ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ
เข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2013 กันอย่างเป็นทางการแล้วนะครับ เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกจริง ๆ สำหรับพวกเราชาวเอไอเอส ยิ่งรู้สึกว่าเร็วกว่าคนอื่น เพราะนับตั้งแต่ได้ใบอนุญาตมา ก็ก้มหน้าก้มตาทำ 3G กันอย่างหนักแข่งกับเวลา เพื่อขยายเครือข่ายและมอบประสบการณ์การใช้งาน 3G ตัวจริงบนคลื่น 2100 MHz อย่างรวดเร็วที่สุด
จนกระทั่งวันนี้เราเดินหน้าขยายเครือข่ายได้ แล้วกว่า 40 จังหวัด และจะครอบคลุมหัวเมืองใน 67 จังหวัด ด้วยจำนวนสถานีฐานมากกว่า 6,000 สถานีฐานในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ และจะครบในหัวเมืองทั้ง 77 จังหวัดภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2556 แน่นอน !
ระหว่าง ที่วิศวกรขยายเครือข่าย ซึ่งอุปมาเหมือนการสร้างถนน เพื่อให้เชื่อมต่อกันได้ทั่วถึง ขนส่งสินค้าบริการไปยังบ้านของทุกท่าน หรือในที่นี้คือถึงมือของทุกท่าน ผมก็เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ไปด้วย
อ่านบทความของ รศ.ดร.พสุ, บัญชีจุฬาฯ แล้วเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่บอกว่า "Smart Phone อวัยวะชิ้นที่ 33 หรือสิ่งเสพติด" ยืนยันปรากฏการณ์ที่พวกเราคงเห็นด้วยอย่างไม่โต้แย้งว่า คนอายุระหว่าง 18-30 กว่า 1,800 คน จาก 18 ประเทศทั่วโลก บอกว่ามือถือได้กลายเป็นอวัยวะอีกชิ้นหนึ่งของคนรุ่นใหม่จริง ๆ
เพราะ แม้แต่เวลาส่วนตัวสุด ๆ อย่างตอนนอน หรือตอนเข้าห้องน้ำ มือถือก็ไม่สามารถห่างตัวได้ หลายคนนอนหลับไปพร้อมมือถือ หลายคนเป็นริดสีดวงทวาร เพราะนำมือถือเข้าห้องน้ำไปด้วย !
ลงท้ายบท ความด้วยการที่อาจารย์ชวนให้คนหันมาทำ Smart Phone Detox กันบ้าง เพราะจะช่วยให้สดชื่นเหมือน Detox ลำไส้เลยทีเดียว ซึ่งสำหรับผมเห็นด้วยอย่างมาก อย่าลืมวางมือถือแล้วหันไปขี่จักรยาน เล่นกับหมา หรือซักผ้า ล้างจานกันซะบ้าง รับรองสนุกอีกแบบแน่ ๆ
อย่าง ไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน ในฐานะคนทำเครือข่ายอย่างผม นับได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เสพติดมือถือแบบตรง ๆ เลยทีเดียว อย่างวันก่อนเห็นตัวเลขที่ทีมงานประเมินจำนวนคนไทยที่มีการใช้ Mobile Internet พบว่าตอนนี้ภาพรวมมีถึงกว่า 26 ล้านราย และนิยมใช้งาน Social Media มาเป็นอันดับ 1 คือสูงถึง 50% รองลงมาคือการ Browsing Internet และดู VDO เป็นอันดับ 3
ทำให้เห็นว่า การสื่อสาร แสดงตัวตน แสดงความรู้สึกผ่าน Social Media ที่นิยมเป็นอันดับ 1 ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ "โรคมืออ่อน" ซึ่งกำลังฮิตติดลมบนกันทั่วเมือง เช่นเดียวกันกับ "วัฒนธรรมก้มหน้า" นั่นแหละครับ
ลองดูซิ ครับว่า วันนี้เหล่า Hot Issue ทั้งหลายในสังคม เกือบ 100% มีจุดเริ่มต้นจาก Content ที่ถูกเผยแพร่ผ่าน Social Media ไม่ว่าจะเป็นภาพหลุด คลิปหลุด หรือไม่ได้หลุด แต่จงใจเปิดเผย แต่ดันนำมาซึ่งปัญหาแก่เจ้าตัวแบบเข็มขัดสั้น (คาดไม่ถึง !) หรือถ้าในเชิงบวก การตั้งใจเปิดเผย เชิญชวน นำมาซึ่งกระแสช่วยเหลือที่หลั่งไหลอย่างล้นหลาม ท่ามกลางกระแสธารของการทำความดี ช่วยเหลือสังคม รวมไปถึงการให้โอกาสแก่คนหลาย ๆ กลุ่ม
เรียกได้ว่ามีทั้งลบและบวก ที่มีดีกรีความแรงแตกต่างกันไป แล้วแต่อารมณ์ร่วม หรือกระแสจะพัดพา !
