วิวาห์บาบ๋า ความรักข้ามขอบฟ้าอันดามัน

เดือนแห่งสายฝนโปรยปราย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชวน "นายรอบรู้" ลงใต้ไปเยือนภูเก็ตอีกครั้ง คราวนี้เราไม่ได้ไปดื่มด่ำความงามของหาดทรายและเกลียวคลื่นเหมือนเคย แต่มุ่งตรงสู่ตัวเมืองภูเก็ต เพื่อไปสัมผัสบรรยากาศแห่งความหวานชื่นในงาน "วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต" พิธีมงคลสมรสซึ่งมีเฉพาะในดินแดนแถบทะเลอันดามันเท่านั้น

งานวิวาห์นับเป็นพิธีการสำคัญในชีวิตคนเรา ไม่เพียงเป็นการประกาศความรักของชายหนุ่มหญิงสาวที่พร้อมร่วมเรียงเคียงหมอนไปจนแก่เฒ่า แต่ยังเป็นการรวมเครือญาติทั้งสองฝ่ายให้มาพบหน้าทำความรู้จักกัน สำหรับงานแต่งงานบาบ๋าพิเศษไปกว่านั้น ตรงที่เป็นภาพสะท้อนความรักความผูกพัน ของบรรพบุรุษสองเชื้อชาติที่มาพบกันครึ่งทาง ฝ่ายชายคือชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาทำเหมืองแร่ ฝ่ายหญิงคือคนท้องถิ่นบนแผ่นดินภูเก็ต ทั้งคู่ได้ให้กำเนิดลูกครึ่งจีน-คนท้องถิ่น ที่เรียกว่า "บาบ๋า" คนกลุ่มสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เมืองภูเก็ตเจริญรุดหน้ามาถึงทุกวันนี้

เด็กๆ ที่มากั้นประตูเงินประตูทอง แต่งชุดแบบเจ้าบ่าวเจ้าสาว

พิธีแต่งงานของบาบ๋าไม่ใช่งานแบบจีนหรือท้องถิ่นเสียทีเดียว หากเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของคนทั้งคู่จนเกิดวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา ภายใต้ชุดแต่งงานเจ้าสาวที่สุดแสนอลังการ และพิธีการยกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ดื่มอันขรึมขลัง ต่างแฝงความหมายอันลึกซึ้งของการครองชีวิตคู่และความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ งานทั้งงานยังกรุ่นไปด้วยบรรยากาศของความรัก ความสุข มีรอยยิ้มปรากฏทั้งบนใบหน้าของเจ้าบ่าวเจ้าสาว และแขกหรื่อผู้มาเป็นสักขีพยาน

เจ้าบ่าวพาตัวเจ้าสาวออกมาทำพิธีไหว้ฟ้าดินที่หน้าบ้าน

วันนั้นถนนสายเก่าในเมืองภูเก็ตจะประดับประดาด้วยมาลัยดอกโบตั๋นสีชมพู หลังพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวจะจูงมือเจ้าสาวเดินออกจากบ้านไปตามถนน เพื่อพาไปรู้จักกับบ้านของเจ้าบ่าว ระหว่างทางจะมีฝูงชนเข้ามาร่วมโปรยดอกไม้แสดงความยินดี ท่ามกลางเสียงดนตรีบรรเลงเพลงจีนจากวง "ตีต่อตีเช้ง" หรือวงปี่และฆ้องจีนโบราณ ดังก้องกังวานไปตลอดทาง นับเป็นภาพสุดแสนประทับใจ

เจ้าบ่าวเจ้าสาวทุกคู่มาร่วมถ่ายภาพที่ระลึกที่พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว

