นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงการสำรวจเรื่อง "วิกฤติศรัทธาในพระพุทธศาสนา" ว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจพฤติกรรมของชาวอีสานเกี่ยวกับการเข้าวัดทำบุญในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา และความคิดเห็นต่อข่าวเชิงลบในวงการพระสงฆ์ โดยเป็นการสำรวจระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพุทธศาสนิกชน อายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,124 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เมื่อสอบถามพุทธศาสนิกชนชาวอีสานว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับข่าวในแง่ลบที่เกิดกับวงการพระสงฆ์ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ข่าวพระสงฆ์สะสมทรัพย์สมบัติหรูหราไว้เป็นจำนวนมาก พระสงฆ์เสพย์เมถุนกับสีกา และพระสงฆ์ดื่มสุรายาเสพย์ติด ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 44.2 เห็นว่าข่าวดังกล่าวมีผลทำให้ความศรัทธาที่มีต่อพระสงฆ์โดยรวมลดลงบ้าง รองลงมาร้อยละ 41.5 เห็นว่าข่าวดังกล่าวมีผลทำให้ความศรัทธาที่มีต่อพระสงฆ์โดยรวมลดลงมาก โดยมีเพียงร้อยละ 14.3 ที่ยังคงศรัทธาต่อพระสงฆ์โดยรวมท่าเดิม
ส่วนกับกรณีนายวิรพล สุขผล หรืออดีตพระเณรคำ ที่มีข่าวฉาวจนถูกออกหมายจับในคดีฉ้อโกงประชาชน และกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.2 ทราบข่าวฉาวดังกล่าว มีเพียงร้อยละ 4.8 ที่ไม่ทราบข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว นอกจากนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 83.7 เชื่อว่าอดีตพระเณรคำกระทำการเข้าข่ายอาบัติปาราชิกและหมดสภาพความเป็นพระ รองลงมาร้อยละ 13.9 ไม่แน่ใจ โดยมีเพียงร้อยละ 2.4 ที่เชื่อว่าอดีตพระเณรคำไม่ได้เข้าข่ายปาราชิกและหมดสภาพความเป็นพระ
นายสุทิน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อีสานโพลยังได้สอบถามพุทธศาสนิกชนชาวอีสานว่า มีข้อเสนออย่างไรต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะป้องกัน/ปราบปราม การปฏิบัติไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ รวมทั้งเป็นการจัดระเบียบพระสงฆ์และพระพุทธศาสนา โดยส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งพุทธศาสนิกชน ร่วมกันตรวจสอบวัดและพระสงฆ์ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการตรวจสอบหรือดูแลอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับการบริจาค และรายได้ของวัด เป็นต้น อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีข่าวในทางแง่ลบออกมา แต่พุทธศาสนิกชนชาวอีสานยังคงวางแผนจะไปประกอบศาสนพิธีหรือไปทำบุญตามศาสนวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาร้อยละ 73.6 ส่วนร้อยละ 16.8 ไม่ได้วางแผน/ไม่แน่ใจ โดยมีเพียงร้อยละ 9.6 ที่คาดว่าจะไม่ไป รวมไปถึงร้อยละ 27.0 ของกลุ่มตัวอย่าง รู้สึกศรัทธาต่อพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคุณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ นอกจากนี้ยังมีพระที่มีชื่อเสียงรูปอื่นๆ ร้อยกว่ารูปที่ถูกเอ่ยถึง กระจายไปตามอำเภอต่างๆ ในภาคอีสาน แต่ก็มีกว่า ร้อยละ 32.8 ที่ไม่มีพระสงฆ์ที่ตนศรัทธาเป็นพิเศษ
"จากผลสำรวจจะเห็นว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นพุทธศาสนิกชนชาวอีสานให้ความสำคัญกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยวางแผนจะไปประกอบศาสนพิธีและทำบุญที่วัดในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา สำหรับข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับวงการพระสงฆ์ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนมีความศรัทธาต่อพระสงฆ์ลดลง ส่วนกรณีอดีตพระเณรคำ พบว่าส่วนใหญ่เชื่อว่าการกระทำของเณรคำเข้าข่ายอาบัติปาราชิกและหมดสภาพความเป็นพระ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า วงการพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาอาจต้องมีการเข้ามาตรวจสอบและดูแลอย่างจริงจังมากขึ้นโดยทุกภาคส่วน และพุทธศาสนิกชนที่ดีควรยึดถือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ไม่เชื่อต่อสิ่งที่งมงายเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแสวงหาประโยชน์จากความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ จนทำให้วงการศาสนามัวหมอง"นายสุทิน กล่าวตอนท้าย.
ที่มา : โพสต์ทูเดย์