สงกรานต์ที่ผ่านมา เห็นมีหลายคนไปเที่ยวญี่ปุ่นกันนะคะ บางคนโชคดีได้เห็นซากุระ เก็บภาพมาฝากกันก็มี น่ารักจริงๆค่ะ :-) หลายคนบอกอยากกลับไปเที่ยวอีก หลายคนแอบเมสเสจมาบอกว่า หนูอยากลองใช้ชีวิตที่โน่นดู ชีวิตที่ญี่ปุ่นเป็นยังไงคะ ในฐานะผู้ที่ผ่านการใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นมาเกือบ 10 ปี กว่าจะเรียนรู้การใช้ชีวิต ต้องผ่านหยาดเหงื่อและรอยน้ำตามามาก กระซิกๆ
ในฐานะรุ่นพี่ในการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ก็มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ (ที่ไร้สาระมากๆ) มาเตือนท่านผู้อ่านกันค่ะ เวลาไปอยู่ญี่ปุ่น เราต้องระวังอะไรบ้างนะ?
อย่า (เสล่อ) โบกรถเมล์
เพราะคุณจะดูเหมือนกะเหรี่ยงที่พยายามโบกให้รถไฟฟ้า BTS จอด...
รถเมล์ญี่ปุ่นน่ารักเรียบร้อยเหมือนคนญี่ปุ่นเลย ตรงเวลามาก ที่ป้ายรถเมล์จะมีตารางเวลาบอกว่า รถเมล์คันไหนจะมากี่โมง กี่นาที คนขับจะจอดทุกป้าย ป้ายไหนไม่มีคนยืนรอก็ยังจอด (เพื่อรักษาเวลา จะได้ไม่ไปถึงป้ายหน้าก่อนเวลาที่กำหนด) กะเหรี่ยงไทย (อย่างเดี๊ยน) เวลาอยู่ญี่ปุ่นใหม่ๆ ชอบโบกรถเมล์ กลัวเหลือเกินว่าคนขับจะไม่จอด จะแซงป้าย อยู่ไปนานๆ ถึงค่อยรู้ว่า แค่ ยืนเฉยๆ หรือ สบตาคนขับ นิดหน่อยก็พอแล้ว
อิฮั้นอยู่ญี่ปุ่นมาเกือบสิบปี ยังไม่เคยเห็นรถเมล์ขับแข่งกัน ขับเลยป้าย ขับซิ่ง ขับลากคนไปนอนใต้ท้องรถเลย ท่านผู้อ่านหลายคนคงอิจฉา อยากให้ขสมก. บ้านเราเอาอย่างขสมญ. บ้าง (ขนส่งมวลชนแห่งญี่ปุ่น—คิดเองนะ)
อย่าคุยกันในห้องน้ำ (Credit คุณ Pukku)
เพราะคนญี่ปุ่นจะตกใจ...
คนไทยโดยเฉพาะสาวๆ มักจะรักการพูดคุยจำนรรจา สาวไทยเม้าท์มอยกันได้แม้กระทั่งอยู่ในห้องน้ำ ต่างคนต่างปฏิบัติภารกิจคนละห้อง แต่เราก็ยังคุยไปปลดปล่อยพลังไปได้ ถ้ากำแพงห้องน้ำสูงหน่อยก็ตะโกนคุยกัน พฤติกรรมที่ว่ามานี้ อย่าไปทำที่ญี่ปุ่นเชียว สาวญี่ปุ่นเขาได้ยินแล้วเขาจะตกใจค่ะ เพราะ 1. มันเป็นภาษาต่างประเทศ เดินเข้ามาในห้องน้ำปุ๊บ จู่ๆ ได้ยินเสียงโหวกเหวกเป็นภาษาต่างชาติ เดี๋ยวเค้านึกว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติอะไร 2. เพราะคนญี่ปุ่นเขาไม่คุยกัน นัยว่า...มันไม่ง้ามไม่งามค่ะ ห้องน้ำที่ญี่ปุ่นจะเงียบมาก ถือเป็นสถานที่ส่วนตัว ต่างคนต่างล้างมือ แต่งหน้า ทาปาก ก็ทำกันไปเงียบๆ ไม่ยุ่งกับใคร ไม่คุยกับใคร จะวิพากษ์วิจารณ์เสื้อผ้าหน้าผมก็ค่อยออกไปคุยกันข้างนอก
อย่าทิ้งของกินที่หมดอายุแล้วทันที
เพราะมันยังกินต่อได้อีกหลายวัน...
