การแต่งกายของมุสลิมหญิง และมุสลิมชาย ตามหลักศาสนาอิสลาม

 

 

 

 

 

การแต่งกายของมุสลิมหญิง และมุสลิมชาย ตามหลักศาสนาอิสลาม

 

 

มุสลิม หมายถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม แบ่งเป็นมุสลิมีน (มุสลิมชาย) และมุสลิมะห์ (มุสลิมหญิง) ในการแต่งกายของมุสลิมตามหลักการในศาสนาอิสลาม มีวัตถุประสงค์สำคัญในการปกปิดสิ่งพึงละอายของร่างกาย โดยเฉพาะร่างกายของสตรีมุสลิม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือนร่างเพศหญิง ดึงดูดความสนใจของบุรุษเพศ อันจะก่อให้เกิด "ฟิตนะห์" (ความเสียหาย ความไม่ดีไม่งามต่อสังคม) ศาสนาอิสลามจึงได้วางหลักเกณฑ์ไว้เพื่อป้องกันฟิตนะห์ที่จะเกิดขึ้น

เสื้อผ้าของทั้งมุสลิมชาย และมุสลิมหญิง ต้องสะอาด ประณีต เรียบร้อย ดูสวยงามเหมาะสมกับบุคลิกภาพ โดยการดำรงตนสมถะหรือการเคร่งครัดในศาสนา ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใส่เสื้อผ้าเก่าแลดูซอมซ่อ เพื่อให้บุคคลอื่นเห็นว่าไม่ใส่ใจใยดีต่อโลก แต่ควรแต่งกายให้เหมาะสมด้วยสีสันและลวดลาย โดยหลักการศาสนาอิสลาม เสื้อผ้าที่มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ หรือรูปมนุษย์ ต้องพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ และสำหรับมุสลิมชายนั้น มีข้อห้ามในการสวมผ้าไหม และสิ่งทอที่ประกอบหรือประดับด้วยทองคำแท้

"ฮิญาบ" ความหมายทางศาสนา คือ การปิดกั้น และความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยมุสลิมชาย และมุสลิมหญิง ถูกสั่งใช้ให้คลุมฮิญาบ (อันหมายถึง ปกคลุมปิดกั้นตน ด้วยกิริยาในความอ่อนน้อมถ่อมตน) เช่น มุสลิมชายให้สำรวมตนโดยการลดสายตาลงต่ำ และมุสลิมหญิงพึงสงวนท่าทีและกิริยามารยาท แต่ความหมายโดยทั่วไปทางกายภาพของฮิญาบ คือ ผ้าคลุมศีรษะของมุสลิมหญิง ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้กันเป็นปกติในชีวิตประจำวันของสตรีทุกคนที่นับถือศาสนาอิสลาม

การคลุมฮิญาบของมุสลิมหญิง มีเกณฑ์ตาม "เอาเราะฮ์" (สิ่งพึงปกปิด) โดยสามารถพิจารณาได้หลายหลักเกณฑ์ เช่น เอาเราะฮ์ระหว่างชายหญิงทั่วไป เอาเราะฮ์ของเด็ก เอาเราะฮ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวญาติพี่น้อง เอาเราะฮ์ระหว่างสามีภรรยา ฯลฯ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป โดยเอาเราะฮ์ระหว่างชายหญิงตามปกติทั่วไปนั้น สตรีมุสลิมต้องปกปิดร่างกายทั้งหมดยกเว้นเพียงใบหน้าและฝ่ามือ ด้วยความเรียบร้อยเหมาะสม การคลุมศีรษะต้องปิดบังเส้นผมจนถึงหน้าอก โดยที่ไม่เผยให้เห็นทรวดทรงหรือส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกาย ส่วนเอาเราะฮ์ของผู้ชายโดยทั่วไปนั้น คือการปกปิดตั้งแต่บริเวณสะดือถึงหัวเข่า

 

 

ลักษณะการแต่งกายของมุสลิม ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมตามแต่ภูมิภาคนั้นๆ เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง (ประกอบด้วยวัฒนธรรมอาหรับ เปอร์เซีย เติร์ก) ภูมิภาคแอฟริกา ภูมิภาคเอเชียกลาง ภูมิภาคเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะ) โดยจะมีรายละเอียดลักษณะการแต่งกายแตกต่างกันไป สตรีมุสลิมแถบตะวันออกกลาง นิยมสวมเสื้อคลุมยาวเรียกว่า อบายะห์ (Abaya) ในเอเชียใต้นิยมห่มสาหรี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สวมเสื้อผ้ามัสลิน หรือลูกไม้ตัวยาวแบบมลายู นุ่งซิ่นปาเต๊ะ ผ้าบาติก หรือการจับเอาหลายวัฒนธรรมมาผสมผสาน

