พุทธวินาศ..เมื่อมารศาสนาครองจีวร!?

ปรากฎการณ์ 'ผ้าเหลืองร้อน' กำลังถูกตีแผ่ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวของวงการสงฆ์เป็นข่าวครึกโครมได้ไม่เว้นแต่ละวัน ไล่เรี่ยตั้งแต่เรื่องฉาวคาวโลกีย์ของ 'เณรคำ' ที่กำลังเป็นวัวสันหลังหวะโดนไปหลายกระทง กรณีฉาว 2 เณรตุ้งติ้งจูบปาก หรือกรณีพระเมาอาละวาด มั่วสีกา เสพยา ฯลฯ เรียกว่า ตบเท้าออกมาบั่นทอนความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระสงฆ์ไทยอย่างเสียมิได้       

 

       พุ่งเป้าไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านพุทธศาสนา ก็ดูเหมือนกรณีฉาวของพระ,เณร ที่ปะทุความรุนแรงในสังคมนั้นเป็นปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข้อย่างจริงจัง ยังคงปล่อยปะละเลยเหลือบไรศาสนาเหล่านี้อาศัยชายผ้าเหลืองเพื่อประโยชน์ส่วนตน สร้างความด่างพร้อยไม่จบไม่สิ้น
       
       หากปล่อยให้กรณีฉาวของวงการสงฆ์เป็นข่าวลบออกมาโดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการจัดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม พุทธศาสนาจะเป็นเช่นไร พุทธศาสนานิกชนควรศรัทธาอยู่หรือไม่..
       
       การวางตนของบุรุษผ้าเหลือง
       ข่าวแง่ของพระที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกพุทธศาสนิกชนไม่น้อย พระเสมือนเป็นตัวแทนทางศาสนาผู้นำหลักธรรมคำสอนมาเผยแพร่ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ได้รับความเคารพนับถือจากคนทั่วไป รศ.ดร.ผจญ คำชูสังข์ หัวหน้าภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องฉาวเหล่านี้ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในวงการสงฆ์ แน่นอนว่าพระดีๆ ยังมีอยู่ไม่น้อยเพียงแต่ท่านเหล่านั้นไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังก็เท่านั้น
       
        “ศาสนามันไม่ได้เสื่อม มันอยู่ที่ตัวบุคคล คนไทยส่วนใหญ่ติดอยู่กับพระที่ดังๆ พอพระดังทำเสื่อมก็บอกศาสนาเสื่อม จริงๆ มันไม่ใช่” 
       
       ขอยกตัวอย่าง เณรคำ พระดังที่กำลังเป็นจำเลยสังคม หรือพระดังในอดีตผู้เปิดตำนานฉาว พระยันตระ รศ.ดร.ผจญ กล่าวถึงบริบทที่ทำให้การครองตนในผ้าเหลืองของผิดเพี้ยนไปจากหลักศาสนา ทั้งเรื่องผู้หญิง ทั้งเรื่องปัจจัย รวมถึงความประพฤติ เป็นปัญหาที่ถูกตีแผ่อย่างต่อเนื่อง ประการแรกคือเรื่อง ลาภสักการะ (การได้มาซึ่งวัตถุสิ่งของและความเคารพนับถือบูชาจากบุคคลอื่น)
       
        “ส่วนใหญ่เสียเพราะ ลาภสักการะ และผู้หญิง เพราะว่าในศาสนาอื่นพวกนักบวช ผู้นำศาสนาเค้ามีครอบครัวได้ แต่พุทธศาสนามันเป็นคอนเซ็ปต์ปรัชญาอินเดีย ต้องถือโสด ศาสนาต้องแยกกับการเมืองได้ แยกจากเพศได้ แยกพรหมจรรย์ออกไปได้”
       
       หรืออย่าง ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ แสดงถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของบรรดาพระเณรที่ถูกแชร์ผ่านโซเซียลมีเดีย ก็ล้วนเป็นปัญหาที่ตัวบุคคลไม่ใช่แก่นของศาสนา รศ.ดร.ผจญ อธิบายว่า พุทธศาสนิกชิกที่มีความมั่นคงต่อแก่นของพุทธศาสนาจะไม่เสื่อมศรัทธาเพราะกรณีอะไรเทือกนี้ แต่หากเป็นการมองของคนทั่วไปอาจเหมารวมว่าศาสนาเสื่อม แต่ในความเป็นจริงศาสนายังคงอยู่ที่เดิม
       