ที่ญี่ปุ่น จะมีคำว่า ???? (โช-ฮิ-คิ-เก็ง) กับ ???? (โช-มิ-คิ-เก็ง) ตัวแรกแปลว่า “วันหมดอายุ” ตัวที่สองแปลว่า “วันหมดอายุที่อาหารอร่อย” (แปลอุบาทว์อีกแล้ว) วันหมดอายุคือ วันที่ของนั้นจะเสีย กินไม่ได้แล้ว ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เซ้นสิทีฟกับสุขภาพและสาธารณสุขของประชาชน มาก วันหมดอายุมักกำหนดล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุจริงประมาณ 2 – 3 วัน เพราะฉะนั้น เต้าหู้เอย นมสดเอย แม้จะหมดอายุแล้ว แต่คุณก็ยังสามารถทานได้ต่ออีกประมาณ 3 – 4 วันอย่างสบายๆ
ส่วน “โช-มิ-คิ-เก็ง” คือ วันสุดท้ายที่อาหารนั้นจะคงสภาพความสดและอร่อยอยู่ เช่น ถ้าห่อขนมติดว่า โช-มิ-คิ-เก็ง คือวันที่ 1 พฤษภาคม แปลว่า ขนมนั้นจะรสชาติดีจนถึงวันที่ 1 พ.ค. ถ้าเลยจากนั้น คุณยังทานได้ แต่เตือนก่อนว่าจะไม่อร่อยเท่าเดิมแล้วนะ (น่ารักเนอะ) เพราะฉะนั้น สินค้าแบบนี้ แม้จะเลยวันหมดอายุอร่อยแล้ว แต่เรายังกินต่อได้อีกเป็นอาทิตย์ค่ะ
หมายเหตุ: หากมีเหตุผิดพลาดประการใด ผู้เขียนบทความนี้ไม่ขอรับผิดชอบสุขภาพผู้อ่านใดๆ ทั้งสิ้น ;-)
อย่าซื้อไข่สีเนื้อ
เพราะมันแพง...
ทราบไหมคะ ที่ญี่ปุ่น ไข่ไก่จะมีสองสี คือสีขาวกับสีเนื้อ ไก่ที่มีขนสีขาวจะไข่เป็นสีขาว ไก่ที่มีขนสีน้ำตาลจะไข่เป็นสีน้ำตาล ไม่ทราบทำไม แต่ราคาของไข่สีน้ำตาลจะแพงกว่าไข่สีขาว (ประมาณ 20%)
ตอนแรกที่เกตุวดีไปอยู่ญี่ปุ่น ก็ซื้อแต่ไข่สีเนื้อนี่แหละค่ะ เพราะนึกว่าไข่สีขาวมันคือไข่เป็ด จนรุ่นพี่มาบอกว่า เฮ้ย ทำไมไม่ซื้อไข่สีขาว ไข่ไก่เหมือนกัน ถูกกว่ากันด้วย
อย่าขึ้นรถไฟ JR (ถ้าเลือกได้)
เพราะมันแพงกว่า...