ปัจจุบันงานวิวาห์แบบดั้งเดิมเหลือให้ชมน้อยลงทุกที สมาคมเพอรานากันแห่งภูเก็ต จึงได้จับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกันจัดงาน "วิวาห์บาบ๋า" ขึ้นทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนของทุกปี นอกจากให้นักท่องเที่ยวได้ชมพิธีอันงดงามและศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเปิดโอกาสให้คู่รักที่สนใจเข้าร่วมพิธีแต่งงานด้วย ไม่ว่าเพื่อแต่งงานจริง ฉลองฮันนีมูน หรือเติมความหวานในวาระครบรอบแต่งงาน แม้ไม่ใช่คนบาบ๋าก็มาร่วมแต่งงานได้ ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาประเพณีเก่าแก่อายุ 150 ปีให้สืบทอดต่อไป

งานแต่งงานบาบ๋าในวันนี้ จึงเปรียบดังสายใยที่เชื่อมร้อยอดีตกับปัจจุบัน และเป็นสักขีพยานถึงความรักข้ามขอบฟ้าของบรรพบุรุษ

บาบ๋า-ผู้เกิดจากความรักข้ามขอบฟ้า

ย้อนกลับไปช่วงรัชกาลที่ 4 ห้วงเวลาที่อุตสาหกรรมแร่ดีบุกกำลังเฟื่องฟู ความต้องการดีบุกในโลกทวีขึ้นถึงขีดสุด การทำเหมืองแร่ได้แผ่ขยายจากปีนังซึ่งอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ข้ามทะเลอันดามันมายังภูเก็ต รวมไปถึงพังงา ระนอง ที่มีสินแร่ดีบุกอยู่มาก ขณะนั้นคหบดีชาวภูเก็ตไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำเหมือง จึงต้องไปรับชาวจีนเข้ามาทำงานทั้งเป็นนายเหมืองและกุลี ชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาเหล่านี้ทำงานอย่างขยันขันแข็งอดทน จนสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมามีฐานะ เมื่อได้อาศัยอยู่ภูเก็ตก็พบว่าดินแดนนี้มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ อยู่อย่างสบาย จึงไม่อยากกลับไปเมืองจีน และตัดสินใจตั้งรกรากด้วยการแต่งงานกับหญิงไทยพื้นถิ่น ให้กำเนิดลูกครึ่งจีน-มลายู ที่เรียกว่า "บาบ๋า-ยองยา"(ฺBaba- Nyonya)

ลูกชายจะเรียก "บาบ๋า" ลูกสาวเรียก "ยองยา" อาจด้วยวัฒนธรรมของคนใต้ที่ไม่ชอบพูดอะไรยาวๆ ยากๆ คนภูเก็ตจึงเรียกรวมกันทั้งชายหญิงว่า "บาบ๋า" อีกคำที่มักใช้เรียกคือคำว่า "เพอรานากัน" (Peranakan) ที่กินความหมายถึงลูกครึ่งทั้งหมด ไม่ว่าลูกครึ่งจีน-มลายูอย่างบาบ๋า หรือลูกครึ่งชาวฮินดู

นพ. โกศล แตงอุทัย ประธานสมาคมเพอรานากัน ช่วยอธิบายว่า วัฒนธรรม "บาบ๋า" นั้นไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกที่ภูเก็ต แต่เป็นวัฒนธรรมที่ร่วมของกลุ่มชนลูกครึ่งจีน-มลายู ในปีนัง มะละกาและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งความเจริญที่อยู่ใกล้ภูเก็ตในช่วงนั้น

เชื่อกันว่าบาบ๋าถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในมะละการาว 600 ปีก่อน เมื่อเจิ้งเหอผู้นำกองเรืออันยิ่งใหญ่ในสมัยราชวงศ์หมิง ได้นำเรือสำเภาจากจีนแผ่นดินใหญ่มาเทียบท่าที่เมืองมะละกา เขาได้นำเจ้าหญิงจีนมาอภิเษกสมรสกับสุลต่านชาวมะละกา ลูกที่เกิดมาคือบาบ๋าลูกครึ่งจีนมลายูคนแรก ลูกครึ่งเหล่านี้ไม่นับถือมุสลิมตามฝ่ายพ่อ แต่ยังนับถือบรรพบุรุษตามฝ่ายแม่