สำหรับการคลุมศีรษะนั้น มีลักษณะการคลุมหลายลักษณะ เช่น คิมารฺ (Khimār) หรือตอรฺฮะฮฺ (Tarha) คือการใช้ผ้าคลุมศีรษะโดยเปิดเผยใบหน้า หรือ นิกอบ (Niqab) การใช้ผ้าปิดบังใบหน้า แต่เปิดเผยเฉพาะดวงตา และ บุรฺเกาะ(Burqa) คือปิดคลุมใบหน้าทั้งหมด ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ผ้าคลุมฮิญาบได้คิดค้นด้วยภูมิปัญญาการเย็บปักผ้าคลุมอย่างประณีต รักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ด้วยการออกแบบลายปักผ้าและสีสัน  เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

  

 

มุสลิมชายในวัฒนธรรมอาหรับจะสวมโต๊บ (Thawb/Thobe) ลักษณะเป็นชุดยาว หรือหากมีพิธีการสำคัญสามารถคลุมทับด้วยเสื้อคลุม มิชลาฮ์ (Mishlah/Bisht) สวมหมวกตะกียะห์ (Taqiyah) คลุมศีรษะด้วยผ้าชีมัค(Shemagh) หรือคัฟฟิเยห์ (Keffiyeh) ซึ่งมุสลิมไทยเรียกว่า "ผ้าซาราบั่น" มีลักษณะการคลุมและโพกหัวหลากหลายแบบ หรือการรัดด้วยเชือกถักสายรัด อเกล (Agel/Egal/Ogal/Igal) ซึ่งอาจมีพู่ห้อย การรัดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าซาราบั่นหลุดเลื่อน โดยต้องอยู่ในขอบเขตของเอาเราะห์

ในพื้นที่คาบสมุทรมลายู นิยมสวมแขนยาวเสื้อคอตั้ง สวมกางเกงขายาว และมีผ้าโสร่งผืนสั้น ที่เรียกว่า ผ้าซองเก็ต พันรอบเอว หากอยู่ในชุดลำลองจะสวมใส่โสร่ง ลายตารางทอด้วยฝ้าย สวมเสื้อเชิ้ตลำลอง เสื้อกุรง หรือเสื้อยืด ซึ่งนิยมในมุสลิมชายในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสวมหมวก "กะปิเยาะห์" ซึ่งเดิมเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมในการสวมใส่หมวกของชาวอาหรับ 

ในประเทศแถบมลายูรวมถึงจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะนิยมสวมใส่หมวกที่เรียกกันว่า "ซอเกาะก์" (Songkok) ส่วนหมวกกะปิเยาะฮ์นั้นเป็นหมวกที่ชาวไทยมุสลิมสวมใส่ประกอบศาสนกิจ (การประกอบพิธีละหมาด) และสวมใส่ประจำวัน เกิดจากการนำผ้าหลาย ๆ ชนิดมาตัดเย็บซ้อนกัน 3 ชั้น เย็บด้วยผ้าหลายชนิดทับซ้อนกัน และจะมีลวดลายต่าง ๆ บนหมวก ฝีมือการผลิตประณีต มีลวดลายปักและฉลุหลายแบบ คำว่า กะปิเยาะห์ แผลงจากคำว่าตะกียะห์ แปลว่า หมวก

 

กะปิเยาะ ซอเกาะก์ (Songkok) ตะกียะห์ (Taqiyah)

 

โสร่ง (Sarong) ซึ่งเป็นผ้านุ่งอย่างหนึ่ง ที่ใช้ผ้าผืนเดียว เพลาะชายสองข้างเข้าด้วยกันเป็นถุง แบบเดียวกับผ้าถุง หรือผ้าซิ่น ใช้นุ่งอย่างแพร่หลาย ทั้งหญิงและชาย ในหลายประเทศของเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน บังคลาเทศ ฯลฯ นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในหลายท้องถิ่นในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยที่แต่ละท้องถิ่น จะมีชื่อเรียกต่างกันไป ทว่าอาจเรียกรวม ๆ ได้ว่า โสร่ง 

 

      

 

ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิมคุณภาพสูงใน AEC เพื่อส่งขายในตลาด AEC รวมถึงตลาดโลกที่มีประชากรมุสลิมกว่า 2 พันล้านคน โดยปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิม โดยมีมูลค่าอุตสาหกรรมกว่า 5.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมในประเทศไทยซึ่งมีประชากรมุสลิมประมาณ 6.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรในประเทศ มีมูลค่าตลาดประมาณ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 7,200 ล้านบาท

 


Credit: http://board.postjung.com/694863.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...