เอาซวิตซ์ เป็นที่ตั้งของค่ายกักกัน ซึ่งใช้ขังและสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์นับล้านชีวิตโดยเฉพาะชาวยิว
การมาเยือนดินแดนนี้ดุจดั่งต้องมนต์สะกด ลองยืนคิดดูเล่นๆ ว่า หากเราได้เกิด หรือได้มาอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ตั้งแต่สมัยสงครามโลก แล้วต้องโดนจับไปอยู่ในแดนกักกันคุก เอาชวิตซ์ สงสัยคงต้องโดนผู้นำคอมมิวนิสจับเชือดก่อนเป็นคนแรกแน่ๆ เพราะเค้ามีการคัดแยกเชลยด้วยว่า คนไหนควรจะเอาไปเป็นตัวทดลองทางการแพทย์ต่างๆ คนไหนควรจะเอาไปใช้งาน และคนไหนที่ไร้ประโยชน์ควรฆ่าทิ้ง คิดแล้วเสียว…บรึ๋ย… แต่ด้วยใจที่รักในการใฝ่รู้ ทำให้สองเท้าต้องก้าวเดินต่อไปยังค่ายกักกันแห่งนี้ในที่สุด
Auschwitz Concentration Camp ( ค่ายกักกัน เอาชวิตซ์ ) อยู่ทางตอนใต้ของโปแลนด์ ที่ถูกบุกและยึดครองโดยนาซีเยอรมัน และได้ใช้เป็นสถานที่ตั้งค่ายกักกันใหญ่ 2 แห่ง และค่ายย่อยอีกประมาณ 36 แห่ง ซึ่งใช้กักขัง และสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์นับล้านชีวิต โดยเฉพาะชาวยิวที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เกลียดนักเกลียดหนา แค่เพียงเพราะว่า ชาวยิวไม่ได้มีผิวขาว ผมสีทอง และนัยน์ตาสีฟ้าเหมือนตน จึงเป็นสายเลือดที่ไม่บริสุทธิ์ ควรต้องทำลายทิ้งให้หมด
ค่าย เอาชวิตซ์ เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1940 แบ่งออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน ทั้งแดนกักขัง ที่พักผู้บัญชาการค่าย ออฟฟิศบัญชาการ โรงพยาบาล โรงครัว โกดังเก็บของ โรงฆ่า ห้องรมแก๊สพิษ ที่เผาศพ แดนประหาร โรงนอน ห้องทดลอง และอีกหลายๆ อาคาร ล้วนแต่อยู่ในพื้นที่ค่ายทั้งสิ้น เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการสังหาร
ด้านนอกก่อนเข้าตัวอาคารต่างๆ เป็นพื้นที่โล่งสุดลูกหูลูกตา ฉะนั้นอย่าได้คิดหนีเสียให้ยาก เพราะถึงอย่างไรก็ต้องตายแน่นอน แดนกักขังเชลยชาวยิว ตลอดจนประชาชนชาวโปแลนด์ในค่ายกักกัน เอาชวิตซ์ แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ ค่ายเอาชวิตซ์ 1 สร้างขึ้นมาก่อนในปีค.ศ.1940 ใช้เป็นที่กักขังเชลย ซึ่งต่อมาในปีเดียวกันได้สร้าง เอาชวิตซ์ 2 เพื่อถ่ายเทเชลยจากเอาชวิตซ์ 1 ซึ่งเริ่มจะแน่น และแออัด เนื่องจากจำนวนเชลยที่ถูกจับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงแบ่งพื้นที่เป็นโรงฆ่าด้วย โดยเฉพาะพวกชาวยิว และต่อมาได้สร้างเอาชวิตซ์ 3 โดยในส่วนนี้จะถูกซอยย่อยออกเป็นค่ายเล็กๆ 36 ค่าย สำหรับผู้ที่ถูกจับให้มาอยู่ในเอาชวิตซ์ 3 จะโชคดีกว่าเอาชวิตซ์ 1 และ 2 เพราะจะถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนมากจะเป็นชาวโปแลนด์ ในแดนนี้จะไม่มีชาวยิว เนื่องจากชาวยิวจะถูกจับไปรวมกันอยู่ที่เอาชวิตซ์ 1 และ 2 เพื่อทำการทดลองและทำลายทิ้ง ซึ่งฟังดูแล้วน่าสลด เพราะก่อนเชลยที่ถูกจับจะเข้ามาสู่ตัวอาคาร จะต้องถูกผู้บัญชาการทำการคัดแยกตั้งแต่หน้าประตูค่าย ว่าควรจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ไปอยู่ที่อาคารไหน
