การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ยังมีผลการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า น้ำนมแม่ ยังสามารถช่วยสร้างโอกาสที่ดีทางสังคมให้ลูกเมื่อเติบโตขึ้นได้ด้วย
โดยพบว่า ผู้ที่ได้ดูดน้ำนมจากอกแม่ตอนเป็นทารก มีโอกาสที่จะไต่บันไดสังคม หรือมีโอกาสไต่เต้าทางสังคมสูงกว่า คนที่ไม่ได้ดื่มน้ำนมแม่ถึง 24% นอกจากนั้น ยังสามารถลดโอกาสที่จะตกต่ำทางสังคมได้ถึง 20% ด้วย
"จากการศึกษาของเราได้พบหลักฐานที่ชี้ถึงคุณประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ว่า อาจให้คุณประโยชน์ทางสังคมในระยะยาวแก่เด็ก" ข้อความตอนหนึ่งที่ระบุในรายงาน ที่ได้จากการการสำรวจข้อมูลในกลุ่มตัวอย่าง 17,419 ที่เกิดในประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.2501 และอีกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 16,771 คนที่เกิดในปี พ.ศ.2513 โดยเก็บข้อมูลว่า พวกเขาเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดูด้วยน้ำนมแม่ตอนเป็นทารกหรือไม่ จากนั้น ก็มีการ ติดตามชีวิต และนำมาเปรียบเทียบระดับชั้นทางสังคมของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม ตอนอายุ 10 หรือ 11 ขวบครั้งหนึ่ง แล้วอีกครั้งตอนอายุระหว่าง 33 หรือ 34 ปี
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Disease in Childhood เล่าถึงการแบ่งระดับชั้นทางสังคมว่า แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ไล่จากระดับล่างสุดได้แก่ แรงงานไม่มีความชำนาญ หรือไม่มีฝีมือ, ไล่ขึ้นมาเป็นแรงงานที่พอจะมีความชำนาญบ้าง แล้วก็ขยับขึ้นมาเป็นแรงงานมืออาชีพ หรือระดับบริหาร จัดการ
ซึ่งผลการศึกษาจาการติดตามเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ทุก 2-3 ปี แล้วนำมาวัดถึง ระดับพัฒนาการต่างๆ อาทิ การพัฒนาของสมอง และระดับความเครียดทางอารมณ์ ปรากฏว่า การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมอง ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างระดับสติปัญญา อันมีผลต่อการไต่ระดับทางสังคม นอกจากนั้น ยังพบว่า เด็กที่ได้ดื่มน้ำนมแม่ ยังมีสัญญาณความเครียดน้อยกว่า เด็กที่ไม่ได้ดื่มน้ำนมแม่ด้วย
ทั้งนี้ สองนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ บอกว่า น้ำนมแม่ประกอบด้วย LCPUFA หรือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดสายโซ่ยาว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาของสมอง
แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาก่อนหน้านี้หลายชิ้น ก็ระบุว่า ลำพัง LCPUFA เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถช่วย การพัฒนาของสติปัญญาได้
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ประเด็นที่ทีมศึกษาบอกว่า ถึงแม้ตอนนี้ ยังไม่สามารถระบุชัดลงไปว่า อะไรที่มีบทบาทสำคัญมากกว่ากันต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งมีทั้งสารอาหารที่พบในน้ำนมแม่หรือการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อ และ สายใยความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นระหว่างแม่ให้ลูกดูดนมจากอก หรือบางทีอาจจะทั้งสองอย่างรวมกัน ซึ่งทีมศึกษา เห็นว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องการมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อที่ว่า ต่อไปข้อมูลเหล่านี้จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผงเด็กว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ เพื่อช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีในระยะยาวได้หรือไม่ โดยการเลียนแบบ อาทิ ให้แม่และลูกมีโอกาสได้สัมผัสเนื้อตัวกัน เหมือนเวลาที่แม่ให้ลูกดูดนมจากอก เป็นต้น