รถไฟ JR ย่อมาจาก Japanese Railways เป็นรถไฟที่เชื่อมทุกจังหวัดในญี่ปุ่น ไม่ว่าคุณจะไปเที่ยวที่ใดก็ตาม คุณจะเห็นตรา JR แปะอยู่บนรถไฟทุกที่
ถ้าคุณต้องเดินทางเป็นระยะทางไกล (ดูง่ายๆ คือ นั่งรถไฟเกิน 30 นาที) และถ้ามีรถไฟท้องถิ่นสายอื่นวิ่งด้วย อย่านั่ง JR เพราะราคามักจะแพงกว่า เช่น ดิฉันเคยอยู่เมืองโกเบ ถ้านั่งรถไฟจากเมืองโกเบไปโอซาก้า ค่ารถไฟสาย Hanshin (ท้องถิ่น) ราคา 280 เยน ถ้านั่งสาย Hankyu (ท้องถิ่นอีกสาย) ราคา 310 เยน แต่ถ้านั่ง JR ราคามันพุ่งไปที่เกือบๆ 400 เยน (แม้มันจะเร็วกว่าเล็กน้อยก็ตาม) กะเหรี่ยงอย่างเรา เบี้ยน้อยหอยน้อย ต้องใช้สอยอย่างประหยัดกันค่ะ
อย่ารีบรับทิชชู่ที่เขาแจกฟรี
เพราะอาจมี โฆษณา XX แฝงได้...
เมืองไทยแจกใบปลิว ญี่ปุ่นแจกทิชชู่ ด้านหลังมักจะเป็นโฆษณาห้างร้านบริการต่างๆ คนแจกมักยืนแจกตามสี่แยกหรือสถานีรถไฟใหญ่ๆ ที่คนพลุกพล่าน ชาวกะเหรี่ยงไทยจะลิงโลดมากที่ได้ทิชชู่ห่อดีๆ ใช้ฟรีๆ หลายคนเดินไปกลับหลายรอบเพื่อรับทิชชู่
แต่... อย่าให้ความโลภบังตาค่ะ ระวังให้ดี ถ้าคนแจกเป็นผู้ชายดูเฟี้ยวๆ เฮ้วๆ ผมตั้งๆ เจาะหู เจาะจมูก ตัวผอมๆ ระวังทิชชู่ที่เขาแจกให้ดี โฆษณาที่เขาแจกอาจเป็นโฆษณาที่ชวนคุณไปทำงานลึกลับ ไปทำงานเอ๊กซ์ๆ เป็นรูปประหลาดๆ ก็มีค่ะ คุณอ่านไม่ออกน่ะ ไม่เป็นไร แต่เวลาคุณดึงมาใช้ คนญี่ปุ่นเขาเห็นแล้วเขาจะตกใจเอาค่ะ
อย่าดีใจถ้ามีหนุ่มหล่อมาทัก
เพราะเขาอาจเป็น Host…
Host ในที่นี้ ไม่ใช่ Host Family แต่หมายถึง Host ที่แปลว่า ผู้ชายชวนนั่งกินนั่งดริ๊งก์ คอยคุยและดื่มเป็นเพื่อนหญิงสาวเพื่อให้หล่อนคลายเครียดหรือรู้สึกสนุก
โฮสท์เป็นสัตว์...เอ้ย มนุษย์กลางคืน มักปรากฏตัวตามสถานีหลัง 3 – 4 ทุ่มเป็นต้นไป ลักษณะโฮสท์จะสังเกตได้ง่ายมาก คือ ไว้ผมยาวๆ ปลายเป็ดนิดๆ ทำผมฟูๆ ให้หัวดูทุยๆ เล็กน้อย กันคิ้ว ใส่สูทหรือโค้ทยาวๆ หน้าตาไม่ได้ดีมากแต่ดู Self จัดๆ นั่นแหละค่ะโฮสท์ ดูง่ายกว่าดูยากูซ่าเสียอีก
ถ้าเขาเหล่านั้นเข้ามาทักคุณหรือชมว่าคุณน่ารัก อย่ามัวแต่ปลื้มนะคะ เพราะถ้าคุณเคลิบเคลิ้มตามอีโฮสท์ไปดริ๊งก์ต่อที่ร้าน ค็อกเทลแก้วเดียวอาจราคาเป็นพันบาท แถมคุณยังต้องเลี้ยงมันอีกด้วย
อย่าเปิดประตูรับ NHK
เพราะคุณต้องเสียตังค์...
