ดร.ธรณ์ ห่วง น้ำมันรั่วระยอง กระทบระบบนิเวศหนัก อีกนานถึงฟื้นตัว


เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat , สปริงนิวส์ 

         ดร.ธรณ์ ห่วง เหตุน้ำมันรั่วทะเลระยอง กระทบระบบนิเวศหนัก ทั้งสัตว์ทะเล หาดทราย หาดหิน โดนเต็ม ๆ แนวปะการังหนักสุดต้องรออีกหลายปีถึงฟื้นตัว

        จากข่าวท่อรับน้ำมันดิบกลางทะเลของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เกิดรั่วไหล เมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ส่งผลให้น้ำมันดิบจำนวน 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลจังหวัดระยอง โดยจนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 คราบน้ำมันดิบได้ถูกพัดเข้ามาถึงเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง และทะลักเข้ามายังชายหาดบริเวณอ่าวพร้าวแล้ว ส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ต้องประกาศให้พื้นที่บริเวณอ่าวพร้าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเล และต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน

        หลายคนที่ได้ติดตามข่าวนี้คงอดกังวลไม่ได้ที่เห็นภาพคราบน้ำมันปริมาณมหาศาลลอยอยู่กลางทะเล และเกิดคำถามขึ้นมามากมาย ส่วนหนึ่งที่อยากทราบก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเลมากน้อยเพียงใด ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้พูดถึงเหตุการณ์นี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เช่นกัน พร้อมกับตอบคำถามที่หลายคนสงสัยดังนี้
 
        "ดูจากปริมาณน้ำมันดิบที่เข้าหาดตามภาพข่าวแล้ว เยอะนะเนี่ย คำถามที่หลายคนสงสัย ขอตอบตามที่เข้าใจดังนี้ครับ

        ระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในตอนนี้ ได้แก่ ระบบนิเวศหาดทรายของอ่าวพร้าว ยาว 600 เมตร คราบน้ำมันจะจับตามตัวสัตว์ทะเลขนาดเล็ก เช่น ปูลม หอย ยังทำให้สัตว์ทะเลที่ฝังอยู่ในทราย ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ง่าย ๆ คือหายใจไม่ออก 

        ระบบนิเวศที่ได้รับผลต่อไปคือแนวปะการังและหาดหินที่อยู่รอบบริเวณนี้ จะรุนแรงแค่ไหน ดูจากสภาพแล้ว สัตว์ที่เกาะอยู่ตามหิน ไม่สามารถหนีได้ ก็โดนเต็ม หรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ก็โดนเต็มอีกเช่นกัน ตอนนี้ยังทำความสะอาดเฉพาะหาดทราย จะไปถึงหาดหินหรือเมื่อไหร่ เรื่องนั้นต้องว่ากันต่อ

        แนวปะการังบริเวณนี้จะเป็นอย่างไร แถวนี้เป็นแนวปะการังน้ำตื้น เมื่อน้ำลง อาจเกิดผลกระทบจากน้ำมัน เช่น น้ำมันลงมาโดนปะการัง หายใจไม่ออก ฯลฯ สัตว์เกาะติดพวกนี้จะโดนเหมือนกันหมด 

        สัตว์บางประเภทที่สามารถว่ายน้ำหนีได้ เช่น ปลา จะขึ้นกับว่าปลาพวกไหน ปลาการ์ตูนอยู่คู่กับดอกไม้ทะเล ดอกไม้ทะเลหนีไม่ได้ ปลาการ์ตูนก็ไม่ไป แต่ถ้าเป็นปลากระบอกก็อาจว่ายหนีไปที่อื่นได้ ปลาในทะเลจึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรม บางชนิดอยู่เฉพาะถิ่นก็อยู่ตรงนั้น ตายตรงนั้นครับ

        ผลกระทบจึงไล่กันมา ตามลำดับของการฟื้นตัว ดังนี้

        1. คราบน้ำมันบนหาดทราย คงหมดไปภายในไม่กี่วัน ขึ้นกับว่าเขาช่วยกันตักช่วยกันซับขนาดไหน

        2. ระบบนิเวศหาดทราย สัตว์ทั้งหลายที่ตายไปจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ แน่นอนว่านานกว่าการทำความสะอาดหาดเป็นแน่ 

        3. ระบบนิเวศหาดหิน ยังไม่ค่อยมีคนสนใจ การทำความสะอาดจะนานแค่ไหน ก็ต้องตามต่ออีกเช่นกัน ระบบนิเวศพวกนี้อาจฟื้นตัวไล่หลัง หรือพร้อมกับหาดทราย

        4. แนวปะการัง แน่นอนว่าถ้าโดนเข้าไป คงฟื้นตัวช้าที่สุด อาจไม่ใช้คำว่าเดือน หน่วยต้องเป็นปีครับ กี่ปีว่ากันไป ต้องดูสภาพและติดตามไปเรื่อย ๆ

        5. อย่าลืมระบบนิเวศพื้นท้องทะเลที่น้ำมันลอยผ่านและใช้สารเคมีให้จมตัวลง จะมีมากน้อยอย่างไร ต้องเก็บตัวอย่างน้ำ ตัวอย่างตะกอนดิน แพลงก์ตอน สัตว์หน้าดิน วัดธาตุอาหาร วัดสารปนเปื้อน โอ้...เฉพาะเก็บข้อมูลพวกนี้ทั้งหมดก็ว่ากันเป็นเดือนแล้ว ถึงจะตอบได้ว่าโดนแค่ไหนและจะฟื้นบ้างไหม คงไม่สามารถตอบได้ใน 3 วัน 5 วันหรอกครับ (ตอบเร็วแล้วเป็นไง คงเข้าใจกันอยู่แล้ว)

        เพราะฉะนั้น ปัญหาครั้งนี้ หากเอาแค่หายไปจากสายตา คงใช้เวลาไม่กี่วัน แต่ถ้าทำให้ระบบนิเวศทั้งหมดกลับมาอยู่ในสภาพเดิม คงไม่ใช้เวลาเร็วขนาดนั้น และจำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบในหลายด้าน ซึ่งตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล มีแนวทางชัดเจนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำไหมและจะทำแค่ไหน งานนี้ยังรวมถึงการขอข้อมูลจากชาวบ้านเพื่อนำมาประกอบและใช้ประเมินความเสียหาย

        บทเรียนเป็นคำที่เราเบื่อมาก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะเรียนจบสักที แต่ก็คงบอกได้แค่นี้ ขอให้ถือเป็นบทเรียน และทำทุกอย่างให้ชัดเจน โปร่งใส และตอบคำถามได้อย่างมั่นใจ ด้วยหลักการและข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอครับ"

Credit: http://travel.kapook.com/view67396.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...