ต่อมาเมื่อ เจมส์ วัตต์ ประดิษฐ์เรือกลไฟสำเร็จ เส้นทางความเจริญก็เปลี่ยนจากมะละกามาเป็นปีนัง เนื่องจากการเดินเรือไม่ต้องพึ่งลมธรรมชาติดังก่อนแล้ว และนโยบายของอังกฤษที่ส่งเสริมให้ปีนังเป็นศูนย์กลางการค้าแข่งขันกับมะละกาและเมืองปัตตาเวียของดัชต์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าเดิม ทำให้ความเจริญย้ายมาที่ปีนัง และส่งต่อถึงภูเก็ตในเวลาต่อมา

คนบาบ๋าซึ่งได้กระจายอยู่ในแหลมมลายู ทั้งปีนัง มะลากา สิงคโปร์ ภูเก็ต พังงา ฯลฯ มีโอกาสที่จะสร้างฐานทางการเงินของตัวเอง บางก็สามารถเข้าสู่ความสัมพันธ์ทางอำนาจกับราชสำนักสยาม โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นบาบ๋าคนหนึ่ง ได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองมณฑลภูเก็ต ท่านทำให้เศรษฐกิจภูเก็ตรุ่งเรือง และหัวเมืองชายฝั่งอันดามัน บาบ๋าหลายคนมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นและนิยมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบปีนัง ทั้งการสร้างบ้านเรือนแบบชิโน-โปรตุกีส อาหารการกิน พิธีแต่งงาน รวมทั้งเครื่องแต่งกายของผู้หญิงที่เรียกว่า "ย่าหยา" อันเป็นเอกลักษณ์และสวยงามไม่แพ้ชุดของหญิงสาวชาติใดในโลก

ชุดเจ้าสาว ความงามที่น่าค้นหา

ภายใต้เครื่องแต่งกายอันงดงามอลังการของชุดเจ้าสาว ได้สะท้อนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และแฝงคติการครองชีวิตคู่เอาไว้อย่างแยบยล

ชุดเจ้าสาวเป็นชุดที่ผสมผสานระหว่างความเป็นจีนและมาเลย์ เช่นสวมชุดครุยยาว นุ่งปาเต๊ะ

ชุดแต่งงานของหญิงสาวยองยา เป็นชุดครุยยาวที่ได้รับอิทธิพลมาจากชุดมลายูที่ชื่อว่า "บาจู ปันจัง" ใช้สวมทับเสื้อตัวในและนุ่งโสร่งปาเต๊ะ ไม่ใช่ชุดจีนหรือมุสลิมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เกิดจากการผสมผสานกันจนออกมาเป็นชุดที่สวยงามอลังการ ความเป็นจีนสะท้อนออกมาจากรูปแบบของชุดครุยที่คล้ายกับฉลองพระองค์ของฮองเฮา ขณะที่ความเป็นมุสลิมก็ปรากฏในลายปักที่ละเอียด จากเดิมคนจีนนิยมชุดสีแดงก็เริ่มมีสีม่วงของมุสลิมเข้ามาปน กลายเป็นสีอ่อนลงมา เช่นสีชมพู สีขาว แต่ด้วยชุดครุยยาวอาจไม่สะดวกในการเคลื่อนไหว ต่อมาจึงมีการปรับเป็นครุยสั้น ชายเสื้อไม่ยาวมากเท่าเดิม

ชุดย่าหยาดั้งเดิมเหล่านี้แพงมาก เนื่องจากผลิตที่อินโดนีเซียแล้วนำมาขายที่มะละกา ส่งต่อมาที่ปีนัง ก่อนจะนำมาขายที่ภูเก็ตคนภูเก็ตที่เป็นญาติผู้ใหญ่มาร่วมงาน จึงนิยมใช้เสื้อลูกไม้สีอ่อนสวมแทน เรียกว่า "ลายลูกไม้ต่อดอก" นับเป็นชุดพื้นเมืองของภูเก็ตที่ไม่เหมือนใคร