NHK เป็นสถานีโทรทัศน์ชื่อดังในญี่ปุ่น ผลิตรายการเพื่อการศึกษา สารคดี หนังละครดีๆ เยอะแยะมากมาย รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเจ้าของและควบคุม แต่ดันเรียกร้องจะเก็บค่ารับสัญญาณเดือนละ 2 พันกว่าเยน คนญี่ปุ่นแอนตี้มาก เพราะถือว่ารัฐบาลจัดการ เราก็จ่ายภาษีให้แล้ว ทำไมยังต้องเรี่ยไรเงินเพิ่มอีก
NHK ไม่ยอมแพ้ค่ะ ส่งพนักงานเดินเคาะประตูตามบ้าน บ้านใครจ่ายตังค์แล้วก็จะติดสติ๊กเกอร์ให้ แต่ถ้ายังไม่จ่าย... ก็ไม่ผิดกฎหมายอะไร (อ้าว...) ขนาดคนญี่ปุ่นยังไม่ยอมจ่ายเลย นักเรียนต่างชาติหรือกะเหรี่ยงบ่จี๊อย่างเรา ก็มักชิ่งการจ่าย NHK ทุกครั้งค่ะ
เมื่อได้ยินเสียงกดออด ส่องดูทุกครั้งนะคะว่ามีคนใส่สูทหรือชุดดูฟอร์ม่อลๆ หรือติดบัตร NHK หรือเปล่า ถ้าใช่ อย่าเปิดประตูไปเชียว เดี๋ยวเขาจะตื๊อให้คุณจ่ายโดยไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น
ถ้าคุณบังเอิ๊ญบังเอิญเปิดประตูด้วยความประมาท แล้วต้องประมือกับพนักงาน NHK เข้า คุณอาจใช้กลยุทธ์ต่อไปนี้ค่ะ
1. บอกว่าหนูเพิ่งย้ายมาใหม่ ในห้องไม่มีทีวี เพราะฉะนั้น เราดู NHK ไม่ได้
2. ทำเป็นฟังภาษาญี่ปุ่นไม่รู้เรื่อง พูดภาษาไทยหรืออังกฤษหรืออะไรก็ได้ใส่ แล้วรีบปิดประตูทันที
มีพี่คนไทยคนหนึ่งเด็ดมาก จริงๆ เธอเป็นนักเรียน แต่พอเจอพนักงาน NHK เธอบอกว่า “โอ๊ตโตะ ไคฉะๆ นิฮงโก๊ะ วาคาราไน่” แปลว่า “สามี บริษัทๆ เดี๊ยนไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น” แล้วทำท่าตกใจลนลาน พนักงาน NHK ได้แต่ถอดใจล่าทัพกลับไป และเย็นวันนั้น เราชาวไทยก็ได้เฉลิมฉลอง สรรเสริญวีรกรรม และความสามารถในการเอาตัวรอดของพี่เขากัน ;-)
ถามว่าการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ต้องระวังอะไรบ้าง เกตุวดีก็ตอบได้ว่า
1. ระวังและรักษาเวลานัด
2. รักษากฎระเบียบในสังคมอย่างเคร่งครัด เช่น แยกและทิ้งขยะให้เรียบร้อย
3. ใช้ภาษาสุภาพเวลาพูดคุยกับผู้ใหญ่
4. รู้จักเกรงใจ นอบน้อมถ่อมตน
บลา บลา บลา...
ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมด... คุณผู้อ่านสามารถหาอ่านจากคอลัมน์อื่นใน marumura หรือเว็บอื่นก็ได้ แต่วันนี้ เกตุวดีเลือกเรื่องที่คิดว่าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่ยังไม่น่าจะรู้ มาเล่าสู่กันฟัง ทุกหัวข้อเป็นประสบการณ์ “จริง” ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง บางเรื่อง กว่าจะรู้ กว่าจะตาสว่าง ก็เสียเงิน เสียเวลา เสียหน้าไปเยอะ แม้ว่าข้อเตือนใจที่เล่ามาจะไร้สาระไปบ้าง แต่เชื่อว่าเป็นเรื่องที่อาจประสบและเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านที่กำลัง เตรียมตัวไปอยู่ญี่ปุ่นอย่างแน่นอนค่ะ
เรื่องโดย : เกตุวดี www.marumura.com
ภาพประกอบโดย : Choco