ดังนั้น ในระหว่างถกแถลงกับเหล่าเพื่อน ๆ ต่างวัย คำว่า "โรคมืออ่อน"
ได้กระเด้งโดนใจผมเข้าอย่างจัง จนอยากชวนคุยเรื่องนี้ด้วยกัน
สมัย ก่อน "มืออ่อน" จะหมายถึงผู้ที่มีสัมมาคารวะ มือไม้อ่อน เห็นหน้าใครที่นับถือ หรือใครทำอะไรให้ ก็พร้อมที่จะยกมือคารวะแสดงความขอบคุณหรือทักทายโดยไม่ต้องรอให้ใครสั่ง
เปิดเว็บเด็กดีดอทคอมอธิบายคำนี้ว่า มีความหมายที่พัฒนาขึ้นในทางกว้าง หมายถึงการพลอยยกมือแสดงความเห็นชอบตามเขาไป (แบบไม่คิดเอง) มักใช้พูดตำหนิการเมืองในเวลาลงคะแนนเสียง
เอา เป็นว่าย้อนมาในความหมายที่ผมมอง ก็คือในยุคที่การเข้าถึง Social Media อยู่เพียงปลายนิ้ว คนเราเริ่มเป็นโรค "มืออ่อน" เพราะเสียใจก็โพสต์ หิวก็โพสต์ บ่นก็โพสต์ อยากอวดก็โพสต์ อยาก...ก็โพสต์ !
เอาเป็นว่าสารพัดเรื่อง ที่บางทีแค่ใจคิดยังไม่ทันจบ แต่มืออ่อนโพสต์ข้อความขึ้นไปซะแระ !
น่ากลัวนะครับโรคนี้ เพราะอย่างที่เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมในสื่อกระแสหลัก ที่หยิบยกเอาเรื่องราวร้อน ๆ ที่เกิดขึ้นใน Social Media ไปนำเสนอ สร้างการรับรู้ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ผมว่าเกิน 50%
เป็นเพราะ "มืออ่อน" นั่นแหละ
หลายคนรอบตัวบอกกับผมว่า ในฐานะคนเอไอเอสก็น่าจะชอบนะ ที่ตอนนี้กระแส Social Media ของเมืองไทยมาแรง
เป็นอันดับ 1 ยิ่ง 3G ตัวจริงอย่างเราเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบ ก็ยิ่งมาแรงยิ่งขึ้น
ส่วนตัวผม หากเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ เช่น Social Media ที่นำพาความช่วย เหลือ สร้างโอกาสให้แก่คนในสังคม ผมย่อมรู้สึกยินดีและมีความสุขแน่ ๆ แต่หาก 3G ทำให้พฤติกรรมคนไทยขาดความรอบคอบ ได้รับความเดือดร้อน ผมก็คงไม่มีความสุขหรอกครับ
ดังนั้น แม้เทคโนโลยีจะพุ่งไปข้างหน้า แต่ขอให้พวกเรารู้คิด มีสติ รู้การควรไม่ควร อย่าพุ่งตามจนขาดสติ ก่อนโพสต์ ก่อนเขียน ก่อนบ่น ควรคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ
เข้าทำนองคนเราถ้าเปิดเผยมากไป ก็ อาจจะไม่เร้าใจ ที่สำคัญหลาย ๆ องค์กร แม้แต่ที่เอไอเอสเองก็ให้ความสำคัญกับการใช้ Social media อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเวลารับคนต้องมีการ Cross Check กระแสใน Social Media แน่ ๆ ดังนั้นต้องระวังให้มากก่อนโพสต์
ผมเลยขอส่งท้ายด้วยแท็กติกน่ารัก ที่มีน้องนักข่าวท่านหนึ่งเคยแชร์ว่า "หากทนไม่ไหว อยากโพสต์ระบายความรู้สึกไม่ดี หรือบ่นใครอย่างมาก ๆ ก็ให้เขียนลงไปบนมือถือ หรือ Smart Device ของคุณอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นใช้เวลาอ่านทบทวนหลาย ๆ รอบ เสร็จแล้ว ลบทิ้ง ! เบย" รับรองวิธีนี้จะไม่มีใครเห็นอาการ "โรคมืออ่อน" ของคุณแน่นอน
ลองดูนะครับ !