มงกุฎเจ้าสาวที่เรียกว่า "มงกุฎดอกไม้ไหว" ดอกไม้ที่ประดับบนมงกุฎสามารถเคลื่อนไหวได้ ด้านขวาคือเข็มกลัดช่อดอกไม้ของเจ้าบ่าว

เครื่องประดับที่สำคัญอีกอย่างของเจ้าสาว คือ "มงกุฎดอกไม้ไหว" หรือ "ฮั่วก๋วน" ซึ่ง อ. จรินทร์ นีรนาทวโรดม ผู้สืบค้นเรื่องเครื่องแต่งกายย่าหยา ได้อธิบายว่าที่มงกุฎจะมีหงส์ฟ้าประดับอยู่ด้านบน คนจีนเชื่อว่าหงส์เป็นใหญ่ที่สุดในหมู่มวลสัตว์ปีก หงส์จะปรากฏตัวในแผ่นดินที่สงบร่มเย็นเท่านั้น หงส์มีเสียงร้องกังวานเหมือนเสียงขลุ่ย จึงเป็นการสอนเจ้าสาวว่า เมื่อแต่งงานไปอยู่บ้านสามี จะต้องมีปิยวาจาที่อ่อนหวานเหมือนเสียงกังวานของหงส์ ปกครองครอบครัวด้วยความสงบร่มเย็น และหากสามีเป็นอะไรไปภรรยาก็ต้องขึ้นมาเป็นใหญ่แทนสามีได้ อีกส่วนคือผีเสื้อที่ติดอยู่คู่กับดอกไม้บนมงกุฎ เป็นตัวแทนของชีวิตแต่งงานที่ต้องมีรักยั่งยืนดังดอกไม้และผีเสื้อที่เป็นของคู่กัน

การแต่งงานสมัยก่อนเจ้าบ่าวจะพบเจ้าสาวครั้งแรกก็ในวันแต่งงาน ดอกไม้บนมงกุฏที่ไหวติงยังเป็นเครื่องบอกให้ญาติรับรู้ถึงความตื่นเต้นของเจ้าสาวอีกด้วย ถ้าหัวใจเต้นระรัว มงกุฏก็จะไหวมาก

เครื่องประดับชุดเจ้าสาว ได้แก่ หลันเตป๋าย (สร้อยคอ) แหวนบาเยะ ต่างหู กอสัง (ชุดเข็มกลัดฝังเพชร) มินตั๋ง (เข็มกลัดรูปดาว) และไหมเกลียวทอง (กำไลข้อมือข้อเท้า)

ส่วนชุดของผู้ชายเป็นชุดสูทสากลสีอ่อน กลัดเข็มกลัดประดับอย่างเรียบง่าย- มีคำถามว่าเหตุใดชุดของผู้ชายจึงไม่แต่งให้หรูหราแบบฮ่องเต้ นพ. โกศลอธิบายว่าโดยมากผู้ชายบาบ๋า ถ้าไม่เป็นกุลีก็เป็นนักธุรกิจ ดังนั้นชุดที่ถือว่ามีฐานะ แต่งไปคุยกับฝรั่งคือชุดสูทสากล เหตุที่อิทธิพลทางการแต่งกายไปอยู่กับผู้หญิงมากกว่านี้ อาจด้วยผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยมาก่อน ต้องมาสร้างหลักสร้างฐานก่อนถึงจะไปสู่ขอลูกสาวกับเถ้าแก่ได้ รวมทั้งในประวัติศาสตร์แหลมมลายูอิทธิพลของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย ผู้หญิงเป็นคนถือกุญแจบ้าน คนที่เจรจาการค้าเก่งๆ ก็เป็นผู้หญิง

 