       ประเทศพัฒนาวัตถุนิยมก็เยอะตามไปด้วย แล้วคนที่บวชบางพวกก็ไม่ได้อยากลิ้มรสพระธรรมแต่อย่างใด รศ.ดร.ผจญ ตั้งข้อสังเกตว่าภาพข่าวฉาวของพระเณรที่ปรากฎให้เห็นอย่างโจ่งครึ้ม เป็นเพราะบุคคลที่เข้ามาอาศัยกาสาวพัสตร์จำนวนไม่น้อยทำตามครรลองของสังคมไทย บวชตามความเชื่ออย่างน้อย 1 พรรษา บุพการีจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นการบวชด้วยกิจบางอย่างตรงนี้เองทำให้มีเพศที่ 3 เข้ามา และปรากฎพฤติกรรมไม่เหมาะสมดังที่เป็นข่าว
       
       “ตามความเชื่อของคนไทยถูกสั่งสอนมา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ชายไทยต้องบวชอย่างน้อย 1 พรรษา บวชเรียนแล้วจะได้บุญ มันฝั่งรากในคนไทยแล้ว ที่นี่อยากให้ลูกตัวเองบวช เป็นตุ๊ดก็อยากให้บวช อีกอย่างวัตถุนิยมสิ่งเร้าก็เยอะ ถ้าพระอุปัชฌาย์ดูแลไม่ดีมันก็จะออกกันมาอย่างที่เราเห็น”
       
       รู้ว่าเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก 
       หากวิเคราะห์ทางด้านจิตวิทยา ข่าวลบของวงการสงฆ์ที่แพร่ต่อสาธารณะอย่างไม่ขาดสายส่งผลกระทบต่อความรู้สึกความศรัทธาของพุทธศาสนานิกชนชนิดที่ว่าเสียศูนย์เลยทีเดียว
       
        “เป็นพระปุ๊บเราก็ต้องคิดอีกแบบนึง คนก็ไปคาดหวัง พระก็เป็นมนุษย์คนนึง” นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา อธิบายข้อเท็จจริงในเชิงจิตวิทยา
       
       “มันเป็นเรื่องธรรมชาติของคนที่อาจมีความคาดหวัง เมืองไทยให้ความคาดหวังกับกลุ่มพระหรือว่าเณรพอสมควรเพราะเราถือว่าเราเป็นเซ็นเตอร์ ถ้าเป็นฝรั่งเค้าก็ไม่ได้คาดหวังอยู่แล้ว คือเนื่องจากคริสต์บาทหลวงก็แตะต้องตัวผู้หญิงได้ไม่มีกฎ เพราะฉะนั้นความคาดหวังก็จะน้อย มันเป็นเรื่องของวัฒนาธรรมและกฎของทางศาสนาของเราค่อนข้างเข้มงวด พอเข้มงวงคนก็ค่อนข้างคาดหวังต้องอยู่ในกรอบ ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น 100 เปอร์เซ็นหรอก เรื่องของพระครูบาอาจารย์หรือหมอเองคนก็ต้องมีความคาดหวังว่าจะมีกิริยามารยาท พฤติกรรม นิสัยใจคอที่โอเค อย่างเช่นมีกรณีหมอไปฆ่าคนตายก็เกิดความรู้สึกผิดหวัง ผิดคาด มองคนในแง่ลบ”
       
       แต่ใช่ว่าความรู้สึกนี้จะบั่นทอนจิตใจอยู่ไม่นาน “ซึ่งมันเป็นคล้ายๆ กับปฏิกิริยาเบื้องต้น แรกๆ อาจจะอยู่แค่ช่วงเวลา 2-3 เดือน เหมือนเราสูญเสียอะไรบางอย่างซัก 2-3 เดือน เราก็จะค่อยๆ ตัดใจยอมรับเรา ตอนนี้มันมีเรื่องของสื่อเวลาสื่อนำเสนอเรื่องของพระของเณรเยอะก็เลยทำให้คล้ายๆ กระตุ้นอารมณืความรู้สึกอยู่นานพอสมควรก็อาจจะมีผลได้แต่คิดว่าในที่สุดก็จะกลับมาสภาวะเดิม” คุณหมอ อธิบายเพิ่ม
       