ภายในจัดแสดงให้เห็นถึงกิจกรรม เรือนนอน แดนประหาร โรงฆ่า และชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมือนนรกบนดินของเชลยในค่ายที่รอวันตาย โดยมีคำบรรยายผ่านออดิโอซาวน์หลายภาษาให้เลือกฟังตามถนัด
นี่ยังเป็นแค่เรื่องราวเพียงเล็กน้อยที่นำมาถ่ายทอดสู่กันฟัง และไม่อยากจะเศร้าใจไปมากกว่านี้ เลยต้องขอออกจากเอาชวิตซ์ ไปตามติดความมันส์อันน่าตื่นเต้นกันต่อที่ “เหมืองเกลือ”
Wieliczka Salt Mines (เหมืองเกลือ Wieliczka) เป็นสถานที่ที่น่าตื่นเต้นชะมัดเมื่อเห็นแว๊บแรก เพราะนึกไปถึงการผจญภัยแบบอินเดียนน่าโจน ที่ต้องมุดเข้าไปในถ้ำเพื่อค้นหาสมบัติยังไง ยังงั้น แถมสถานที่ก็เก่าแลดูมีมนต์ขลังสมใจ
เหมืองเกลือแห่งนี้ เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศโปแลนด์ และยังเป็นเหมืองใต้ดินที่มหัศจรรย์ที่สุดของโลก ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศโปแลนด์ในเมือง Wieliczka สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 ได้ทำการผลิตเกลือกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปีค.ศ.1996 จึงได้ทำการยกเลิก เนื่องจากราคาเกลือตกต่ำ และน้ำท่วมเหมือง ในอดีตเหมืองแห่งนี้ ก็เคยถูกเยอรมันยึดครองเมื่อครั้งสงครามโลกอีกด้วย ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในลักษณะประวัติศาสตร์ของการทำเหมือง ภายในมีรูปปั้นแกะสลักจากหินเกลืออยู่มากมาย ทั้งของเดิมโบราณ และของใหม่ ที่แกะสลักโดยจิตรกรร่วมสมัยของโปแลนด์ ซึ่งตกแต่งคล้ายๆ โบสถ์ใต้ดิน โดยชาวโปแลนด์จะเรียกเหมืองแห่งนี้ว่า “วิหารเกลือใต้ดิน”
เหมืองเกลือ มีความลึกลงไปใต้ดิน 327 เมตร และมีความยาวประมาณ 300 กิโลเมตร นับว่าอลังการงานสร้างเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ได้เปิดเป็นพื้นที่แสดงงานทั้งหมดหรอกนะ เพราะพื้นที่ในส่วนจัดแสดงนั้นประมาณ 3 กิโลเมตรกว่าๆ เท่านั้น และหากใครนึกภาพว่าจะเจอกับเกล็ดเกลือขาวๆ ล่ะก็คิดผิด เพราะด้วยกาลเวลาทำให้ผนังของเหมืองแห่งนี้ออกเฉดสีเทา คล้ายๆ หินแกรนิตขัด ซึ่งก็สวยและน่าอัศจรรย์ใจไม่น้อย ส่วนเรื่องความเย็นในเหมืองแห่งนี้ไม่ต้องพูดถึง มันเย็นแน่นอนอยู่แล้ว ก็เล่นซะลึกถึง 300 กว่าเมตรจากพื้นดิน แต่ก็หายใจหายคอกันได้สะดวกดีอยู่
ว้า…กำลัง เพลินเลย แต่คงต้องถึงเวลาที่จะล่ำลาโปแลนด์ซะที ทั้งที่ใจจริงยังอยากอยู่ต่อ เพราะดินแดนเล็กๆ ผืนนี้ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกตั้งมากมาย โดยเฉพาะนักดนตรีระดับโลกอย่างท่าน ฟรองซัวร์ โชแปง เราก็ยังไม่ได้เดินทางไปสบตาเลย เอาไว้เมื่อหัวใจเรียกหา ขอสัญญาว่าจะกลับมาอีก และจะขอศึกษาเรื่องราวของศิลปินระดับโลกผู้นี้ให้อย่างถึงกึ๋นกันเลย