ผลสำรวจล่าสุดพบว่านโยบายแจกถ่านหินสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในบ้านเรือน ทำให้ชาวจีนจำนวนมากมีอายุขัยสั้นลงถึงกว่า 5 ปี จนทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามีนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ล้มเหลว
ปัญหามลภาวะทางอากาศในจีน ที่เพิ่งจะจางหายไปพร้อมกับหมอกควันและฝุ่นละอองในกรุงปักกิ่งที่เริ่มเบาบางลงตามฤดูกาล กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อทีมงานวิจัยซึ่งประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์จากจีน สหรัฐฯ และอิสราเอล สำรวจพบข้อมูลที่น่าตกใจว่าชาวจีนในภาคเหนือของประเทศมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลงถึง 5.5 ปี อันเนื่องมาจากมลภาวะเป็นพิษในอากาศ
แต่ข้อมูลที่ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนมากยิ่งขึ้นก็คือ มีการสรุปว่ามลภาวะทางอากาศที่ว่านี้ไม่ได้มาจากควันไอเสียรถยนต์หรือโรงงานอุตสาหกรรม แต่เป็นผลพวงมาจากนโยบายของรัฐบาลจีนในช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่มีการแจกถ่านหินฟรีให้กับประชาชน เพื่อให้ใช้เป็นเชื้อเพลิงสร้างความอบอุ่นต้านภัยหนาว
ทีมนักวิจัยเริ่มต้นโครงการโดยการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างปัญหามลภาวะกับอัตราการเสียชีวิตของชาวจีนใน 90 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ในช่วงปี 2524-2543 แล้วพบความจริงที่น่าตกใจว่าชาวจีนกว่า 500 ล้านคนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำไขว่เขอ บริเวณมณฑลอันฮุยและมณฑลเจียงซู มีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าประชาชนในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศถึง 5.5 ปี อันเนื่องมาจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นบริเวณที่เคยมีการประกาศใช้นโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในเขตทุรกันดารยากจน โดยรัฐบาลสนับสนุนถ่านหินฟรีให้ประชาชนใช้เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มความอบอุ่นภายในบ้าน
แน่นอนว่าสาเหตุของอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลงดังกล่าว มาจากปัญหามลภาวะทางอากาศซึ่งสืบเนื่องมาจากการใช้ถ่านหินในครัวเรือนกันอย่างแพร่หลาย โดยทีมวิจัยพบว่ามลภาวะทางอากาศทางตอนเหนือของแม่น้ำไขว่เขอมีปริมาณมากกว่าทางตอนใต้ถึงร้อยละ 55 ทำให้ประชาชนจำนวนมากเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคปอดเรื้อรังและโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ
ข้อเท็จจริงที่เพิ่งถูกเปิดเผยนี้ ทำให้รัฐบาลจีนถูกโจมตีอย่างหนัก ว่าล้มเหลวในการออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ โดยประชาชนบางส่วนถึงกับมองว่ารัฐบาลออกนโยบายที่ฆ่าประชาชนทางอ้อม จากการไม่ใส่ใจศึกษาผลกระทบจากนโยบายที่จะนำออกมาใช้กับประชาชนให้ถี่ถ้วน
นอกจากนี้ ความผิดพลาดดังกล่าวยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีน รวมถึงรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่อีกหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือบราซิลกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ นั่นก็คือการพยายามสร้างความสมดุลระหว่างการเร่งรัดพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในความเป็นจริง การพัฒนาสองสิ่งนี้ไปพร้อมๆกันแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประเทศโลกที่สาม ซึ่งชีวิตประชาชนยังคงมีราคาถูกกว่าต้นทุนในการพัฒนาด้านอื่นๆ