       อย่างไรก็ตาม ความศรัทธาที่อาจเสื่อมถอยลงในช่วงหนึ่ง ไม่สำคัญเท่าทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจพุทธศาสนาที่แก่น ไม่ใช่หลงงมงายที่เปลือก ที่ตัวบุคคล ที่วัตถุ
       
       “ทำอย่างไรเราจะเจ็บแล้วจำ คนไม่ค่อยสนใจคือเรื่องราวในอดีตมันเกิดขึ้นมาแล้วนานๆ ที แต่ละรายก็โหดๆ ทั้งนั้นเลย สมัยพระยันตระ พระนิกร มันทำร้ายจิตใจความรู้สึกของคนเยอะมาก มีอวิชชา มีเรื่องเงินทอง แต่เราก็ไม่เคยจำ แม้กระทั่งตอนนี้ในบางลัทธิก็ยังดูดเงินไปอย่างสนุกสนานไม่ได้แคร์ว่าจะมีการตรวจสอบ 
       
       “การขายความศรัทธาแลกด้วยเงินมันคุ้มนะ การวางตน สร้างเรื่องสร้างราวให้คนนับถือเราซัก 10 ปี แล้วมีเงินซักพันล้านเนี่ย คุ้มนะ ตอนนี้ทุกคนก็อยากรวยทางลัดทั้งนั้น” คุณหมอ อธิบายกลายๆ ว่ารู้ว่าเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก
       
       ปัดผุ่นโครงสร้างองค์กรศาสนา
       ผู้ทรงคุณวุฒิทางพุทธศาสนาท่านเดิม เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาที่กำลังลุกลามในวงการผ้าเหลือง คือต้องแก้ที่โครงสร้างใหญ่ลงมา เริ่มตั้งแต่โครงสร้างการบริหารขององค์กรที่ดูแลทางด้านศาสนาโดยตรงอย่าง สำนักพุทธศาสนา ต้องคัดสรรค์คนที่มีความรู้ความสามารถเข้าใจหลักการของศาสนามาบริหารปกครอง มีวิสัยทัศน์ในการบริหารอย่างชัดเจน เพราะวิพากษ์กันตามความเป็นจริงหน่วยงานทางศาสนายังเฉยชาไม่เท่าทันกลุ่มเหลือบไรที่อาศัยชายผ้าเหลืองหากิน อีกอย่างหนึ่ง บทลงโทษของสงฆ์ พระธรรมวินัย ที่เห็นจัดการได้ชัดๆ คือ ปาราชิก ตรงนี้เองควรจะมีกฎหมายมารองรับจัดการพฤติกรรมไม่เหมาะสมของสงฆ์หรือเปล่า
       
       ที่สำคัญคือประชาชน ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติกิจทางศาสนา อย่างเช่น ความเชื่อเรื่องทำบุญทำทานทำเยอะได้บุญเยอะ เมื่อมีลาภสักการะเข้ามาเกี่ยวข้องกิเลสย่อมตามมา เพราะอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นพระก็คือมนุษย์คนนึงใช่ว่าจะตัดสิ่งเร้าเหล่านี้ได้ทุกคน
       
       “การทำทานมันไม่เกี่ยวกับให้เยอะให้น้อยหรอก มันอยู่ที่ว่าในหลักการพุทธศาสนาอันดับแรกให้แล้วมันเกิดประโยชน์ในสังคมปัจจุบันมั้ย แล้วต่อไปเป็นความเชื่อให้แล้วทำด้วยจิตเมตตามั้ย แล้วมันเกิดประโยชน์ในสังคมแล้วเกิดประโยชน์กับบุคคลมั้ย ผลที่ตามอนาคตคือมันก็จะได้บุญเยอะตรงนี้เป็นความเชื่อ
       
       “สังคมปัจจุบัน เช่น เราไปให้พระภิกษุที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม ให้ 10 ล้านก็ไม่ได้บุญตามหลักของพุทธศาสนา”
     
       
 ที่มา : ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live

Credit: http://news.hunsa.com/64828-%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E
29 ก.ค. 56 เวลา 08:51 5,408 2 100
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...