ไม้กระดานสองแผ่นที่ผู้เข้าสอบสามารถเปลี่ยนเป็นที่วางเขียนหรือใช้ปูนอน
จากเรื่องสนามสอบแข่งขันเฟ้นหาผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการเป็นขุนนางจีนในอดีตที่มีขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัย?ราชวงศ์สุย(ค.ศ.581 - 618) มาพูดต่อในเรื่องของข้อสอบกันบ้าง ซึ่งข้อสอบในสมัยก่อนก็เป็นการสอบแบบทดสอบความจำ ที่ห้ามนำตำราใดๆ ติดตัวเข้าสอบ โดยจะมีทหารคอยจับตาอย่างเข้มงวดตลอดการสอบ ซึ่งการสอบระดับท้องถิ่นในอดีตต้องสอบด้วยกันสามวิชา หนึ่งวิชากินเวลาร่วมสามวันสามคืน รวมแล้วใช้เวลาสอบกัน 9 วัน 7 คืนได้ ดังนั้นผู้เข้าสอบจะอาศัยห้องสอบเป็นที่หลับนอนด้วย
โดยในยุคแรกนั้นวิชาที่ทดสอบยังไม่มีความหลากหลายนัก เป็นเพียงข้อทดสอบเกี่ยวกับหลักการและนโยบายด้านการเมืองการปกครองของประเทศ พอถึงสมัย ราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618 - 907) ลักษณะของข้อสอบจึงค่อยมีความหลากหลายรอบด้านมากขึ้นและคล้ายกับในปัจจุบัน คือ นอกจากทดสอบความรู้ในเนื้อหา "อู่จิง" หรือคัมภีร์ทั้งห้าแห่งหลักปรัชญาลัทธิขงจื๊อเป็นสำคัญแล้ว ยังมีคำถามทดสอบความรู้ความสามารถในเรื่องของพระราชกฤษฎีกา การอธิบายความหมายของคำที่กำหนด ความเข้าใจในเรื่องของตัวเลขการคำนวณ เป็นต้น และยังมีลักษณะของคำถามแบบให้เติมคำในช่องว่าง โดยดึงเนื้อหาจากคัมภีร์ทั้งห้าออกมาตั้งเป็นคำถามที่มีการปิดทับข้อความบางส่วนไว้ เพื่อทดสอบความแม่นยำในเนื้อหาของคัมภีร์ของผู้เข้าสอบนั่นเอง
ตำราคัดลอกขนาดจิ๋วเพื่อแอบพกติดตัวเข้าห้องสอบ
โดยในสมัยราชวงศ์ซ่งได้ใช้วิธีการ "พรางตัวตน" และ "คัดลอกใหม่" คือ ปิดทับไม่ให้รู้ถึงข้อมูลส่วนตัว อาทิ ชื่อแซ่ ภูมิลำเนาของผู้เข้าสอบที่เขียนระบุไว้บนกระดาษคำตอบ เปลี่ยนเป็นใส่หมายเลขกำกับไว้แทน และจัดให้มีผู้ทำการคัดลอกคำตอบทั้งหมดใหม่ เพื่อป้องกันผู้ตรวจข้อสอบที่อาจเห็นชื่อแซ่แล้วรู้จักคุ้นเคยหรือมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และแม้จะปิดบังชื่อแซ่แล้วแต่ก็อาจจำลายมือผู้เข้าสอบได้ ทำให้เกิดมีใจเอนเอียงในระหว่างการตรวจอ่านเพื่อให้คะแนนสอบนั่นเอง ซึ่งต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน หมิงและชิง ก็ได้ยึดถือวิธีการทั้งสองอย่างนี้มาใช้ตามเป็นแนวทางในการตรวจให้คะแนน
แต่ไม่ว่าจะเข้มงวดอย่างไรก็ยังคงมีผู้ที่ไม่นึกหวั่นเกรงเหมือนต้องการจะลองของ สรรหาวิธีโกงการสอบสารพัดรูปแบบมีมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยกลโกงในอดีตก็มีทั้งแบบพึ่งตนเองที่แอบจดโพยใส่กระดาษยัดไว้ใต้รองเท้าหรือเขียนบนเสื้อผ้าสวมติดตัวเข้าห้องสอบ หรือพึ่งคนอื่นโดยการให้ผู้อื่นไปสอบแทน รวมถึงพึ่งสัตว์เลี้ยงอย่างนกพิราบ
มีเรื่องเล่าเป็นตัวอย่างขำๆ ว่า มีผู้สอบรายหนึ่งได้เลี้ยงและฝึกให้นกพิราบบินไปหาตนในห้องสอบตอนกลางคืน ซึ่งผู้สอบก็จะแอบจดคำถามใส่กระดาษเล็กๆ ผูกติดไว้ที่ขานกเพื่อให้บินนำกลับไปให้ทางบ้าน ซึ่งทางบ้านก็ได้จ้างผู้รู้มาเขียนคำตอบและให้นกนำส่งกลับมาให้อีกที แต่ด้วยความที่ทางบ้านเกรงว่าผู้สอบจะลอกไม่ครบ จึงเขียนเตือนไว้เล็กๆ ที่ตอนท้ายของหน้าแรกว่า "มีต่อด้านหลัง" คาดไม่ถึงว่าผู้สอบจะลอกข้อความนี้ไปด้วย ผลคือถูกจับได้ในท้ายที่สุด