งานแต่งงาน พิธีการแห่งความรักและความอบอุ่น

การที่คู่รักบาบ๋าในสมัยก่อนจะได้แต่งงานกัน เจ้าบ่าวจะไม่ได้พบหน้าเจ้าสาวเลยจนกระทั่งถึงวันแต่งงาน แม้แต่เสียงก็ยังไม่ได้ยิน บุคคลสำคัญที่จะนำพาชะตาชีวิตของทั้งคู่มาบรรจบกัน และทำให้เกิดงานแต่งงานขึ้น คือ "อึ่มหลาง" หรือ "แม่สื่อ" คนที่เป็นอึ่มหลางจะต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ได้รับความนับถืออย่างยิ่งจากญาติทั้งสองฝ่าย และมีวาทศิลป์ในการโน้มน้าวใจญาติผู้ใหญ่ งานของอึ่มหลางจะเริ่มต้นเมื่อพ่อแม่เห็นว่าลูกชายหรือลูกสาวตนถึงวัยครองเรือน แล้วมาขอให้อึ่มหลางช่วยหาคู่ให้ อึ่มหลางจะคู่ที่เหมาะสมและไปเจรจาดำเนินการ เพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทนตามตกลง

บรรดาอึ่มหลางจะถือ "เสี่ยหนา" หรือปิ่นโตไม้ไผ่สานวาดลวดลายจีน เสี่ยหนาใช้บรรจุอาหาร น้ำชา ขนม ธูปเทียน ซึ่งอึ่มหลางจะนำไปมอบให้ฝ่ายเจ้าสาว

พิธีหมั้นหมายมีก่อนหน้างานแต่งงานนานนับเดือน อึ่มหลางจะเดินทางไปบ้านเจ้าสาวเพื่อทำพิธีแลกแหวน แหวนที่นำมาแลกนั้นคือแหวนมงคลซึ่งขอยืมจากคหบดีที่ครองเรือนกันมายาวนาน แหวนแต่ละวงจะมีด้ายสีแดงจำนวนมาก ด้าย 1 เส้น หมายถึงเคยใช้ในพิธีแต่งงานมาแล้ว 1 ครั้ง แหวนนี้จึงเป็นพยานความรักเท่ากับจำนวนด้าย ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะแลกแหวนกันโดยเอาแหวนวางบนมือของญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ในวันนั้นเจ้าสาวอาจจะได้แอบดูญาติฝ่ายเจ้าบ่าว ส่วนสินสอดทองหมั้นและขนมมงคลก็นำมาในวันนั้น อึ่มหลางและพ่อแม่จะพูดคุยถึงฤกษ์ยามวันแต่งงาน ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นพ่อแม่มีอิทธิพลสูงมากในชีวิตของลูก

เจ้าบ่าวกับอึ่มหลางมาถึงบ้านหงษ์หยก ซึ่งเป็นบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะเข้าไปรับตัวเจ้าสาวที่ห้องหอ

งานแต่งงานนับเป็นหน้าเป็นตาของพ่อแม่ ที่สามารถเลี้ยงดูลูกของตนจนเข้าสู่พิธีวิวาห์ งานในสมัยก่อนมีถึง 7 วัน 7 คืน เพราะไม่สามารถสั่งขนมสั่งอาหารได้ปุปปับ ต้องมีคนมาลงแขกช่วยกันทำ ก่อนจะแต่งงานเจ้าสาวก็จะต้องจัดเตรียมห้องของตนเองซึ่งเป็นห้องหอ และปิดเป็นความลับจนกว่าจะถึงวันแต่งงาน เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงจะไปเคาะประตูห้องเจ้าสาว ดูห้องหอว่าเจ้าสาวมีจารีตอย่างไร บรรดาแขกเหรื่อก็จะมาชมห้องเจ้าสาวว่าเป็นอย่างไร ซึ่งต่างจากธรรมเนียมจีนที่เจ้าสาวต้องไปห้องเจ้าบ่าว

