เงา” ของเมฆฝนฟ้าคะนอง และ 4.ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น เป็นการปลดปล่อยประจุบวกจากก้อนเมฆ หรือ ฟ้าผ่าแบบบวก (Positive Loghtning) สามารถผ่าได้ไกลจากก้อนเมฆได้ถึง 30 กิโลเมตร นั่นคือ แม้ท้องฟ้าเหนือศีรษะของเราจะดูปลอดโปร่ง แต่เราอาจจะถูกฟ้าผ่า (แบบบวก) ได้ หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างไกลออกไปในระยะ 30 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียง 1 วินาที เคยมีข้อมูลบันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2527 เกิดฟ้าผ่านักกอล์ฟในเมืองทูซอน มลรัฐอริโซนา ประเทศหรัฐอเมริกา โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างออกไปราว 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นไปได้ว่า เป็น “ฟ้าผ่าแบบบวก” ซึ่งทรงพลังมากกว่าฟ้าผ่าแบบลบถึง 10 เท่า
“สัญญาณเตือนภัยฟ้าผ่า”
หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่เหนือศีรษะ คุณก็จะมีสิทธิ์ถูกฟ้าผ่าแบบลบได้ หากรู้สึกว่าเส้นขนบนผิวหนังลุกขึ้น หรือถึงขนาดเส้นผมบนศีรษะลุกตั้งขึ้น แสดงว่าคุณกำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า เนื่องจากเส้นขนและเส้นผมของคุณกำลังถูกเหนี่ยวนำอย่างแรง สืบเนื่องจากฐานเมฆของเมฆฝนฟ้าคะนองมีประจุเป็นลบ จะเหนี่ยวนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใต้ฐานเมฆให้มีประจุเป็นบวก
ทั้งนี้ “ไฟฟ้าจากฟ้าผ่า” มีแรงดันไฟฟ้าสูงถึง 100 ล้านโวลต์ มีกระแสไฟฟ้าประมาณ 25-250 กิโลแอมแปร์ (KA) มีอุณหภูมิประมาณ 15,000 องศาเซลเซียส มีความเร็วประมาณ 1/10 ของความเร็วแสง สามารถวิ่งผ่านร่างกายด้วยเวลาเพียง 1/10,000-1/1,000 วินาที จึงส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและการทำงานของระบบประสาท
ข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า (Lightning-related injuries) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่ายการเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง พบว่า จำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงจากฟ้าผ่า ปี 2551-2555 จำนวน 180 ราย (เฉลี่ยปีละ 36 ราย) เสียชีวิต 46 ราย อัตราเจ็บตาย ร้อยละ 23.89 โดยปี 2555 มีผู้บาดเจ็บรุนแรง เป็นชายร้อยละ 68.3 หากแยกตามอายุพบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 45-49 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 30-34 ปี และอายุ 20-24 ปี ตามลำดับ
สำหรับพื้นที่ที่ฟ้าผ่ามากที่สุดในโลกนั้น เว็บไซต์ “Science For Fun” รวบรวมไว้ 4 อันดับ โดยอันดับ 1 คือ “คองโก” พื้นที่ใกล้กับหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ คิฟูกะ (Kifuka) ซึ่งอยู่ลึกในภูเขาระดับความสูง 3,200 ฟุต (975 เมตร) เกิดฟ้าผ่า 158 ครั้ง/ตร.กม., อันดับ 2 “สิงคโปร์” เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีภูมิอากาศที่ร้อนชื้นเกือบตลอดปี ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมในการเกิดพายุฟ้าคะนอง ทำให้มีวันเกิดพายุฟ้าคะนองถึง 171 วัน/ปี, อันดับ 3 “บราซิล” บริเวณ เมืองเทเรซินา (Teresina) ทางตอนเหนือของประเทศ มีพื้นที่ชื่อว่า “Chapada do Corisco” หรือ “ที่ราบฟ้าผ่า”, อันดับ 4 “อเมริกา” ฟ้าผ่าบ่อยที่สุดในตอนกลางของรัฐฟลอริดา ในพื้นที่ที่เรียกว่า “เส้นทางฟ้าผ่า” (Lightning Alley) ซึ่งอยู่ระหว่าง “แทมปา” ถึง “ออลันโด” มีปริมาณฟ้าผ่า 50 ครั้ง/ตร.ไมล์ (ประมาณ 20 ครั้ง/ตร.กม.) ต่อปี และ “ตึกเอ็มไพร์สเตท” ถูกฟ้าผ่าโดยเฉลี่ยปีละ 23 ครั้ง และเคยถูกฟ้าผ่ามากถึง 8 ครั้ง ภายในเวลา 24 นาที
ที่มา: postjung.com, komchadluek.net