พอถึงวันแต่งงาน เจ้าบ่าวจะแห่ขบวนขันหมากมาที่บ้านเจ้าสาว โดยมีอึ่มหลางมากับฝ่ายเจ้าบ่าว เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวและอึ่มหลางจะพบกับเด็กชายเด็กหญิงและเพื่อนเจ้าสาวที่มากั้นประตูเงินประตูทอง เจ้าบ่าวจะเข้าไปหาเจ้าสาวที่รออยู่ในห้องหอ ทั้งคู่จะได้เห็นหน้ากันครั้งแรกก็ในช่วงเวลานี้เอง จากนั้นเจ้าบ่าวจะจูงมือเจ้าสาวออกมาไหว้เทวดาฟ้าดิน ไหว้พระที่หน้าบ้าน ก่อนจะกลับเข้าไปทำพิธียกน้ำชาหรือ "ผ่างเต๋"

พิธีไหว้ฟ้าดินเป็นธรรมเนียมแบบจีน แสดงถึงการเคารพธรรมชาติ และความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

พิธีผ่างเต๋นับว่าเป็นพิธีสำคัญ ปกติแล้วบาบ๋าจะกินกาแฟ ไม่กินน้ำชา แต่ที่ทำพิธียกย้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ดื่มนั้น เพราะน้ำชาถือว่าเป็นของสูงมาจากภูเขา จึงเป็นสิ่งที่ใช้คารวะผู้หลักผู้ใหญ่ ในพิธีนี้ยังเป็นการเชื่อมร้อยบรรดาเครือญาติให้รู้จักกัน เพราะจะมีการอ่านชื่อญาติผู้ใหญ่ทีละคู่ให้มาทำพิธียกน้ำชา เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะปัดเก้าอี้ให้ญาติผู้ใหญ่ก่อนด้วย

พิธียกน้ำชาแสดงการคารวะญาติผู้ใหญ่

เจ้าบ่าวเจ้าสาวสวมแหวนหมั้นให้แก่กันและกัน

ตามธรรมเนียมโบราณ เจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวนั่ง "หล่างเชี้ย" หรือรถลากกลับไปที่บ้านเจ้าบ่าว

หลังจากนั้นทั้งคู่จะสวมแหวนให้แก่กัน แล้วเจ้าบ่าวจะชวนเจ้าสาวขึ้นรถยนต์ไปศาลเจ้า (คนภูเก็ตเรียกว่า อ๊าม) ก่อนจะพาเจ้าสาวขึ้นรถลากไปยังบ้านเจ้าบ่าวโดยมีผู้คนโปรยดอกไม้ตลอดทาง ระหว่างเดินจะมีเสียงดนตรีจากวง "ตีต่อตีเช้ง" สร้างความครึกครื้น ตอนเย็นจะมีการเลี้ยงส่งตัวที่บ้านเจ้าบ่าว ก่อนจะนำตัวทั้งคู่ไปส่งที่ห้องหอ บางบ้านยังมีพิธี "เวียนสาดเวียนหมอน" คล้ายพิธีฝั่งไทย คือให้ญาติผู้ใหญ่มาโปรยดอกไม้บนเตียงของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ที่ปีนังจะให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวรับเหล้าจากพ่อแม่ ถือว่าได้โตเป็นผู้ใหญ่ ดูแลตัวเองได้แล้ว บางที่จะให้ลูกสาวใส่ชุดสีขาวนั่งอยู่ในกระด้ง แล้วพ่อแม้จะหวีผมให้ ระหว่างนั้นก็จะกล่าวสอนลูกสาวถึงการครองชีวิตคู่ นับเป็นช่วงเวลาแห่งความอบอุ่น เต็มไปด้วยความรักระหว่างพ่อแม่กับลูกสาวที่กำลังจะออกจากอ้อมอกไป

 

***คู่รักที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีวิวาห์บาบ๋าในปีต่อไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณอรศิริ รักแต่งาม โทร. 081-691-1955 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.phuketbaba.com ราคาคู่ละ 39,900 บาท รวมที่พัก 3 คืน และกิจกรรมต่างๆ มากมาย***


(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

Credit: http://travel.sanook.com/1390748/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%8B%E0%B8%B2-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B
27 ก.ค. 56 เวลา 11:13 3,312 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...